BANNER

การประชุมคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๗


 ข่าวต่างประเทศ      04 Sep 2018

  


         


          เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๑๕๖๑ มีการจัดประชุมคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ ๗ (The Seventh Meeting of the Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region: 7th MSC Mekong) ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม  โดยมีคณะรัฐมนตรีและคณะผู้แทนซึ่งรับผิดชอบในด้านที่ดินและไฟป่าจากกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม รวมถึงรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมและองค์กรเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้จัดขึ้นก่อนการจัดประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคเกี่ยวกับมลพิษหมอกควันข้ามประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๑๓ (Meeting of the Technical Working Group on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region :13th TWG Mekong)
           
ภายใต้การประชุมมีการกล่าวถึงศูนย์ด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (the ASEAN Specialized Meteorological Centre’s: ASMC’s) โดยเป็นการทบทวนการทำงานของศูนย์และคาดการณ์ถึงสภาพอากาศและภาวะหมอกควันข้ามพรมแดนภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยมีการรายงานว่าสภาพอากาศในอนุภูมิภาคจะมีฝนตกจนถึงเดือนพฤศจิกายนก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ฤดูแล้งพร้อมกับมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่านภายในอนุภูมิภาค สำหรับปริมาณน้ำฝนคาดว่าจะใกล้เคียงกับระดับปกติหรืออยู่ในระดับคงที่ ในขณะที่ระดับอุณหภูมิมีการคาดการณ์ว่าจะสูงกว่าระดับปกติเพียงเล็กน้อยในช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ และสภาพความผันผวนของอากาศมีโอกาสลดลงถึงร้อยละ ๖๐ - ๗๐  อย่างไรก็ดี สถานการณ์เอลนีโญ่ (El Niño) อาจมีความรุนแรงขึ้นและในช่วงฤดูฝนอาจมีการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับความร้อนซึ่งประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตกลงที่จะระมัดระวังการใช้ความร้อนและใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าและเพื่อลดการเกิดหมอกควันในช่วงที่สภาพอากาศมีความแห้งแล้ง
          นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กล่าวถึงความพยายามของศูนย์ด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASMC) ในการปรับปรุงสภาพอากาศและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนตลอดจนความสามารถในการตรวจสอบเทคโนโลยีดาวเทียม และศูนย์ด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียนได้ขยายกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในภูมิภาค ซึ่งจะเริ่มดำเนินการภายในปี พ.ศ ๒๕๖๑ ด้วยการริเริ่มกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับศูนย์ด้านอุตุนิยมวิทยาต่าง ๆ ภายในอาเซียน โดยจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับบริการที่เกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาและอุทกอุตุนิยมวิทยา (hydrometeorology) ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างแบบจำลองการพยากรณ์สภาพอากาศ การพยากรณ์สภาพอากาศกึ่งฤดูกาลถึงฤดูกาล (Sub seasonal-to-Seasonal : S2S) และการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและหมอกควัน
          ในการนี้รัฐมนตรีอาเซียนได้มีการหารือและแบ่งปันความริเริ่มต่าง ๆ ที่ดำเนินการ โดยคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อลดการเกิดไฟป่าและควบคุมมลพิษของหมอกควันในช่วงฤดูแล้ง โดยรัฐมนตรีเห็นชอบกับโครงการของคณะกรรมการ รวมถึงเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกทบทวนและปรับปรุงแผนปฏิบัติการแห่งชาติของตนในเรื่องการป้องกันและปราบปราม การเฝ้าระวัง และการเตือนภัยล่วงหน้า อีกทั้งยังกล่าวชื่นชมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงและสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปในอนาคต  นอกจากนี้มีการกล่าวถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๓๑ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๓๒ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในส่วนของการควบคุมมลพิษจากหมอกควันในภูมิภาค รวมถึงเน้นย้ำความสำคัญของโครงการและการปฏิบัติงาน ตลอดจนบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการติดตามตรวจสอบบรรเทาและจัดการกับหมอกควันมลพิษ
          คณะรัฐมนตรีอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนงานความร่วมมืออาเซียนว่าด้วยการควบคุมมลพิษจากหมอกควันในปีที่สอง โดยยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพตามแผนปฏิบัติการเชียงราย พ.ศ. ๒๕๖๐ (the Chiang Rai 2017 Plan of Action) เพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือระหว่างกัน โดยให้การดำเนินงานเป็นไปตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ ๑) เทคโนโลยีสารสนเทศ ๒) การตระหนักและการมีส่วนร่วมของประชาชน
๓) การลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และ ๔) เครือข่ายการตรวจสอบสภาพอากาศ  นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมความคืบหน้าในการหาข้อสรุปของการตกลงรับรองระบบควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามประเทศ (ACC THPC) ในประเทศอินโดนีเซีย และคาดหวังที่จะให้มีจัดทำความตกลงก่อตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนสำหรับการควบคุมหมอกควันข้ามพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบ (the Establishment Agreement and Host Country Agreement of the ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control: ACC THPC)  ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีอาเซียนมีความคาดหวังที่จะให้มีการทบทวนการดำเนินงานระยะกลาง (mid- term review) ของโครงการเพื่อเป็นการปรับปรุงโครงการต่าง ๆ ให้บรรลุวิสัยทัศน์ของการอาเซียนภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓
          ในส่วนของการมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกได้เน้นย้ำถึงการกระชับความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนด้านการพัฒนา และประเทศภาคีอื่น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงานต่าง ๆ เช่น การเจรจาเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกในรอบที่ ๖ (Global Environment Facility: GEF) ว่าด้วยการจัดการระบบนิเวศพื้นที่ป่าพรุอย่างยั่งยืนของกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) และมาตรการสำหรับจัดการพื้นที่ปราศจากหมอกควันอย่างยั่งยืนในอาเซียน (Measurable Action for Haze-Free Sustainable Land Management in Southeast Asia: MAHFSA) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร (International Fund for Agricultural Development: IFAD)  นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของการลดพื้นที่ที่มีความร้อน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากการประชุมคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยเฉพาะการลดให้มีจำนวนน้อยกว่า ๗๕,๐๐๐ จุด ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ และ ๕๐,๐๐๐ จุด ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓  รวมถึงได้แสดงความยินดีกับความสำเร็จของการลดจำนวนลงในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่มีจำนวนเหลือเพียง ๓๐,๐๐๐ จุด
          ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานของยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ป่าพรุของอาเซียน (ASEAN Peatland Management Strategy: APMS 2006 – 2020) ผ่านโครงการการจัดการระบบนิเวศพื้นที่ป่าพรุอย่างยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Programme on Sustainable Management of Peatland Ecosystems: APSMPE 2014 - 2020) และสนับสนุนการทำงานตามยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ป่าพรุของอาเซียนในครั้งที่สอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าความริเริ่มต่าง ๆ นั้นยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายโดยรวมและวัตถุประสงค์ทั่วไปของยุทธศาสตร์ ตลอดจนสามารถตอบสนองต่อประเด็นปัญหาใหม่ ๆ
          
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ สาธารณสุขและสังคมของปัญหาหมอกควันในภูมิภาคอาเซียนปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งได้รับการรับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการป้องกันหมอกควันในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยคณะรัฐมนตรีอาเซียนได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะศึกษาถึงพื้นที่อื่นเพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น และเพื่อเป็นการปรับปรุงและสร้างความรู้ความเข้าใจในปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนได้อย่างลึกซึ้ง
          
ในตอนท้ายของการประชุม ที่ประชุมได้กล่าวแสดงความขอบคุณรัฐบาลเวียดนามในการเป็นเจ้าภาพการประชุม และกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมระดับอนุภูมิภาคว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ ๘ ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จะจัดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา 

แปลและเรียบเรียงจาก: https://asean.org/7th-meeting-sub-regional-ministerial-steering-committee-transboundary-haze-pollution-mekong-sub-region/



 

© 2017 Office of the Council of State.