ประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดทำเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือการจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด- ๑๙ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มภายใต้กรอบการดำเนินงานการฟื้นฟูอาเซียนที่ครอบคลุม โดยอาเซียนได้รับรองแนวทาง (Guildline) เพื่อสนับสนุนการตอบสนองและการฟื้นฟูเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศสมาชิกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙
แนวนโยบายดังกล่าวสนับสนุนประเทศสมาชิกในการพัฒนาแผนงานระดับชาติและระดับภูมิภาคและมุ่งเน้นให้มีการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าทางถนนที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน โดยประเทศสมาชิกจะมีการจัดทำข้อแนะนำสำหรับการตอบสนองต่อวิกฤตการแพร่ระบาดในขอบเขตที่สำคัญ ๓ ด้านเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการขนส่งข้ามพรมแดนในภูมิภาค ได้แก่ ๑) ความปลอดภัยและการฝึกอบรมผู้ทำงานด้านการขนส่ง ๒) รักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่น และ ๓) ปรับปรุงความเชื่อมโยงของระบบขนส่งผ่านระบบดิจิทัล และทำให้เป็นเส้นทางที่ปราศจากคาร์บอนภายใต้กรอบการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตลอดจนการดำเนินการที่สำคัญดังนี้
๑. จัดหมวดหมู่นโยบายสำหรับตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – ๑๙ ที่เกี่ยวข้องกับ
การเชื่อมโยงการขนส่งและการฟื้นตัว
๒. เสนอหลักการเพื่อการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและมาตรการ
๓. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกลไกการสื่อสารที่ทันต่อสถานการณ์เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
๔. จัดทำข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างเครื่องมือติดตามและตรวจสอบที่ทันต่อสถานการณ์เพื่อตรวจวัดประเมินผลกระทบของการแทรกแซงนโยบายที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงด้านทางขนส่ง ความสามารถ และการฟื้นตัว
แนวทางดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การการขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Forum: ITF) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) แนวทางการฟื้นฟูอาเซียนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – ๑๙ สำหรับการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นในการฟื้นตัวและยั่งยืนที่ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน (ASEAN Senior Transport Officials Meeting: STOM) เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ในการนี้ เลขาธิการอาเซียนได้ให้ความเห็นว่าแนวทางดังกล่าวสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการปรับปรุงเสถียรภาพการขนส่งสินค้าทางถนนในภูมิภาคให้มีความยืดหยุ่นในการฟื้นตัวในระยะยาวและเป็นการเตรียมความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับการดำเนินการตามกรอบการดำเนินการฟื้นฟูอาเซียนที่ครอบคลุมซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินงานของอาเซียนหลังการแพร่ระบาดของโควิด - ๑๙ โดยเฉพาะการฟื้นฟูด้านการเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาค สำหรับความร่วมมือกับองค์การการขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ในการพัฒนาแนวนโยบายได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูภูมิภาค
ด้านนาย Chhieng Pich ประธานที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียนและอธิบดีกรมขนส่ง กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ประเทศกัมพูชาได้กล่าวเพิ่มเติม โดยเห็นว่าการปฏิบัติตามแนวนโยบายดังกล่าวเป็นการสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการกำหนดแผนฟื้นฟูการเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางถนนระดับภูมิภาคและระดับประเทศจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด – ๑๙ ซึ่งความร่วมมือของอาเซียนในการปรับปรุงการขนส่งสินค้าทางถนนในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้นมีความสำคัญ และภาคการขนส่งได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อวิกฤตการระบาดด้วยการพัฒนาแนวทางดังกล่าวขึ้น ภาคการขนส่งอาเซียนยินดีที่จะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามแนวทาง
นาย Young Tae Kim เลขาธิการองค์การการขนส่งระหว่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่องค์การการขนส่งระหว่างประเทศมีส่วนร่วมเพื่อให้การขนส่งสินค้าทางถนนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไปอย่างราบรื่น และช่วยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสร้างความยืดหยุ่นในการฟื้นตัวได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างภาคการขนส่งที่ยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย สำหรับประเด็นด้านความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการอาเซียนและคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิกภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวมีความโดดเด่นและเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศสามารถส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนได้
ในตอนท้ายของการประชุม Armida Salsiah Alisjahbana เลขานุการคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิกได้กล่าวถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงภาคการขนส่ง และชื่นชมความพยายามของภูมิภาคอาเซียนในการทำให้ภาคการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด - ๑๙ ยังคงดำเนินการได้ ในขณะเดียวกันได้ตระหนักว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกต้องดำเนินการมากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ นอกจากนี้ แนวทางของอาเซียนยังปูแนวทางสำหรับอนาคตเพื่อการเชื่อมโยง ยืดหยุ่น และยั่งยืน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิกเห็นว่าความริเริ่มดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของภูมิภาค
แนวทางในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ และการฟื้นฟูภูมิภาคเป็นส่วนหนึ่งของความริเริ่มภายใต้การดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูอาเซียนที่ครอบคลุม ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓ สามารถเข้าถึงแนวทางได้ที่ https://asean.org/storage/asean-covid-19-guidelines.pdf
ข่าวประจำวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔
สรุปความจาก https://asean.org/road-freight-asean-new-covid-19-response-recovery-guidelines/