สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) ซึ่งได้มีการลงนามโดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง ๕ ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงปลอดภัยทางการเมือง สร้างสรรค์ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมและวัฒนธรรมการกินดีอยู่ดี บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ณ กรุงเทพมหานคร ปฏิญญานี้จึงมีชื่อเรียกว่าปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) และภายหลังจากการลงนามในปฏิญญาอาเซียน ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติมอีก ๕ ประเทศ ได้แก่ บรูไน (๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๗ (ค.ศ. ๑๙๘๔)) เวียดนาม (๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ (ค.ศ. ๑๙๙๕)) ลาวและพม่า (๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ (ค.ศ. ๑๙๙๗)) และกัมพูชา (๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ (ค.ศ. ๑๙๙๙)) ทำให้ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิกรวมทั้งหมด ๑๐ ประเทศ ในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีของการก่อตั้งอาเซียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ (ค.ศ. ๑๙๙๗) ผู้นำอาเซียนได้รับรองเอกสารวิสัยทัศน์อาเซียน ๒๐๒๐ (ASEAN Vision 2020) เพื่อกำหนดเป้าหมายว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) อาเซียนจะเป็น
๑) วงสมานฉันท์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
A Concert of Southeast Asian Nations
๒) หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัต
A Partnership in Dynamic Development
๓) มุ่งมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอก
An Outward-Looking ASEAN
๔) ชุมชนแห่งสังคมที่เอื้ออาทร
A Community of Caring Societies
ต่อมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๙ ที่อินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๗-๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ฉบับที่ ๒ (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) โดยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และมุ่งเน้นการกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยกำหนดจัดตั้งแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) ทั้งนี้ ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย ๓ เสาหลัก คือ
๑) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ASEAN Political-Security Community หรือ APSC)
๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
(ASEAN Economic Community หรือ AEC)
๓) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
(ASEAN Socio-Cultural Community หรือ ASCC)
และในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๒ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันที่จะเร่งกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ. ๒๐๑๕) รวมทั้งได้ออกปฏิญญาเซบูว่าด้วยพิมพ์เขียวกฎบัตรอาเซียน (Cebu Declaration on the Blueprint of the ASEAN Charter) เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการมีกฎบัตรอาเซียนเพื่อเป็นธรรมนูญในการดำเนินงานของอาเซียน โดยกฎบัตรอาเซียนทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นสนธิสัญญาที่ก่อให้เกิดพันธกรณีระหว่างประเทศสมาชิก วางโครงสร้างอาเซียนให้มีความสมบูรณ์
และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้นำอาเซียนได้รับรองกฎบัตรอาเซียนระหว่าง การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๓ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ณ ประเทศสิงคโปร์
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๑ เมื่อระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ได้มีการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาหลักให้ทัน
ตามเป้าหมายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยได้กำหนดประเด็นความสำคัญ คือ การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค การปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกันและการอนุวัติ ความตกลงทางเศรษฐกิจเพื่อการรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การลดช่องว่างด้านการพัฒนา การบริหารจัดการภัยพิบัติ การสร้างความรู้สึกร่วมกันของความเป็นอาเซียน รวมทั้งการให้คู่เจรจามาสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตกลงกันที่จะกำหนดวันบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมอาเซียนในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๓ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนประสานกับคณะมนตรีของสามเสาหลักประชาคมอาเซียน เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์ของอาเซียน ภายหลังปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียน(พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๘)
ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่น ๆ
อาเซียนได้ตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) โดยมีการดำเนินการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในแนวคู่ขนานกัน คือ การรวมกลุ่มภายในอาเซียน และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTAs)
ปัจจุบันอาเซียนได้จัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาได้แก่ อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์และอาเซียน-อินเดีย และมีแนวโน้มที่จะจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่และครอบคลุมระดับการเปิดเสรีมากขึ้น โดยเริ่มจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก
