BANNER

สถานการณ์การสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      06 Sep 2016

  




​ PDF VERSION :: The build up of ASEAN Armament.pdf


สถานการณ์การสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ทางน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้ก้าวล้ำขีดจำกัดเดิมไปมาก ซึ่งเป็นการสร้างความกังวลต่อการสะสมอาวุธและส่งผลให้เป็นการจุดชนวนข้อพิพาทระหว่างนานาประเทศ ไม่ว่าจะโดยพิธีทางการทูต การข่มขู่ รวมไปถึงการแสดงอำนาจในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์โลกแล้วเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการสะสมอาวุธและการรวบรวมกำลังพลทางทหารนั้นได้ผ่อนคลายลงมากตั้งแต่ปลายยุคสงครามเย็น  ดังนั้น   เมื่อหลายประเทศได้เริ่มทำการสะสมอาวุธอีกครั้งโดยมิได้นัดหมายจึงนำไปสู่การศึกษาถึงประเด็นปัญหาของการสู้รบที่อาจเกิดขึ้น โดยทุกฝ่ายต่างก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสะสมอาวุธของทุกประเทศนั้นจะเป็นเพียงการสะสมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คนในชาติ มากกว่าที่จะเป็นการสะสมเพื่อนำมาใช้งานจริง โดยนักวิชาการส่วนใหญ่ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่าการสะสมยุทโธปกรณ์นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายอิทธิพลทางทะเลของจีน และขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่งผลให้มีความจำเป็นในการปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออุปสงค์ของกองทัพมีมากขึ้น ตลาดผู้ค้าอาวุธในภูมิภาคจึงมีการตื่นตัวและเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม

กองทัพเรือของสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างอ้างว่ากองกำลังยุทโธปกรณ์ทางน้ำของตนนั้นแข็งแกร่ง ทางด้านฟิลิปปินส์เองก็ประกาศแผนการที่จะพัฒนาความสามารถของยุทโธปกรณ์ใต้น้ำให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน โดยเรือดำน้ำที่นิยมนำเข้ามานั้นมักจะเป็นของปลดระวางจากกองทัพยุโรปทั้งสิ้น เช่นประเทศสิงค์โปรที่ซื้อเรือดำน้ำ Challenger จากประเทศสวีเดน ประเทศมาเลเซียซื้อเรือดำน้ำ Scorpène จากประเทศฝรั่งเศส ประเทศอินโดนีเซียซื้อเรือดำน้ำ Type-209 จากประเทศเยอรมัน และ ประเทศเวียดนามที่ซื้อเรือดำน้ำ Kilo-class จากรัสเซีย โดยนักวิชาการต่างมองว่าการเคลื่อนไหวในรูปแบบดังกล่าวนี้คือการสะสมอาวุธนั่นเอง
นักวิชาการได้ให้คำอธิบายว่าการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศต่าง ๆ นั้นมีไว้เพื่อปรับสมดุลทางทหารระหว่างรัฐและประชาคมโลก บางรายยังสันนิษฐานว่าการแข่งขันสะสมอาวุธของกองทัพเรือในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีจุดประสงค์เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางทหารกันระหว่างชาติอาเซียนด้วยกันเอง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง กิจกรรมทางทหารที่มุ่งจะถ่วงดุลระหว่างองค์กรระดับภูมิภาคและประเทศที่แข็งแกร่งนั้นเป็นพฤติกรรมที่พบได้ยาก แม้อาเซียนจะให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือในการรักษาความปลอดภัยเป็นลำดับรอง แต่พฤติกรรมดังนี้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่ผิดแผกไปของธรรมเนียมปรกติของประชาคมอาเซียน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสถาบันระหว่างประเทศที่มีการจัดการองค์กรและความสัมพันธ์ที่ดีองค์กรหนึ่ง ในการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีกองทัพที่มีการขยายตัวขึ้นทุกวัน อีกทั้งยังมีกองทัพที่พร้อมจะตรึงกำลังชาติอื่นๆไว้ในมือ โดยจะสังเกตได้จากอัตราซื้อขายในตลาดอาวุธของโลกในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง

การสะสมอาวุธในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในยุคสงครามเย็น โดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตแข่งกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแสดงแสนยานุภาพระหว่างกัน แต่ความแตกต่างระหว่างยุคสงครามเย็นกับยุคปัจจุบันคือประเด็นทางสังคมวัฒนธรรม เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังสงวนท่าทีของตนกับจีนอยู่  ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า การสะสมอาวุธของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดประสงค์เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน แม้จะยังไม่ต้องการให้เกิดการสู้รบก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิชาการยังเชื่อมโยงการเพิ่มกำลังพลทางทหารของนานาประเทศว่าเป็นการแสดงท่าทีต่อต้านประเทศจีนอันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเวียดนามมีชนวนขัดแย้งกับประเทศจีนในการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพาราเซล และ สแปรตลีย์ โดยฝ่ายประเทศจีนอ้างการครอบครองดินแดนครอบคลุมพื้นที่โดยการหยิบยก “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” ซึ่งกินอาณาบริเวณหลายร้อยกิโลเมตรจากทางตอนใต้และตะวันออกจากมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้สุดของจีน โดยรัฐบาลจีนแถลงว่า สิทธิในการครอบครองพื้นที่บริเวณนี้มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษกว่า 2,000 ปีแล้ว ในขณะที่เวียดนามก็แย้งว่าจีนไม่เคยกล่าวอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะทั้ง 2 ในช่วงก่อนปี 1940 โดยเวียดนามยืนยันว่าเวียดนามอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองทั้งหมู่เกาะพาราเซล และ สแปรตลีย์ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยมีเอกสารพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วย

เห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงในตลาดอาวุธยุทโธปกรณ์นี้มีประเด็นมากกว่าแค่การซื้อเรือดำน้ำ ผลการวิจัยจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute : SIPRI) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระที่ค้นคว้าเรื่องการลดอาวุธและความมั่นคงในระดับนานาชาติ ได้มีผลสรุปว่าทวีปเอเชียมีการนำเข้าอาวุธสงครามมากที่สุดในโลกอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมถึงไทยได้มีการจัดสรรงบประมาณทางทหารเพิ่มขึ้นเพื่อจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ และยังรวมถึงการฝึกทดลองประสิทธิภาพอาวุธกันอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ภาพรวมค่าใช้จ่ายด้านการทหารของกลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราเติบโตสูงขึ้น ซึ่งอินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชามีการจัดสรรงบทหารเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าร้อยละ 80 ถึงแม้ว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายจะสามารถสะท้อนถึงขนาดและความทันสมัยของกองทัพได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถบ่งชี้สถานการณ์การแข่งขันสะสมอาวุธได้ชัดเจนนัก เนื่องจากยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารายเดือน รายปี ค่าใช้จ่ายสำหรับการฝึกอบรม ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ตามทฤษฎีในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้กล่าวไว้ว่าสถานการณ์ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันสะสมอาวุธหรือ Arms Race ได้นั้น ควรมีส่วนประกอบสำคัญ ๓ ส่วนคือ
 (๑) ประเทศเหล่านั้นต้องเป็นอริศัตรูกัน
 (๒) การเพิ่มจำนวนของอาวุธยุทโธปกรณ์ในอัตราที่สูงฉับพลัน
 (๓) เป็นลักษณะเชิงตอบโต้กัน

