ศาลญี่ปุ่นปฏิเสธคำร้องของประชาชนที่ขอให้หยุดการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เก่า
ข่าวต่างประเทศ
27 Jan 2023
ศาลญี่ปุ่นได้มีคำตัดสินในวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ว่าเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีอายุการใช้งาน ๔๕ ปี ที่จังหวัดฟุกุอิสามารถยังคงใช้งานต่อไปได้ โดยเป็นการปฏิเสธคำร้องขอของประชาชนที่อ้างเรื่องความปลอดภัย
คำตัดสินของศาลในคดีนี้ถือเป็นคำตัดสินแรกเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เดินเครื่องเตาปฏิกรณ์มามากกว่า ๔๐ ปี ซึ่งคำตัดสินของศาลนั้นสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการใช้พลังงานนิวเคลียร์ต่อไปเพราะโลกกำลังขาดแคลนพลังงานเชื้อเพลิง และในขณะเดียวกันก็ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอากาศด้วย
นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น คาดหวังว่าจะมีการอนุมัตินโยบายพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ ซึ่งเป็นการกระตุ้นในการเริ่มนำกลับมาใช้งานของเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ถูกระงับการใช้งานไว้หลังจาก ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่เกิดอุบัติเหตุโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดหวัดฟุกุชิมะ
กระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่นได้ร่างแผนเพื่อที่จะอนุญาตในการขยายระยะเวลาการใช้งานทุก ๆ สิบปีของเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หลังจากการใช้งานครบสามสิบปี
นาโอยะ อิโนะอุเอะ ผู้พิพากษา กล่าวว่า การทำงานของเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลขสาม ของบริษัทคันไซ อิเล็กทริกส์พาวเวอร์ได้ทำโดยมีขั้นตอนที่เพียงพอในการป้องกันการสึกกร่อนของอุปกรณ์ตามกฎระเบียบ และ ในกฎระเบียบกล่าวว่าในเรื่องของอายุการใช้งานของเครื่องเตาปฏิกรณ์ไม่ได้ต้องการมาตรฐานที่เข้มงวดมากกว่ามาตรฐานตามปกติ
ประชาชนรวมทั้งหมดเก้าคน มีเจ็ดคนจากจังหวัดฟุกุอิ หนึ่งคนจากชิกะ และ อีกหนึ่งคนจากเกียวโต ได้ยื่นฟ้องคดีต่อบริษัทคันไซ อิเล็กทริกส์ ในเดือนมิถุนยาน ปี ค.ศ ๒๐๒๑ โดยร้องขอให้มีการหยุดการใช้งานเครื่องเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์มิฮามะที่จังหวัดฟูกุอิ แต่ศาลยกคำร้องขอที่อ้างเรื่องความปลอดภัยของโจทก์ โดยรวมถึงความเสี่ยงในกรณีเกิดแผ่นดินไหวเพราะเรื่องอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าไม่มีควาทนทานเพียงพอต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยให้เหตุผลว่าขาดการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของความเสี่ยงที่เป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ ทนายความโจทก์ แถลงว่าจะอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวของศาลต่อไป
เครี่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมีอายุการใช้งานมากกว่าสามสิบปี มีสี่เครื่องที่มีการใช้งานมามากว่า ๔๐ ปี โดยจากมาตรฐานที่เป็นกฎระเบียบเรื่องความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ นั้นได้มีการอนุญาตให้ดำเนินการใช้ได้ โดยที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์มิฮามะที่จังหวัดฟูกูอิ มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องเดียวที่ยังใช้งานอยู่
กลุ่มต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่จังหวัดฟุกุชิมะ แผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิได้ทำลายระบบหล่อทำความเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทำให้เกิดการหลอมละลาย และเกิดกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมาในปริมาณมาก จากเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าวทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็เคยมีแผนจะยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ยกเลิกการใช้งานแต่อย่างใด
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกหลายทางในการใช้พลังงานแบบผสม ซึ่งรวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อรองรับปัญหาการจัดหาพลังงาน โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการขาดแคลนพลังงานอันเป็นเป็นผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ในขณะที่ต้องการมุ่งเน้นเรื่องการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างยั่งยืนเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยญี่ปุ่นมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศปราศจากก๊าซคาร์บอนภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐
ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ยังคงมีแผนที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในพลังงานผสมในอัตราร้อยละ๒๐ ถึง ๒๒ ในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลได้ยืนกรานก่อนหน้านี้ว่าไม่มีแผนที่จะสร้างการใช้พลังงานนิวเคลียร์แบบใหม่ หรือมีการใช้แทนที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เดิม
ภายใต้นโยบายเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ รัฐบาลได้พยายามที่จะหาทางพัฒนา และก่อสร้าง เครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รูปแบบใหม่ โดยเป็นเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก
ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มกล่าวว่าการขยายการทำงานของเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไม่ได้เป็นที่ต้องการของพวกเขา เพราะต้องมีการลงทุนในอุปกรณ์ที่เก่าเพื่อให้มันยังคงใช้งานได้อยู่แทนเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งการพัฒนาเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่นั้นสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการลงทุน และเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน
ข่าวประจำวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕
เรียบเรียงจาก https://japantoday.com/category/national/japanese-court-says-45-year-old-nuclear-reactor-can-operate
https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/th/news/402437/
https://www.japantimes.co.jp/news/2022/12/20/national/crime-legal/mihama-ruling/
*บทความในเว็บไซต์เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียนเว็บไซต์ LawforASEAN / สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย