BANNER

การส่งเสริม Start-up ของประเทศสมาชิกอาเซียน


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      31 Jan 2017

  



ความพร้อมของอาเซียน
          ภาษาและภูมิศาสตร์
                      ประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศมีประชากรรวมกันถึง ๖๐๘ ล้านคน โดยประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด คือ  ประเทศอินโดนีเซีย  นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียยังมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างยิ่งในเรื่องภาษาประจำชาติที่แต่ละประเทศใช้แตกต่างกันอีกทั้งภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลในโลกธุรกิจและภาษาหลักที่ผู้พัฒนา Application จะเลือกพัฒนาก็ไม่ใช่ภาษาที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศสมาชิกอาเซียน  ดังนั้น Startup ใดที่จะบุกตลาดอาเซียน หรือ Startup ใดจากประเทศสมาชิกอาเซียนต้องคำนึงถึงภาษาในการใช้งานเป็นสำคัญ
                     นอกจากนี้ ในทางภูมิศาสตร์นั้นประเทศสมาชิกอาเซียนแบ่งเป็นประเทศที่อยู่บนภาคพื้นทวีปและประเทศหมู่เกาะ สำหรับประเทศที่เป็นภาคพื้นทวีปจะมีจุดเด่นในด้านการเชื่อมโยงทางถนนระหว่างกัน แต่ในด้านเทคโนโลยีนั้นยังมีความแตกต่างกันอย่างยิ่งโดยเฉพาะประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ความพร้อมทางเทคโนโลยีและด้านโทรคมนาคมยังคงตามหลังประเทศมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ส่วนของประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะนั้นยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมให้เชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่านี้ รวมถึงต้องพัฒนาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับตลาด Startup อีกด้วย
          โครงสร้างพื้นฐาน
                     โครงสร้างพื้นฐานเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดการค้า  นอกจากนี้ ในบางโอกาสการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีก็ทำให้เกิด Startup ได้ เช่น ในกรณีของ Uber ที่มุ่งจะแก้ไข้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ขาดไม่ได้ที่จะมุ่งให้เกิด Startup
คือ โทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเตอร์เน็ต ซึ่งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนในปัจจุบันที่มากกว่าร้อยละ ๕๐ มีเพียง ๓ ประเทศเท่านั้น คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ดังนั้น  ประเทศสมาชิกอาเซียนควรจะส่งเสริมให้การให้บริการอินเตอร์เน็ตมีราคาไม่แพงจนเกินไปและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายทุกที่และทุกเวลา[๑]

