BANNER

รัฐบาลเกาหลีใต้เผชิญหน้ากับการต่อต้านอย่างรุนแรงของประชาชนหลังออกร่างกฎหมายเพิ่มชั่วโมงการทำงานเป็น ๖๙ ชั่วโมงต่อสัปดาห์


 ข่าวต่างประเทศ      31 May 2023

  


          รัฐบาลของเกาหลีใต้ถูกบีบบังคับให้ต้องทบทวนและพิจารณาถึงแผนการเพิ่มชั่วโมงทำงานใหม่หลังจากได้รับกระแสต่อต้านจากประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำลายสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตของพวกเขา และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพอีกด้วย
          โดยกระทรวงแรงงานซึ่งเป็นของพรรคอนุรักษนิยมเป็นฝ่ายเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาและรัฐสภาเกาหลีใต้จะมีการพิจารณาเพื่ออนุมัติในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของร่างกฎหมายคือการเพิ่มชั่วโมงทำงานสูงสุดต่อสัปดาห์เป็น ๖๙ ชั่วโมง หลังจากกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มนายจ้างเห็นว่าขีดจำกัดปัจจุบันที่ ๕๒ ชั่วโมงเป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้การทำงานตามกำหนดเวลาที่ต้องส่งมอบงานเป็นไปได้ยาก
          ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะยกเลิกกฎหมายเดิมที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยที่จำกัดชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ไว้ที่ ๕๒ ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นชั่วโมงการทำงานประจำ ๔๐ ชั่วโมงและการทำงานล่วงเวลา ๑๒ ชั่วโมง ซึ่งพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยได้กล่าวว่าจะใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเพื่อขัดขวางร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้
          ในขณะเดียวกัน การประท้วงและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนอย่างดุเดือด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่น Millennials (กลุ่มคนที่เกิดช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๒๙) และคน Generation Z (กลุ่มคนที่เกิดหลังจากปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นต้นมา) ก็ส่งผลให้ประธานาธิบดี Yoon Suk-yeol สั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลพิจารณาทบทวนแผนการนี้ใหม่และให้คำนึงถึงสื่อสารและเจรจากับประชาชนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะกับคน Generation Z และคนรุ่น Millennials
          นอกจากนี้ Kim Eun-hye เลขาธิการสื่อมวลชนของรัฐบาลกล่าวว่า หัวใจหลักของนโยบายตลาดแรงงานของรัฐบาลคือการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของแรงงานที่ด้อยโอกาส เช่น คนรุ่น Millennials คน Generation Z คนงานที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพแรงงาน และผู้ที่ทำงานในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
          รัฐบาลของประธานาธิบดี Yoon Suk-yeol เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมที่ถูกมองว่ามีการสนับสนุนธุรกิจเพื่อให้นายจ้างมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ผู้นำสหภาพแรงงานกล่าวว่าการสนับสนุนภาคธุรกิจดังกล่าวจะเป็นการบังคับให้คนทำงานต้องทำงานหนักขึ้นและในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นซึ่งในปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้ก็เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมการทำงานที่หนักมากอยู่แล้ว
          ปัจจุบันชาวเกาหลีใต้ทำงานเฉลี่ย ๑,๙๑๕ ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ถึง ๑๙๙ ชั่วโมงตามแนวโน้มการจ้างงานล่าสุดของ OECD และมากกว่าคนงานในเยอรมนีถึง ๕๖๖ ชั่วโมง
          แผนดังกล่าวยังถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสวนทางกับนโยบายตลาดแรงงานของประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ รวมถึงประเทศอังกฤษ ซึ่งในปีที่แล้วบริษัทหลายสิบแห่งทดลองหยุดงาน ๔ วันต่อสัปดาห์ตามที่นักรณรงค์กล่าวว่าจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานใกล้เคียงกันหรือเป็นไปในทางที่ดีขึ้นและยังทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้นอีกด้วย
          นอกจากนี้ สมาคมสตรีแห่งเกาหลีใต้กล่าวว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลร้ายต่อหญิงที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วยรวมถึงผู้หญิงคนอื่น ๆ ในขณะที่ผู้ชายสามารถทำงานได้หลายชั่วโมงและได้รับการยกเว้นจากความรับผิดชอบในการดูแลครอบครัว แต่ผู้หญิงกลับเป็นฝ่ายที่ต้องจะต้องทำงาน ดูแลบ้าน ดูแลครอบครัว ตลอดจนดูแลสามีและลูกด้วย

ข่าวประจำวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.theguardian.com/world/2023/mar/15/south-korea-u-turns-on-69-hour-working-week-after-youth-backlash
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย
 

© 2017 Office of the Council of State.