การเพิ่มจำนวนหรือศักยภาพของอาวุธอันเนื่องมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ได้เพื่อเป็นการแข่งขันตอบโต้กันกับประเทศอื่น ๆ ไม่อาจถือว่าเป็นสถานการณ์การแข่งขันสะสมอาวุธ (Arms Race) แต่มีลักษณะที่เรียกว่าเป็นการสะสมอาวุธ (Arms Build-up) ซึ่งอาจมีปัจจัยการเมืองภายในประเทศมาเกี่ยวข้อง หรือเพื่อต้องการเสริมสร้างและรักษาความมั่นคงในภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ Arms Build-up ก็สามารถทำให้เกิดปรากฎการณ์ Security Dilemma ได้เช่นกัน โดยเฉพาะถ้าขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างประเทศ ก็จะทำให้เกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกัน และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้ในที่สุด
สำหรับแผนปฏิรูปกองทัพ (Modernization plan) ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ที่ทำให้ชาติอาเซียนมีการใช้จ่ายด้านงบประมาณทหารมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นนัยยะ ๒ ประการ ประการแรกคือ ประเทศในภูมิภาคอาจมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แทนที่จะยึดมั่นคำประกาศความเป็นพี่เป็นน้องกันในหมู่ประเทศอาเซียน ส่วนประการที่สองคือ ภูมิภาคนี้ต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจอย่างจีน ซึ่งแม้จะยังไม่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ แต่ก็มีการสะสมกำลังอาวุธอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้กระแสนำเข้าอาวุธอันมากมายนี้อาจบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังกระทบถึงสันติภาพที่ธำรงมานานนับทศวรรษ และเป็นไปได้ว่าอาจมาจากการเติบโตด้านการทหารของจีน ทำให้ชาติอาเซียนต่างเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารมากขึ้นเพื่อปกป้องเส้นทางขนส่ง ท่าเรือ และเขตแดนทางทะเล ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ
ประเทศสิงคโปร์เองก็เพิ่งจัดซื้อเรือฟรีเกต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวของประเทศเล็ก ๆ ที่เป็นเกาะแห่งนี้ หรือกระทั่งฟิลิปปินส์ซึ่งไม่เคยซื้ออาวุธมานานก็กำลังมองหาเรือฟรีเกตติดระบบจรวดทันสมัยเพื่อใช้ลาดตระเวนน่านน้ำ การเซ็นสัญญาซื้อเฮลิคอปเตอร์ติดอุปกรณ์เตือนภัยล่วงหน้าในการบินลาดตระเวนน่านน้ำจากค่ายยุโรป และจากกรณีการสะสมอาวุธเพิ่มขึ้นของประเทศคู่กรณีกับจีน อย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์อาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ประเทศอื่นๆ ต้องสะสมอาวุธเพิ่มตามเพื่อนบ้านอาเซียนซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนยังขาดความไว้ใจกัน และอาจทำให้เกิดปรากฎการณ์ “หวาดระแวงของความมั่นคง” (Security Dilemma) อย่างไม่ตั้งใจได้ และนั่นก็หมายถึงอุปสรรคต่อการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารของอาเซียนในอนาคต

สุดท้ายสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังอยู่ในช่วงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่กันอย่างมากมาย ผนวกกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนในภูมิภาคและความไม่ไว้วางใจของ สมาชิกอาเซียนที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบทางจิตวิทยา ก่อให้เกิดความกังวล ความหวาดระแวงด้านความมั่นคง และอาจทำให้ความสมดุลทางอำนาจในภูมิภาคสั่นคลอนได้ ดังนั้น สิ่งที่อาเซียนและประเทศสมาชิกสามารถทำได้เพื่อช่วยบรรเทาความหวาดระแวงคือ การสร้างช่องทางให้เกิดการสื่อสารที่ดีระหว่างกันในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน โดยผ่านกลไกต่างๆ ของอาเซียนที่มีอยู่ อาทิ การประชุม ADMM และการประชุม ASEAN Summit เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้ง การสร้าง ฐานข้อมูลกลางรวบรวมข้อมูลและเปิดเผยงบประมาณทหารของแต่ละประเทศสมาชิกที่อาจช่วยบรรเทาความกังวลได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ย่อมขึ้นอยู่กับสมาชิกอาเซียนเองด้วยว่าจะมีมาตรการจัดการกับผลกระทบทางจิตวิทยานี้อย่างไร เพื่อไม่ให้การสะสมอาวุธกลายเป็นสถานการณ์การแข่งขันสะสมอาวุธจนนำไปสู่การเกิดสงครามดังเช่นประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
 

© 2017 Office of the Council of State.