หรือ อาเซียน+๓ และอาเซียน+๖
กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ณ ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญของอาเซียนที่วางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กร โดยกลไกต่าง ๆ ภายใต้กฎบัตรอาเซียนเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ทำให้การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้
วัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน คือ ทำให้อาเซียนเป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกติกาในการทำงาน นอกจากนี้ กฎบัตรอาเซียนยังทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล ในฐานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล (Inter-governmental Organization)
โครงสร้างของกฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วยบทบัญญัติ ๑๓ หมวด ๕๕ ข้อบท ได้แก่
หมวดที่ ๑ ความมุ่งประสงค์และหลักการ
หมวดที่ ๒ สภาพบุคคลตามกฎหมาย
หมวดที่ ๓ สมาชิกภาพ
หมวดที่ ๔ องค์กร
หมวดที่ ๕ องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
หมวดที่ ๖ ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์
หมวดที่ ๗ การตัดสินใจ
หมวดที่ ๘ การระงับข้อพิพาท
หมวดที่ ๙ งบประมาณและการเงิน
หมวดที่ ๑๐ การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน
หมวดที่ ๑๑ อัตลักษณ์และสัญลักษณ์
หมวดที่ ๑๒ ความสัมพันธ์ภายนอก
หมวดที่ ๑๓ บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย
กฎบัตรอาเซียนได้กำหนดโครงสร้างองค์กรของอาเซียนไว้ในหมวดที่ ๔ ดังนี้
๑. ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit)
ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ประกอบด้วยประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิก มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสูงสุดและแนวทางความร่วมมือของอาเซียน และตัดสินใจในเรื่องที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยประเทศสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ๒ ครั้งต่อปี หรือเรียกประชุมพิเศษหรือเฉพาะกิจเมื่อมีความจำเป็น
๒. คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council)
คณะมนตรีประสานงานอาเซียน ประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน มีหน้าที่ในการเตรียมการประชุมของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ประสานการอนุวัติความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ประสานงานกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่าง ๆ ดูแลการดำเนินงานและกิจการต่าง ๆ ของอาเซียนในภาพรวม โดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียนจะมีการประชุมกันอย่างน้อย ๒ ครั้งต่อปี
๓. คณะมนตรีประชาคมอาเซียน (ASEAN Community Councils)
คณะมนตรีประชาคมอาเซียน ประกอบด้วยคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน มีหน้าที่ในการประสานงานและติดตามการทำงานตามนโยบายของแต่ละเสาหลัก ประสานการปฏิบัติงานของสาขาต่าง ๆ ที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน และในประเด็นซึ่งคาบเกี่ยวกับคณะมนตรีประชาคมอื่น ๆ และเสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน โดยคณะมนตรีประชาคมอาเซียนจะมีการประชุมอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง
๔. องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา (ASEAN Sectoral Ministerial Bodies)
องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา ประกอบด้วยรัฐมนตรีเฉพาะสาขา มีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของแต่ละองค์กร เสริมสร้างความร่วมมือในสาขาของแต่ละองค์กรให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของประชาคมอาเซียน และเสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีประชาคมอาเซียนของแต่ละเสาหลัก
๕. เลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน (Secretary-General of ASEAN and ASEAN Secretariat)
สำนักเลขาธิการเป็นหน่วยงานกลางถาวรของอาเซียน โดยมีเลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าสำนักงานฯ และมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการด้านต่าง ๆของอาเซียนเลขาธิการอาเซียนได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี โดยไม่สามารถต่ออายุได้ และได้รับการเลือกจากคนชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนบนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร เลขาธิการอาเซียนมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและสอดส่องดูแลความคืบหน้าในการอนุวัติการความตกลงและข้อตัดสินใจของอาเซียนและเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานของอาเซียนต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
๖. คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives to ASEAN)
คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน เป็นผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตแต่งตั้งจากประเทศสมาชิกให้ประจำที่สำนักงานใหญ่อาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา ประสานงานกับองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาอื่น ๆ สำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ
๗. สำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (ASEAN National Secretariat)
สำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติเป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงาน การสนับสนุนภารกิจและความร่วมมือต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเซียนในประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่มีหน้าที่เป็นสำนักงานอาเซียนแห่งชาติ คือ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ
๘. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Body)
องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยความประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะทำงานและอำนาจหน้าที่ จะกำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
๙. มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation)
มูลนิธิอาเซียนทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการร่วมกับองค์กรของอาเซียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการส่งเสริมความสำนึกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน การดำเนินงานร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ในอาเซียน
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียนเริ่มมีเป้าหมายชัดเจนที่จะนำไปสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียน นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๔ ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี ๒๕๓๕ โดยได้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ขึ้น และนับแต่นั้นมากิจกรรมของอาเซียนได้ขยายครอบคลุมไปสู่ทุกสาขาหลักทางเศรษฐกิจ รวมทั้งในด้านการค้าสินค้าและบริการการลงทุน มาตรฐานอุตสาหกรรมและการเกษตร ทรัพย์สินทางปัญญา การขนส่ง พลังงาน และการเงินการคลัง เป็นต้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่สำคัญ มีดังนี้
๑. เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA)
ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA เป็นข้อตกลงทางการค้าสำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ในฐานะที่เป็นการผลิตที่สำคัญในการป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้า การลดภาษี และยกเลิกอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น การจำกัดโควต้านำเข้า รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี โดยข้อตกลงนี้จะครอบคลุมสินค้าทุกชนิด ยกเว้นสินค้าที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ศีลธรรม ชีวิต และศิลปะ
อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกต้องให้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากรแก่กันแบบต่างตอบแทน หมายความว่าการที่ได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศอื่นสำหรับสินค้าชนิดใด ประเทศสมาชิกนั้นต้องประกาศลดภาษีสำหรับสินค้าชนิดเดียวกัน
๒. เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area หรือ AIA)
ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๕ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๓๘ ที่กรุงเทพฯ ได้เห็นชอบให้จัดตั้งเขตการลงุทุนอาเซียนเพื่อเสริมสร้างอาเซียนให้เป็นเขตการลงทุนเสรีที่มีศักยภาพ โปร่งใส เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาค ความตกลงนี้ครอบคลุมการลงทุนในอุตสาหกรรม ๕ สาขา คือ สาขาอุตสาหกรรมการผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้ และเหมืองแร่ และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ ๕ สาขาการผลิตดังกล่าวยกเว้นการลงทุนด้านหลักทรัพย์และการลงทุนในด้านซึ่งครอบคลุมโดยความตกลงอาเซียนอื่น ๆเขตการลงทุนอาเซียน กำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเปิดอุตสาหกรรมและให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติแก่นักลงทุนอาเซียนและนักลงทุนนอกอาเซียน โดยกำหนดเป้าหมายจะเปิดเสรีด้านการลงทุนแก่นักลงทุนอาเซียนภายในปี ๒๕๕๓ และนักลงทุนนอกอาเซียนภายในปี ๒๕๖๓
การดำเนินการเพื่อจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียนประกอบด้วยโครงการความร่วมมือ ๓ โครงการ คือ
- โครงการความร่วมมือและการอำนวยความสะดวก (Co-operation and Facilitation Programme)
- โครงการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจ (Promotion and Awareness Programme)
- การเปิดเสรี (Liberalisation Programme)
๓. ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration หรือ IAI)
อาเซียนได้ดำเนินการเพื่อเร่งรัดการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจัดทำ “ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน” (Initiative for ASEAN Integration) เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกเก่า (ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย) กับสมาชิกใหม่ของอาเซียน (พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) โดยให้ประเทศสมาชิกเก่าร่วมกันจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศใหม่ ครอบคลุม ๔ ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การรวมตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะช่วยการพัฒนากรอบกฎระเบียบและนโยบาย รวมทั้งช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ CLMV ในการลดปัญหาความยากจน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชากร พัฒนาระบบข้าราชการ และเตรียมความพร้อมต่อการแข่งขันบนเวทีโลก
๔. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม (ASEAN Industrial Cooperation Scheme หรือ AICO)
โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน หรือ AICO มุ่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานการผลิต โดยยึดหลักของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การแบ่งส่วนการผลิตตามความสามารถและความถนัด ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทั้งประเทศสมาชิกและประเทศนอกกลุ่มโดยใช้มาตรการทางภาษี และสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่มิใช่ภาษีเป็นสิ่งจูงใจ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
๔.๑ จะต้องมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมอย่างน้อย ๒ ประเทศ
๔.๒ มีบริษัทเข้าร่วมอย่างน้อย ๑ บริษัทในแต่ละประเทศ
๔.๓ สินค้าที่ผลิตได้ขั้นสุดท้าย (AICO Final Product) จะได้รับการยอมรับเสมือนสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศและจะไม่ถูกจำกัดด้วยระบบโควต้าหรือมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี
๔.๔ บริษัทที่จะขอรับสิทธิประโยชน์จาก AICO จะต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของคนชาติอาเซียนอย่างน้อยร้อยละ ๓๐
๔.๕ ได้รับการลดภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ ๐ – ๕
๕. กรอบความตกลงด้านการค้าบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services หรือ AFAS)
ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๕ เดือนธันวาคม ๒๕๓๘ ที่กรุงเทพฯ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน หรือ AFAS ซึ่งกำหนดให้เจรจาเปิดเสรีการค้าบริการ โดยจัดทำข้อผูกพันในด้านการเปิดตลาด (market access) การให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และด้านอื่นๆ (additional commitments) การเจรจาเสรีการค้าบริการในช่วงปี ๒๕๓๙-๒๕๔๔ มุ่งเน้นการเปิดเสรีใน ๗ สาขาบริการ คือ สาขาการเงิน การขนส่งทางทะเล การขนส่งทางอากาศ การสื่อสารโทรคมนาคม การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และสาขาบริการธุรกิจ ต่อมาในช่วงปี ๒๕๔๕-๒๕๔๙ ได้มีการขยายขอบเขตการเจรจาเปิดเสรีรวมทุกสาขา นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนยังต้องเร่งรัดเปิดตลาดในสาขาบริการที่เป็นสาขาสำคัญ ๕ สาขา ได้แก่ สาขาโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ สาขาการท่องเที่ยว สาขาการบิน และสาขาบริการโลจิสติกส์ ทั้งนี้เพื่อให้อาเซียนมีความพร้อมในการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ต่อไป
๖. ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ (e-ASEAN Framework Agreement)
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำของอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ร่วมกันลงนามในกรอบความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (e-ASEAN Framework Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กำหนดแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (Information Technology and Communication-ICT) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร ในภูมิภาคให้สอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีมาตรการที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ๕ ด้าน คือ
๖.๑ การพัฒนาเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของอาเซียน(ASEAN Information Infrastructure) ให้สามารถติดต่อถึงกันได้อย่างทั่วถึงกันและด้วยความเร็วสูงและพัฒนาความร่วมมือไปสู่การจัดตั้งห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Libraries) และแหล่งรวมข้อมูลท่องเที่ยวอิเล็กทรอนิกส์ (Tourism Portals) รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Internet Exchanges) และการให้บริการเชื่อมสัญญาณเครือข่ายข้อมูลอินเตอร์เน็ต (Internet Gateways)
๖.๒ การอำนวยความสะดวกด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยการออกกฏหมายและระเบียบด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและพัฒนาวัฒนธรรมในการทำธุรกิจโดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การยอมรับลายมือชื่อเล็กทรอนิกส์ซึ่งกันและกัน การชำระเงินโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
๖.๓ ส่งเสริม และเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะยกเลิกภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้า ICT เช่น เครื่องประมวลผลอัตโนมัติ เครื่องโทรสาร เครื่องบันทึกเสียงสำหรับโทรศัพท์ ไดโอดและทรานซิสเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ ภายในปี ๒๕๔๘ สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม
๖ ประเทศ และภายในปี ๒๕๕๓ สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม
๖.๔ สร้างสังคมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Society) เสริมสร้างความสามารถและพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถด้าน IT ของบุคลากร
ในอาเซียน ลดความเหลื่อมล้ำด้าน IT ภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานด้าน IT อย่างเสรี และส่งเสริมการใช้ IT
๖.๕ สร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ส่งเสริมให้มีการใช้ ICT ในการบริการของภาครัฐให้มากขึ้น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูลข่าวสารการให้บริการของภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การเสียภาษี การจดทะเบียนการค้า พิธีการศุลกากร
เป็นต้น
๗. ความร่วมมือด้านการเงินการคลัง (Financial Cooperation)
๗.๑ อาเซียนได้จัดตั้งระบบระวังภัยอาเซียน (ASEAN Surveillance Process) ขึ้น
เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๑ เพื่อสอดส่องดูแลสภาวะเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายเงินทุนในภูมิภาค โดยให้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกในภูมิภาค และในโลกโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเงินทุนโดยการจัดการฝึกอบรมด้านเทคนิคแก่เจ้าหน้าที่ประเทศสมาชิก และในการจัดตั้ง ASEAN Surveillance Technical Support Unit ในสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อสนับสนุนระบบดังกล่าว
๗.๒ การเสริมสร้างกลไกสนับสนุนและเกื้อกูลระหว่างกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Enhancing self-help and support mechanism in East Asia) โดยได้กำหนดแนวทางความร่วมมือกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่สำคัญ ได้แก่ จัดทำความตกลงทวิภาคีด้านการแลกเปลี่ยนการซื้อ-ขายคืนเงินตราหรือหลักทรัพย์ต่างประเทศ หารือเกี่ยวกับการจัดตั้งระบบเตือนภัยในภูมิภาค และการแลกเปลี่ยนการหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค
๗.๓ ความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๓ เป็นการปรับปรุงความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราอาเซียน (ASEAN Swap Arrangement – ASA) ในด้านโครงสร้าง รูปแบบและวงเงิน และให้เสริมด้วยเครือข่ายความตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี (Bilateral Swap Arrangment-BSA) โดยได้ขยายให้ ASA รวมประเทศอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศแล้ว
๘. ความร่วมมือด้านการเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน และอาเซียน +๓ ครอบคลุมความร่วมมือในด้านประมง ป่าไม้ ปศุสัตว์ พืช และอาหาร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารและความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในด้านอาหารการเกษตรและผลผลิตป่าไม้ โครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศอาเซียน+๓ (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ภายใต้สาขาต่างๆ ดังนี้
๘.๑ การขจัดความยากจนและสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคเอเชีย
๘.๒ การวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร การเกษตร ประมง และป่าไม้
๘.๓ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอาหาร การเกษตร ประมง และป่าไม้
๘.๔ การประสานงานและร่วมมือในระดับโลกและระดับภูมิภาคในประเด็นด้านอาหาร การเกษตร ประมง และป่าไม้
๘.๕ การสร้างเครือข่ายข้อมูลด้านการเกษตร
๘.๖ การอำนวยความสะดวกด้านการค้า
๙. ความร่วมมือด้านการขนส่ง
๙.๑ โครงการพัฒนาทางหลวงอาเซียน (ASEAN Highway Network Project) ลักษณะของโครงข่ายทางหลวงอาเซียน คือ มีทางหลวงครอบคลุม ๒๓ สาย ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน และจัดทำมาตรฐานทางหลวงอาเซียน (ป้ายจราจร สัญญาณ และระบบหมายเลข)ให้เป็นแบบเดียวกัน โดยกำหนดมาตรฐานทางหลวงอาเซียน เป็น ๔ ระดับ ได้แก่
- ชั้นพิเศษ-ทางด่วน ที่ควบคุมทางเข้า-ออก สมบูรณ์แบบ
- ชั้นที่ ๑ ทางหลวง ๔ ช่องจราจร
- ชั้นที่ ๒ ทางหลวงลาดยาง ๒ ช่องจราจร ผิวทางกว้าง ๗ เมตร
- ชั้นที่ ๓ ทางหลวงลาดยาง ๒ ช่องจราจร ผิวทางกว้าง ๖ เมตร
๙.๒ กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวก ในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอนุญาตให้รถยนต์ขนส่งที่จดทะเบียนในประเทศสมาชิกหนึ่งสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดนไปยังอีกประเทศหนึ่งได้
๙.๓ ความตกลงหลายฝ่ายและพิธีสารว่าด้วยการเปิดเสรีบริการขนส่งเฉพาะสินค้าของอาเซียน (Multilateral Agreement on the Full Liberalization of All Cargo Air Services) มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการขนส่งสินค้าในอาเซียนด้วยกัน โดยเปิดเสรีเที่ยวบินขนส่งเฉพาะสินค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของจำนวนความจุความถี่ของบริการเส้นทางบินและสิทธิรับขนการจราจร ซึ่งจะทำให้การขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศในอาเซียนเป็นไปได้อย่างสะดวก อันจะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาคสามารถเจริญเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
๙.๔ ความตกลงหลายฝ่ายและพิธีสารว่าด้วยการเปิดเสรีบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศของอาเซียน (Multilateral Agreement on the Liberalization of Passenger Air Services) การจัดทำความตกลงหลายฝ่ายว่าด้วยการเปิดเสรีการบินในส่วนของเที่ยวบินขนส่งโดยสาร เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการเปิดเสรีการบิน และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้ด้วย
๑๐. ความร่วมมือด้านพลังงานในอาเซียน (ASEAN Energy Cooperation)
มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในการจัดหาพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน และการจัดการด้านความต้องการพลังงานอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพสิ่งแวดล้อม และการช่วยเหลือกันในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉิน โครงสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน ประกอบด้วย การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนคณะทำงาน และคณะกรรมการ ใน ๕ สาขา ได้แก่
๑๐.๑ คณะทำงานด้านถ่านหิน
๑๐.๒ คณะทำงานด้านประสิทธิภาพพลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน
๑๐.๓ คณะทำงานด้านพลังงานใหม่และพลังงาน
๑๐.๔ คณะกรรมการด้านปิโตรเลียม ซึ่งประกอบด้วยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน
๑๐.๕ คณะกรรมการด้านการไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าการการไฟฟ้าของแต่ละประเทศการดำเนินการระยะแรกของโครงการเครือข่ายด้านพลังงานอาเซียนครอบคลุม ๒ โครงการหลัก คือ โครงการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน
๑๑. ความตกลงด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Agreement)
ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในกรอบอาเซียนและอาเซียน + ๓ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๘
ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ได้ลงนามในความตกลงด้านการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Agreement) เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว โดยเน้นความร่วมมือใน ๗ ด้าน คือ การอำนวยความสะดวกการเดินทางในอาเซียนและระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกด้านขนส่งการขยายตลาดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคงของการท่องเที่ยว การตลาดและการส่งเสริมร่วมกัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
อาเซียนจัดการประชุมด้านการท่องเที่ยว (ASEAN Tourism Forum หรือ ATF)
เป็นประจำทุกปีในเดือนมกราคม โดยหมุนเวียนจัดในประเทศสมาชิก นับเป็นการประชุมด้านการท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่และประสบผลสำเร็จมากที่สุดในโลก โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน โรงแรม รีสอร์ท สายการบิน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงนักเขียนด้านการท่องเที่ยวมีโอกาสทำความรู้จักและเจรจาธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และอาเซียนยังได้ริเริ่มความร่วมมือในการจัดทำความตกลงการตรวจลงตราเพียงครั้งเดียว (Single Visa) แต่ใช้เดินทางได้หลายประเทศโดยนำร่องโดยไทยและกัมพูชา
อาเซียนมุ่งหวังประโยชน์จาการรวมตัวกันเพื่อทำให้ประชาชนมีการอยู่ดีกินดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียว โดยมีความร่วมมือเฉพาะด้าน ภายใต้ประเด็นเชิงสังคมและวัฒนธรรมที่ครอบคลุมในหลายด้านได้แก่ เยาวชน การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สิทธิมนุษยชน สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สตรี แรงงาน การขจัดความยากจน สวัสดิการสังคมและการพัฒนา วัฒนธรรมและสารนิเทศ กิจการพลเรือน การตรวจคนเข้าเมืองและกงสุล ยาเสพติด และการจัดการภัยพิบัติ สิทธิมนุษยชน โดยมีคณะทำงานอาเซียนรับผิดชอบการดำเนินความร่วมมือในแต่ละด้าน
อาเซียนได้ตั้งเป้าการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ โดยมุ่งหวังให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีสัมคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนรวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity)
เพื่อรองรับการเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน อาเซียได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint) ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือใน ๖ ด้าน ได้แก่
๑. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development)
๒. การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม (Social Welfare and Protection)
๓. สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice and Rights)
๔. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)
๕. การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน (Narrowing the Development Gap)
โดยมีกลไกลดำเนินงาน ได้แก่ การประชุมรายสาขา (Sectoral) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Offcials Meeting) ระดับรัฐมนตรี (Ministerial Meeting) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio Cultural Community Council) รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการด้านสังคมและวัฒนธรรม (Senior officials Comittee for ASEAN Socio-Cultural Community)
ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างสถานะที่จะอำนวยต่อการสร้างประชาคมอาเซียน ให้สำเร็จภายในปี ๒๕๕๘ ซึ่งจะทำให้ประชาคมอาเซียนในด้านการเมืองความมั่นคงมีความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคงของอาเซียนที่สำคัญ ได้แก่
๑. สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC)
สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดทำขึ้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน ๕ ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เมื่อปี ๒๕๑๙ เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานของความร่วมมือ และการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันของประเทศสมาชิกหลักการสำคัญของสนธิสัญญา ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนยึดถือและยอมรับในการปฏิบัติตาม ได้แก่
๑.๑ เคารพในเอกราช การมีอำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียมกัน ความมั่นคงทางดินแดนและเอกลักษณ์แห่งชาติของทุกประเทศ
๑.๒ ปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก การโค่นล้มอธิปไตย หรือการบีบบังคับจากภายนอก
๑.๓ การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน
๑.๔ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทโดยสันติวิธี
๑.๕ การยกเลิกการใช้การคุกคามและกองกำลัง
๑.๖ การมีความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน
เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๓๐ ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อเปิดทางให้ประเทศที่อยู่
นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าร่วมเป็นภาคีได้ ซึ่งช่วยเสริมสร้างโครงสร้างความมั่นคงและสันติภาพให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ปัจจุบันประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญา TAC ได้แก่ สมาชิก อาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน และประเทศที่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วย การเมืองและความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้แจ้งความจำนงอยากเข้าร่วมเป็นภาคี
๒. สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asia Nuclear-Free Zone : SEAN- FZ)
ประเทศสมาชิกอาเซียน ลงนามในการประชุมสนธิสัญญาในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๕ธันวาคม ๒๕๓๘ วัตถุประสงค์หลักของสนธิสัญญา คือ ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ โดยประเทศที่เป็นภาคีจะไม่พัฒนา ไม่ผลิต ไม่จัดซื้อ ไม่ครอบครอง รวมทั้งไม่เป็นฐานการผลิต ไม่ทดสอบ ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค และไม่ให้รัฐใดปล่อยหรือทิ้งวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นกัมมันภาพรังสีลงบนพื้นดิน ทะเลและอากาศ นอกจากนี้ ๕ ประเทศอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ จีนสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหราชอาณาจักร (ห้าสมาชิกผู้แทนถาวร ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ) ได้ยอมรับและให้ความเคารพสนธิสัญญา โดยจะไม่ละเมิดและไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้
๓. ปฏิญญากำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace,Freedom and Neutrality หรือ ZOPFAN) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียน ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ปลอดการแทรกแซงจากภายนอก เพื่อเป็นหลักประกันต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและเสนอให้อาเซียนขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทุกๆ ด้าน อันจะนำมาซึ่งความแข็งแกร่ง ความเป็นปึกแผ่นและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิก ได้ประกาศลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐสมาชิกอาเซียน ซึ่งในขณะนั้นประกอบด้วยประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๑๙๗๑ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
๔. การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ASEAN Regional Forum (ARF) จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำหรับปรึกษาหารือ (Consultative forum) โดยมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพโดยการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคง โดยมีทั้งผู้แทนฝ่ายการทูตและการทหารเข้าร่วมการประชุมการหารือด้านการเมืองและความมั่นคงในกรอบ ARF ได้กำหนดพัฒนาการของกระบวนการ ARF เป็น ๓ ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ ๑ ส่งเสริมการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Confidence Building)
ขั้นตอนที่ ๒ การพัฒนาการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy)
ขั้นตอนที่ ๓ การแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution)
การประชุมระดับรัฐมนตรี ARF ครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ปัจจุบัน ประเทศที่เป็นสมาชิกการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมี ๒๗ ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ คือ ไทย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ประเทศ ผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน และประเทศอื่นในภูมิภาค อันได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี(เกาหลีเหนือ) มองโกเลียนิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี รัสเซีย ติมอร์-เลสเต ศรีลังกา สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
๕. ASEAN Troika ผู้ประสานงานเฉพาะกิจในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ณ กรุงมะนิลา ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบในการจัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงานเฉพาะกิจในระดับรัฐมนตรี (ASEAN Troika) ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประจำของอาเซียนในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และจะหมุนเวียนกันไปตามการเป็นประธานการประชุม วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงานเฉพาะกิจ ASEAN Troika คือ
๕.๑ เป็นกลไกให้อาเซียนสามารถร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการหารือแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิกเป็นการยกระดับความร่วมมือของอาเซียนให้สูงขึ้น และเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานโดยรวม
๕.๒ เพื่อรองรับสถานการณ์ และจะดำเนินการโดยสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ
ในสนธิสัญญา และข้อตกลงต่างๆ ของอาเซียน เช่น สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC)
๖. กรอบความร่วมมือทางทหาร (ASEAN Defense Ministerial Meeting -ADMM) เพื่อสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างฝ่ายทหารของประเทศสมาชิก ความร่วมมือ ด้านการป้องกันยาเสพติด การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้อาเซียนได้ลงนามในอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย ในปี ๒๕๕๐
๗. ความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคงที่สมดุลและสร้างสรรค์ระหว่างกัน โดยผ่านเวทีหารือระหว่างอาเซียนกับประเทศ คู่เจรจา ได้มีการประชุมสุดยอดเอเซียตะวันออก(East Asia Summit – EAS) และกระบวนการอาเซียน+๓
© 2017 Office of the Council of State.