แคนาดาออกกฎหมายห้ามชาวต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยเป็นระยะเวลา ๒ ปี เพื่อแก้ไขปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง
ข่าวต่างประเทศ
28 Mar 2023
เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖ รัฐบาลแคนาดาได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายซึ่งห้ามมิให้คนต่างชาติที่ซึ่งมิใช่ชาวแคนาดารวมถึงผู้ที่มีสิทธิพำนักถาวรในแคนาดา (permanent residents) ซื้อที่อยู่อาศัย และกำหนดค่าปรับถึง ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนของแคนาดาที่ผ่านมา ราคาที่อยู่อาศัยในแคนาดาเฉลี่ยอยู่ที่ ๗๗๗,๒๐๐ ดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ารายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของชาวแคนาดาหลังหักภาษี
จากการสำรวจพบว่าที่อยู่อาศัยในรัฐ Ontario และ British Columbia ที่ครอบครองโดยชาวแคนาดามีเพียงไม่ถึงร้อยละ ๖ ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๔๘ เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. ๒๐๑๓ (พ.ศ. ๒๕๕๖) ที่ราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยอยู่ที่ ๕๒๒,๙๕๑ ดอลลาร์ โดยราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยในเมืองที่ใหญ่ที่สุด ๒ แห่งในแคนาดา ได้แก่ เมือง Toronto และ Vancouver มีราคาสูงถึง ๑ ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมืองทั้ง ๒ แห่งนี้มักถูกจัดให้อยู่ใน ๑๐ อันดับเมืองที่ราคาที่อยู่อาศัยสูงที่สุดในโลก
ตัวเลขเหล่านี้ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยของแคนาดาขึ้นเป็นหนึ่งในตลาดที่ราคาราคาสูงเกินเอื้อมที่สุดในโลก โดยอยู่ในอันดับที่สูงกว่านิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ตามการวิเคราะห์ของบริษัท Statista โดยเทียบอัตราส่วนราคาของที่อยู่อาศัยต่อรายได้ประชากร
ในแถลงการณ์ของ Ahmed Hussen รัฐมนตรีกระทรวงการเคหะกล่าวว่า กฎหมายที่ห้ามชาวต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยนี้มีขึ้น เพื่อกีดกันการซื้อบ้านจากผู้ซื้อที่มองบ้านเป็นสินค้าที่มีไว้เก็งกำไร แทนที่จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการอยู่อาศัยและการเติบโตของครอบครัว และภายใต้กฎหมายนี้จะมีการดำเนินการเพื่อให้ชาวแคนาดามีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ และในขณะเดียวกันคนบางกลุ่มก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายดังกล่าว โดยกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาดที่อยู่อาศัยของแคนาดา
ข่าวประจำวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bbc.com/news/world-us-canada-64082923
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย