คณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (the commission on Narcotic Drugs: CND) มีมติถอดถอนกัญชาออกจากบัญชีสารเสพติดที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตตามตาราง ๔ ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ (1961 Single Convention on Narcotic Drugs) ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับกัญชาและอนุพันธ์ที่ได้มีการเสนอเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. ๒๐๑๙ โดยเสนอว่าสารสกัดจากกัญชาที่มีแคนนาบินอยด์ (Cannabidiol: CBD) ร้อยละ ๒ หรือต่ำกว่าเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล(Tetrahydrocannbinol) ไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมยาเสพติด ซึ่งประเด็นดังกล่าวมีการหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ในขณะที่ประเทศสมาชิกบางประเทศไม่เห็นด้วยกับข้อแนะนำดังกล่าว โดยเห็นว่าสารแคนนาบินอยด์ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมจึงไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินการใด ๆ และได้ขอเวลาศึกษาและทบทวนประเด็นปัญหาและผลกระทบอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม คศ. ๒๐๒๐ คณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ(the Commission on Narcotic Drugs: CND) จึงได้มีมติถอดถอนกัญชาออกจากสารเสพติดที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต โดยประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติจำนวน ๕๓ ประเทศได้ลงมติ ๒๗ ต่อ ๒๕ คะแนนเสียงให้นำกัญชาออกจากสารเสพติดประเภทอันตรายร้ายแรงที่ได้มีการกำหนดไว้มาเป็นเวลานานถึง ๕๙ ปี ทำให้ไม่สามารถใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้ การลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนกัญชาออกจากสารเสพติดประเภทดังกล่าวจะช่วยผลักดันการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสรรพคุณทางการแพทย์ของกัญชาและช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ได้พิจารณากฎหมายเพื่อใช้กัญชาในขอบเขตที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งสารสกัดจากกัญชาได้ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและก่อให้เกิดอุตสาหกรรมหลายพันล้านดอลลาร์ โดยปัจจุบันมีมากกว่า ๕๐ ประเทศที่นำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ในขณะที่ประเทศแคนาดา อุรุกวัย และ ๑๕ มลรัฐของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อกิจกรรมนันทนาการได้ และในขณะนี้ประเทศเม็กซิโกและลักเซมบิร์กอยู่ระหว่างการพิจารณาให้มีการใช้กัญชาเพื่อกิจกรรมดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ภายหลังจากการลงคะแนนเสียง ประเทศสมาชิกได้กล่าวแสดงท่าทีเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยประเทศเอกวาดอร์สนับสนุนข้อแนะนำขององค์กรอนามัยโลก และสนับสนุนให้มีการผลิต ขาย และใช้กัญชาภายใต้กฎระเบียบที่กำหนด ในขณะเดียวกัน ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้ถอดถอนกัญชาออกจากประเภทสารเสพติดอันตรายร้ายแรงห็นว่า แม้จะมีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงสรรพคุณของกัญชาในทางการแพทย์ แต่กัญชายังคงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและควรที่จะได้รับการควบคุมภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาเสพติดต่อไป
ขณะที่ประเทศชิลีซึ่งลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับการถอดถอนกัญชาออกจากบัญชีสารเสพติดอันตรายร้ายแรงเห็นว่า การใช้กัญชามีส่วนสัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสของการเป็นโรคซึมเศร้า ภาวะบกพร่องทางสมอง ความวิตกกังวล และอาการทางจิตอื่น ๆ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่เห็นว่าการใช้กัญชาอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพและสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน
ด้านความเคลื่อนไหวของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๓ กำหนดยกเลิกส่วนของกัญชาและกัญชงดังต่อไปนี้ออกจากการเป็นยาเสพติดประเภทที่ ๕
- เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก
- ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
- สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก
- กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก
- เมล็ดกัญชง (hemp seed ) น้ำมันจากเมล็ดกัญชง (hemp seed oil) หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง (hemp seed extract )
ทั้งนี้ จะต้องเป็นส่วนจากพืชกัญชาหรือพืชในสกุลเดียวกันที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศเท่านั้น
เข้าถึงประกาศกระทรวงได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/290/T_0033.PDF
ข่าวเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
เรียบเรียงจาก https://news.un.org/en/story/2020/12/1079132