BANNER

ไทย - เวียดนาม หารือแนวทางส่งเสริมการค้ารูปแบบทวิภาคี


 ข่าวในประเทศ      21 Apr 2022

  


เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๕ ประเทศไทยและเวียดนามได้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ครั้งที่ ๔ ที่กรุงเทพ ซึ่งเป็นการทบทวนผลการดำเนินงานความร่วมมือด้านการค้านับตั้งแต่ที่ได้มีการจัดประชุมครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๖๑ โดยการประชุมในครั้งนี้ได้มีการพิจารณาแนวทางและแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการค้ารูปแบบทวิภาคี โดยมีเป้าหมายให้มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นเป็น ๒๕ พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมในปี ๒๕๖๔ ที่มีมูลค่า ๑๘.๘ พันล้านเหรียญสหรัฐ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าเวียดนามเป็นพันธมิตรที่มีความสำคัญของไทยในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศเวียดนามจึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นสำหรับประเทศไทย และขอขอบคุณรัฐบาลเวียดนามและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้กำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับบริษัทและองค์กรของประเทศไทย พร้อมทั้งขอให้เวียดนามอำนวยความสะดวกสำหรับสินค้าผ่านแดนภายใต้ข้อตกลงที่ลงนามภายในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและกรอบอาเซียน ซึ่งรวมถึงสินค้าประเภทไก่และผลไม้บางชนิดที่ได้รับอนุญาตของไทย และยาที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ยังได้หารือเรื่องการขยายความร่วมมือด้านแรงงานภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงแรงงานของทั้งสองประเทศอีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ได้กล่าวถึงข้อริเริ่ม มาตรการ และการดำเนินการ
ที่เป็นรูปธรรมในที่ประชุม และกระตุ้นให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ารูปแบบทวิภาคีควบคู่ไปกับการจัดทำความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ภายในอาเซียน รวมถึงกรอบความร่วมมือระดับพหุภาคี และระดับภูมิภาคอื่น ๆ


นอกจากนี้ สาระสำคัญของการประชุม ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะประสานการดำเนินงานร่วมกันอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในกิจกรรมการนำเข้าและส่งออกระหว่างสองประเทศเพื่อให้ได้รับประโยชน์ทางการค้าร่วมกันและสมดุลมากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันเรื่องความเชื่อมโยงในด้านการเกษตร การเชื่อมโยงการขนส่ง และการลงทุน รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือสำหรับกลไกระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี เช่น อาเซียน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) การประชุมเอเชีย - ยุโรป (ASEM) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง และองค์การการค้าโลก (WTO) นอกจากนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาดที่มีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงที่จะกระชับความร่วมมือ ยกระดับความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) และข้อตกลงการค้าเสรีในกรอบ ASEAN Plus โดยมุ่งเน้นที่มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า ขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เสริมสร้างความโปร่งใสเพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดการไหลเวียนของสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการประสานการค้าภายในอาเซียนและห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคภายหลังการเกิดโรคระบาด

ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าและตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามในอาเซียน และอยู่ในลำดับที่ ๙ ของการจัดลำดับการลงทุนจากต่างชาติในเวียดนาม ทั้งสองประเทศมีศักยภาพที่จะยกระดับการค้าระหว่างกันในด้านต่าง ๆ เช่น การขนส่ง การเงิน การธนาคาร การเกษตร และการลงทุน รวมทั้งยังเป็นสมาชิกของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ด้วย การหารือแนวทางส่งเสริมการค้าร่วมกันในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายการผลิตระดับภูมิภาคเพื่อการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ข่าววันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๕ จากเว็บไซต์ Ministry of Industry and Trade of The Socialist Republic of Vietnam เข้าถึงได้ที่  https://moit.gov.vn/en/news/ministerial-leaders-activities/vietnam-thailand
-discuss-ways-for-promoting-bilateral-trade.html
 

 

© 2017 Office of the Council of State.