BANNER

หลักความรับผิดทางอาญาของผู้บังคับบัญชาตามธรรมนูญจัดตั้งศาลองค์คณะชำระคดีวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชา


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      24 Dec 2018

  


   หลังผ่านไป ๔ ทศวรรษที่ชาวเขมรและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ กว่า ๑.๗ ล้านคน หรือคิดเป็น ๑ ใน ๕ ของประชากรทั้งหมดของประเทศกัมพูชาถูกสังหาร ถูกนำตัวไปเป็นแรงงานทาส และต้องอดอยากในเหตุการณ์ทุ่งสังหารในประเทศกัมพูชาในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้ระบอบเขมรแดง (Khmer Rouge) ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๑ ก็ได้มีคำตัดสินเป็นครั้งแรกว่า รัฐบาลเขมรแดงก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวจามและชาวเขมรเชื้อสายเวียดนาม โดยมีนายนวน เจีย (Nuon Chea) ผู้นำอันดับสองของเขมรแดง  รองจากพลพต และเขียว สัมพัน (Khieu Samphan) ซึ่งเคยเป็นประมุขของรัฐ และเป็นอดีตผู้นำอาวุโสที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ เข้ารับฟังการพิจารณาคดีขององค์คณะชำระคดีวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชา (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia) หรือที่รู้จักกันว่าศาลคดีเขมรแดง ซึ่งตั้งขึ้นโดยความตกลงระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับองค์การสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยศาลก็ได้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต
     ทั้งนี้ ข้อสังเกตที่เป็นประเด็นทางกฎหมายในคดีนี้คือ ตลอดกระบวนพิจารณาคดีนั้นได้ปรากฏว่า    ฝ่ายจำเลยปฏิเสธมาโดยตลอดว่าพวกตนไม่มีส่วนในการกระทำโหดร้ายของทหารเขมรแดงถึงแม้ว่าทั้งคู่จะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ตาม และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้มีคำสั่งโดยตรงให้พลทหารผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งหลายให้ทำการเช่นนั้นอีกด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาในเบื้องต้นแล้วจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจมีความรับผิดทางอาญาฐานอาชญากรรมล้างเผ่าพันธุ์ได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธรรมนูญจัดตั้งศาลองค์คณะชำระคดีวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชาได้มีการกำหนด “หลักความรับผิดทางอาญาของผู้บังคับบัญชา” เอาไว้  จึงทำให้เกิดผลทางกฎหมายที่จำเลยทั้งสองไม่อาจปฏิเสธความรับผิดทางอาญาเพื่อการกระทำของเหล่าทหารผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ ด้วยเหตุนี้บทความฉบับนี้จะนำเสนอถึงเหตุการณ์ทุ่งสังหาร และหลักความรับผิดทางอาญาของผู้บังคับบัญชาตามธรรมนูญจัดตั้งศาลองค์คณะชำระคดีวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชา รวมถึงการวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลองค์คณะชำระคดีวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชาต่อไป

ลิงค์บทความฉบับเต็ม

© 2017 Office of the Council of State.