BANNER

เอเปคผลักดันการบูรณาการระดับภูมิภาค การเชื่อมโยง และความยั่งยืน


 ข่าวต่างประเทศ      03 Mar 2022

  


       
       
       เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจากประเทศสมาชิก ๒๑ ประเทศผลักดันการทำงานของเอเปคเพื่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การเชื่อมโยงภายในภูมิภาค และสร้างความยั่งยืนสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตตามแนวทางการประชุมเอเปค ค.ศ. ๒๐๒๒ ภายใต้แนวคิดการประชุมที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล

          ในระหว่างการประชุมเจ้าหน้าอาวุโสครั้งแรกของปี ค.ศ. ๒๐๒๒ ประเทศสมาชิกเอเปคได้หารือแนวทางการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ภายหลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ การเปิดพรมแดนในภูมิภาคเพื่อการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย ตลอดจนการสำรวจโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (bio-circular-green: BCG)
          นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค
กล่าวว่า ในปี ค.ศ. ๒๐๒๑ ประเทศสมาชิกได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก  อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของประเทศสมาชิกเป็นประเด็นสำคัญ ขณะเดียวกันยังคงมีโอกาสสำหรับการสร้างความร่วมมือ และทำให้ภูมิทัศน์เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเกิดความท้าทายขึ้น โดยเฉพาะความท้าทายจากการระบาดของไวรัสโควิด – ๑๙  นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำการปรับปรุงการทำงานเพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การจัดการประเด็นปัญหาด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเห็นว่าเป็นประเด็นที่จำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาร่วมกัน

          ด้านคณะกรรมาธิการการค้าและการลงทุนของเอเปคได้หารือเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก และการฟื้นฟูหลังสถานการณ์การระบาด โดยกำหนดให้มีการประชุมในวันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๒ ส่วนการเจรจาระหว่างภาครัฐและเอกชนจะอยู่ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบการประชุมด้านการค้า ซึ่งจะจัดประชุมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๒๒ ได้รับความร่วมมือจากสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค
          ประเทศสมาชิกเอเปคได้เน้นย้ำความสำคัญของการค้าซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นให้มีการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งแก่บทบาทของระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนหลัก
          ประธานฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำคัญของการประชุมเอเปคโดยชี้ให้เห็นว่าจะสามารถสร้างผลลัพธ์สำคัญของการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ ๑๒ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๒๐๒๒ รวมถึงประเด็นด้านการค้า สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเกษตร การอุดหนุนการประมง และการปฏิรูปองค์การการค้าโลก
          นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงภาคบริการในภูมิภาคผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและแผนงานด้านการแข่งขันของภาคบริการเอเปค โดยเน้นย้ำให้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับภาคบริการ ตลอดจนการหารือเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
          ตามรายงานของหน่วยสนับสนุนนโยบายเอเปคชี้ให้เห็นว่า เอเปคมีส่วนแบ่งด้านการส่งออกบริการ
ในตลาดโลกลดลงจากร้อยละ ๓๘.๘ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๖ เป็นร้อยละ ๓๘.๑ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ซึ่งหมายความว่าเอเปคได้ลดวิถีการดำเนินธุรกิจและต้องเพิ่มการส่งออกของภาคบริการเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งของภาคส่วนดังกล่าวในตลาดโลกให้ได้ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ เนื่องจากภาคบริการมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยสามารถสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจและอัตราการจ้างงานสูง เอเปคจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างแรงผลักดันเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่สภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและสามารถคาดการณ์ได้ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าถึงตลาดบริการ

          อย่างไรก็ดี เพื่อขับเคลื่อนวาระด้านความยั่งยืนของเอเปค ได้มีการเสนอการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่จะช่วยส่งเสริมความพยายามในการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม กลไกส่งเสริมความยั่งยืนของเอเปคให้มีการกระจายงาน ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจุดเริ่มต้นความก้าวหน้าของวาระความยั่งยืนให้มีการดำเนินการอย่างบูรณาการและครอบคลุม
          ทั้งนี้ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งแรกของปีและจะมีการจัดประชุมอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย


ข่าวประจำวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๕
แปลและเรียบเรียงจาก https://www.apec.org/press/news-releases/2022/apec-propels-regional-integration-connectivity-and-sustainability
 

© 2017 Office of the Council of State.