สถาณการณ์ปัจจุบันของ Start-Up ในประเทศสมาชิกอาเซียน
          ประเทศกัมพูชา
                     ประเทศกัมพูชามีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีประชากรประมาณ ๑๖ ล้านคน โดยอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ร้อยละ ๑๑ ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน แต่กัมพูชาก็มีความได้เปรียบในแง่ที่อายุเฉลี่ยของประชากรที่อยู่ในระดับต่ำจึงมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตประเทศกัมพูชาน่าจะสามารถพัฒนาเป็นตลาดที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีได้
                     ปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชายังไม่มีโครงการส่งเสริมธุรกิจ Start-up อย่างเป็นรูปธรรม แต่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจแบบดั้งเดิมก่อนและจึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยายขนาดธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ ทางด้านภาคเอกชนมีการเริ่มสนับสนุน Startup บ้างแล้ว เช่น USAID ได้ตั้ง Development Innovations[1] เพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีให้กับกัมพูชาร่วมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนชาวกัมพูชาสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้  นอกจากนี้ Impact Hub ซึ่งเป็น ที่ทำงานร่วมกัน (co-working space) และ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (business incubator) ระดับโลกได้เข้าไปตั้ง Co-working space ในประเทศกัมพูชาอีกด้วย
                     แนวทางการพัฒนาในอนาคต
                               ประเทศกัมพูชาอยู่ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ Start-up ซึ่งประชาชนชาวกัมพูชายังต้องการความพร้อมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต รัฐชาวกัมพูชาจึงควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น การเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อเพิ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคม การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำให้ขนาดตลาดดิจิตอลมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะทำให้ Start-up สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อแก้ไขปัญหาได้  ทั้งนี้ ภาครัฐอาจจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเข้าไปตั้งศูนย์บ่มเพาะ Start-up (Business incubator) ให้มากขึ้นและให้ความรู้ทางเทคโนโลยีแกประชาชนชาวกัมพูชา
          ประเทศลาว
                     ประเทศลาวมีลักษณะภูมิประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล แต่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่านประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศยังคงพึ่งพาเกษตรกรรม แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลลาวก็เริ่มที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนในการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านำมาขายให้กับประเทศไทยเพื่อหารายเข้าประเทศ นอกจากนี้  ประเทศลาวได้เปิดประมูลสัมปทานให้นักลงทุนอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่เพื่อการส่งออก แต่ในส่วนของธุรกิจขนาดเล็กและกลางนั้นยังคงมีจำนวนไม่มากนัก อีกทั้ง การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในประเทศลาวนั้นยังไม่ทั่วถึง ซึ่งมีประชากรเพียงร้อยละ ๑๕[2] เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ จึงทำให้ตลาดดิจิตอลของประเทศลาวมีมูลค่าไม่มากนัก และไม่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนเท่าที่ควร
          แนวทางการพัฒนาในอนาคต
                     การที่อินเตอร์เน็ตในประเทศลาวยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้เศรษฐกิจของประเทศลาวยังไม่เอื้อต่อการมีธุรกิจ Startup มากนัก ประเทศลาวยังคงต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างการทำให้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงง่าย หรือการส่งเสริมให้มีธุรกิจแบบดั้งเดิมเกิดขึ้นก่อนแล้วถึงต่อยอดโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา
          ประเทศเมียนมา
                     เมียนมามีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบผสมกับภูเขา มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านโดยสินค้าส่งออกหลักคือทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แก๊สธรรมชาติ ไม้ อัญมณี เป็นต้น ทั้งนี้  เมียนมามีประชากรประมาณ ๕๕ ล้านคน โดยเมืองที่มีประชากรมากที่สุดคือเมืองย่างกุ้งซึ่งมีประชากรประมาณ ๕ ล้านคน แต่ในด้านการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประเทศเมียนมานั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคิดเป็นร้อยละ ๒.๕ ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่  ดังนั้น ในปัจจุบันด้วยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จึงยังไม่เอื้อให้เกิด Start-up ในเมียนมามากนัก
                     ในส่วนของรัฐบาลเมียนมานั้นได้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจปัจจุบันเน้นที่จะให้การสนับสนุน SME แบบทั่วไปยังไม่มีนโยบายเฉพาะด้านที่ให้การสนับสนุน Start-up โดยเฉพาะดังนั้นจึงเป็นหน้าที่เอกชนที่จะสร้างชุมชน Start-up ขึ้นและปัจจุบันเมียนมาเริ่มที่จะมีนักลงทุนเข้าไปลงทุนใน Startup แล้วเพื่อหวังผลในอนาคตเมื่อขนาดตลาดเมียนมาใหญ่ขึ้น[3]
                    แนวทางการพัฒนาในอนาคต
                     เมียนมายังคงมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่อยู่ในระดับต่ำดังนั้นการพัฒนาในอนาคตของเมียนมาต้องเน้นที่การพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์มือถือไปพร้อมกับการนำเทคโนโลยี 3G/4G ให้ทั่วถึงทั้งประเทศหรือครอบคลุมเมืองการค้าที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันการแข่งขันเพื่อให้บริการโทรคมนาคมเมียนมาอยู่ในระยะเริ่มต้นโดยที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก และเมื่อปี ๒๕๕๙ รัฐบาลเมียนมาได้เปิดประมูลใบอนุญาตเพื่อให้บริการโทรคมนาคมมีเอกชนให้ความสนใจถึง ๗ บริษัท ทั้งนี้  คาดว่า Start-up ที่น่าจะได้รับความนิยมในอนาคตคือ Start-up ที่ให้บริการด้าน Mobile Payment[4] เนื่องจากปัจจุบันประชาชนเมียนมาเข้าถึงและมีบัญชีธนาคารเพียงร้อยละ ๕ เท่านั้นทำให้การโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเป็นไปได้ยาก การมี Mobile Payment โดยปรับเปลี่ยนจากการที่เชื่อมต่อเข้ากับบัญชีธนาคารเป็นการฝากเงินเข้ากับผู้ให้บริการ Mobile Payment และเมื่อจะใช้เงินที่ฝากสามารถโอนผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไป
          ประเทศไทย
                     ประเทศไทยมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบมีทางออกทะเลภูมิศาสตร์สำคัญของประเทศไทยคือเป็นศูนย์กลางของประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ ๔ โดยคำนวณจากรายต่อประชากร[5] ประชากรของประเทศไทยมีจำนวน ๖๗ ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง[6] ๔๐ ปี การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากรอยู่ที่ร้อยละ ๔๒ ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนาอยู่ในระดับเดียวกันอย่างมาเลเซียและเวียดนาม ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีประชากรที่อยู่ในช่วงอายุมากกว่า ๔๐ เป็นจำนวนมากซึ่งคนในกลุ่มอายุดังกล่าวไม่ได้เติบโตขึ้นในช่วงที่คอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลายในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยบริการต่าง ๆ ยังคงต้องมี ๒ ทางเลือกทั้งทางดิจิตอลและแบบดั้งเดิม
                     สถานการณ์ Start-up ของประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ทุกฝ่ายเริ่มให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยที่ได้ประกาศโครง ไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศจากการรับผลิตเพื่อส่งออกเป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อส่งออก และเปลี่ยนประเทศในเน้นการบริการมากขึ้น[7] นอกจากนี้ ประเทศไทยจะส่งเสริมให้เกิด Start-up ที่พัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน กลุ่มอาหาร กลุ่มสาธารณสุข กลุ่มอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มดิจิทัล ซึ่งกลุ่มเหล่านี้สามารถสร้างสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศเช่น Alibaba และ Huawei เพื่อเพิ่มช่องทางให้กับผู้ประกอบการไทยทั้ง SME และ Start-up
                     ทานด้านกฎหมายรัฐบาลไทยได้เตรียมพร้อมที่จะแก้กฎหมายให้ประชาชนสามารถตั้งบริษัทคนเดียวได้จากเดิมที่ต้องมีหุ้นส่วนจำนวน ๓ คน[8] นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ มีการวิจัยและพัฒนาโดยที่เงินการวิจัยสามารถนำมาหักภาษีได้[9]
                     ทางด้านภาคเอกชนของประเทศไทยมีให้การสนับสนุน Start-up มาช่วงเวลาหนึ่งแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัททางด้านโทรคมนาคมและการเงิน เช่น dtac accelerate, True Incube, SCB Digital Ventures  นอกจากนี้ยังมี Co-working Space สร้างขึ้นอีกหลายแห่ง ทั้งนี้ Start-up ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็น Start-up ด้าน E-Commence และ อาหาร
 
