BANNER

เวียดนามเริ่มทำการศึกษากฎหมายสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency)


 ข่าวต่างประเทศ      03 May 2021

  


          เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๒๑ กระทรวงการเงินเวียดนามได้จัดตั้งคณะวิจัยทำการเริ่มต้นศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrencies) เพื่อปฏิรูปกฎหมายสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ เนื่องจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลและการใช้สกุลเงินดิจิทัลกำลังได้รับความนิยมทั่วโลก แต่กฎหมายปัจจุบันของเวียดนามยังไม่มีการกล่าวถึงการทำธุรกรรมดังกล่าว
          การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะวิธีการชำระเงินที่เปลี่ยนรูปแบบเป็นสังคมไร้เงินสดมากยิ่งขึ้น การใช้แอพลิเคชัน การใช้รหัสคิวอาร์ (QR codes) และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallets)  นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ส่งเสริมให้มีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามรับรองนโยบาย เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๗ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการทำธุรกรรมด้วยเงินสดลงร้อยละ ๙๐ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ในประเทศมีชาวเวียดนามกว่าหนึ่งล้านคนหันมาใช้สกุลเงินดิจิทัล โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น ๓๐ เท่าภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ และเป็นตลาดที่จะสร้างกำไรได้สูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
          อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มมีการรายงานอาชญากรรมที่จากการใช้สกุลเงินดิจิทัลในประเทศได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีทั้งการลักสกุลเงิน การยึด และการหลอกลวงทางไซเบอร์ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๘ บริษัท Modern Tech ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพได้หนีหายไป หลังจากหลอกลวงผู้คนกว่าสามหมื่นคนที่ลงทุนในโครงการสกุลเงินดิจิทัลและการระดมทุน (Iinitial Coin Offerings: ICO) ทำให้ผู้ลงทุนสูญเสียเงินไปกว่า ๖๖๐ ล้านเหรียญสหรัฐ  ดังนั้น การใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อจัดการกับสินทรัพย์เสมือนจริง (virtual assets) และการกำหนดขอบเขตการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล จึงเป็นความท้าทายสำหรับเวียดนามเป็นอย่างยิ่ง
          ปัจจุบันเวียดนามยังไม่มีมาตรการรองรับต่อการเกิดขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลในประเทศ เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก โดยสภาพของสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่มีรูปร่างได้สร้างความท้าทายต่ออำนาจการจัดการของรัฐ โดยเฉพาะการควบคุมระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารของรัฐไม่ใช้อำนาจเพื่อจัดการได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้สร้างข้อกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องการเก็งกำไรและการจัดการระบบที่อาจส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ  นอกจากนี้ ความผันผวนของสกุลเงินดิจิทัลและการขาดความรู้ความเข้าใจอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการตรากฎหมายเพื่อบังคับใช้ ซึ่งเป็นประเด็นทางกฎหมายที่สามารถพบได้ทั่วโลก
          กฎหมายของเวียดนามไม่ได้บัญญัติให้สกุลเงินดิจิทัลมีฐานะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการใช้จ่าย และสกุลเงินดิจิทัลยังไม่ได้รับการยอมรับในฐานะของสินทรัพย์หรือสกุลเงินต่างประเทศ โดยธนาคารของรัฐยังคงกำหนดให้ Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลอื่นเป็นสิ่งผิดกฎหมายและไม่ได้รับรองการทำธุรกรรมทางการค้าด้วย Bitcoin การใช้ การจัดหา และการออกสกุลเงินดิจิทัลในประเทศยังคงเป็นความผิด โดยมีโทษจำคุกและปรับสูงสุด ๘,๗๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ  อย่างไรก็ตาม การถือครอง การซื้อขาย และการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลก็ไม่ได้มีการอนุญาตหรือห้ามมิให้ดำเนินการ แต่เป็นการปล่อยมีอยู่ในเวลานี้เท่านั้น และไม่ว่าในกรณีใดช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าวมีความเสี่ยง  ดังนั้น เพื่อลดผลเสียอันเกิดจากการใช้สกุลเงินดิจิทัล จึงจำเป็นที่เวียดนามจะต้องเร่งดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมาย
          คณะวิจัยที่ทำการศึกษาประเด็นดังกล่าวได้กำหนดขอบเขตเบื้องต้นที่จะทำการศึกษาดังนี้
          ๑. ทำความเข้าใจอุตสาหกรรมของสกุลเงินดิจิทัล
          ๒. แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบันเพื่อยอมรับสถานะของสกุลเงินดิจิทัล
          ๓. สร้างกฎระเบียบที่โปร่งใส สามารถคาดการณ์ได้ และมีประสิทธิภาพ
          ๔. สร้างกฎหมายเพื่อรองรับความผันผวนของตลาดสกุลเงินดิจิทัล แม้ Bitcoin จะเป็นข้อกังวลหลักของรัฐบาล เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน แต่ตลาดสกุลเงินดิจิทัลจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องและทำให้มีสกุลเงินอื่นเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
          ๕. แนะนำการปรับโครงสร้าง โดยก่อตั้งหน่วยงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้านขึ้นเพื่อเป็นกลไกหลักในการติดตามตลาดสกุลเงินดิจิทัล และกำกับดูเงื่อนไขของตลาด การเกิดขึ้นของสกุลเงินใหม่ และเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการตอบสนองต่อความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
          ๖. แนะนำเครื่องมือสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ อำนาจในการออก ระงับ หรือเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อควบคุมการดำเนินธุรกิจและรายงานกิจกรรมที่ต้องสงสัย
          ๗. เสนอการค้นคว้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น
          ทั้งนี้ ผลประโยชน์โดยรวมในระยะยาวของกฎระเบียบที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้นมีหลายประการ โดยประการแรก กฎระเบียบดังกล่าวจะช่วยสร้างโอกาสสำหรับเวียดนามที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งอาจอยู่ในขอบเขตของภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีบุคคลธรรมดา โดยกำหนดให้การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลเป็นการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศหรือสินทรัพย์ทางการเงิน นอกจากนี้ การควบคุมสกุลเงินดิจิทัลในเวียดนามควรเน้นที่การจัดการปัญหาฉ้อโกงและการละเมิดกฎหมายเกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การฟอกเงิน การโจรกรรม รวมถึงการจัดหาเงินทุนเพื่อกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นตัวอย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่นมีการบังคับใช้มาตรการตั้งแต่ปี ค.ศ.๒๐๑๗ เพื่อระบุตัวตนผู้ใช้สกุลเงินดิจิทัล โดยตลาดหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้มีการตรวจสอบและบันทึกข้อมูลประจำตัวของลูกค้า และเก็บบันทึกการทำธุรกรรม ซึ่งคณะวิจัยอาจศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงจากกรณีดังกล่าวได้
          ประการที่สอง กฎหมายควบคุมสกุลเงินดิจิทัลจะช่วยจัดการความต้องการของรัฐบาลเกี่ยวกับคำสั่งด้านการเงิน โดยรับรองความปลอดภัยและความมั่นคงของตลาดสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงคุ้มครองเศรษฐกิจของประเทศจากความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกัน จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายที่เข้มเข็งเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดสกุลเงินดิจิทัล และทัศนคติของรัฐบาลที่มีต่อสกุลเงินดิจิทัลจะเปลี่ยนจากการให้คำแนะนำและคำเตือนมาเป็นการป้องกันในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น
          ประการสุดท้าย กฎหมายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและยืดหยุ่นสำหรับผู้ลงทุนในตลาดสกุลเงินดิจิทัลและภาคธุรกิจ กรอบการดำเนินงานเชิงรุกควรสร้างบรรยากาศที่ดึงดูดการแลกเปลี่ยนและมีความปลอดภัยมากกว่าการมุ่งควบคุมสกุลเงินดิจิทัล แม้นักลงทุนบางรายอาจถอนการลงทุนในประเทศไป เนื่องจากการที่รัฐบาลเข้มงวดต่อการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น แต่เวียดนามควรให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความชัดเจนของระบบกฎหมาย

ข่าวประจำวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔
เรียบเรียงจาก https://www.aseanbriefing.com/news/vietnam-to-start-regulating-cryptocurrencies/

© 2017 Office of the Council of State.