 
                    แนวทางการพัฒนาในอนาคต
                               ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัวจากการเพิ่มขึ้นของผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรที่มีอายุมากกว่า ๔๐ ปี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  กลุ่มผู้ใช้อินเตอร์ดังกล่าวยังคงไม่ไหวใจการใช้บริการในแบบดิจิตอลอย่างเต็มตัว เช่น ในกรณีของ Internet Banking ยังคงมีบางส่วนนิยมใช้บริการที่สาขาธนาคารแบบเดิม หรือในกรณีของ Prompt Pay ที่เป็นนโนบายของรัฐบาลยังคงมีผู้ไม่ไว้วางใจหรือไม่อยากที่จะลงทะเบียน ปัญหาที่กล่าวมาดังกล่าว ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันแก้ปัญหาให้เกิดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีและควรสร้างหลักสูตรการศึกษาที่ให้ความรู้เยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมดังกล่าวจะมีผลในระยะทั้งเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้เป็นดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบและสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิด Start-up[10]
          ประเทศเวียดนาม
                     ประเทศเวียดนามมีสภาพภูมิประเทศติดทะเลมีเทือกเขาผสมกับที่ราบทางตอนใต้ ระบอบการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ ระบบเศรษฐกิจของเวียดนามเป็นระบบผสมมีการวางแผนจากรัฐบาลและเปิดโอกาสให้เอกชนประกอบธุรกิจ รายได้หลักของประเทศเวียดนามคือการส่งออกเสื้อผ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ ๑ ของเวียดนาม ทางด้านประชากรเวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากรวัยต่ำกว่า ๔๐ เป็นจำนวนมากซึ่งประชากรในช่วงวัยดังกล่าวเป็นช่วงวัยทำงานและมีความสามรถในการใช้เทคโนโลยี ปัจจุบันอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ ๕๒ ซึ่ง[11]ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ
                     ปัจจุบันชุมชน Start-up ประเทศเวียดนามมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเนื่องจากประเทศมีความพร้อมทางเทคโนโลยีและบุคคลากรและการลงทุนจากต่างชาติ[12] อีกทั้ง รัฐบาลเวียดนามมีการส่งเสริมให้เกิด Start-up รัฐบาลเวียดนามได้เริ่มโครงการชื่อ Silicon Valley Ecosystem in Viet Nam เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศเวียดนามให้มีประสิทธิภาพและมีระบบ กล่าวคือ ประเทศเวียดนามต้องการให้มีบริษัทซอฟต์แวร์ที่เกิดใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศโดยโครงการดังกล่าวจะให้มีการให้ทุนสนับสนุนรวมทั้งเชิญพันธมิตรต่างชาติให้ร่วมลงทุนอีกทั้งมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำแนวทางการพัฒนาให้กับ Start-up ที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย นอกจากนี้  เมื่อปี ๒๕๕๙ รัฐบาลเวียดนามได้ลงทุนเพิ่มใน Start-up ของประเทศโดยตั้งเป้าอยากให้มี Start-up สัญชาติเวียดนามกว่า ๑,๐๐๐ บริษัท พร้อมทั้งตั้ง National Innovative Startup Portal เป็นศูนย์กลางเพื่อให้ความรู้แก้ Start-up ในด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี สิทธิบัตร นโยบาย การพัฒนาบุคคล การลงทุน และเครือข่ายธุรกิจ
 
[1] http://www.development-innovations.org/about-us/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๐
[2] http://www.internetlivestats.com/internet-users/laos/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๐
[3] http://www.forbes.com/sites/chynes/2016/10/31/this-tech-accelerator-is-betting-that-myanmars-startup-scene-is-set-to-explode/#3a51c5a312f5 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๐
[4] http://fintechnews.sg/1418/mobilepayments/the-growing-untapped-myanmar-mobile-payment-market/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐
[5] http://statisticstimes.com/economy/asian-countries-by-gdp-per-capita.php เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐
[6] https://populationpyramid.net/thailand/2016/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐
[7] https://www.youtube.com/watch?v=OEfY3rQZpNo เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐
[8] http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/737525 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๐
[9] http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1484722002 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๐
[10] http://news.thaipbs.or.th/content/259612 เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๐
[11] http://www.internetlivestats.com/internet-users/viet-nam/ เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐
[12] https://www.bloomberg.com/news/articles/2016-12-06/refugees-who-fled-communist-vietnam-lured-back-by-startup-dreams เข้าถึงเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๐

© 2017 Office of the Council of State.