BANNER

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เฝ้าระวังโรคโควิด – ๑๙


 ข่าวต่างประเทศ      12 Jun 2020

  


          เครือข่ายการจัดการศึกษาอบรมด้านระบาดวิทยาอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Field Epidemiology Training Network: ASEAN+3 FETN) จัดการประชุมทางไกล (video conference) อย่างไม่เป็นทางการเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาการล่าสุดของมาตรการที่ใช้ในการจัดการกับการระบาดของโควิด – ๑๙ รวมถึงบทบาทสำคัญของนักระบาดวิทยาภาคสนาม      
          เครือข่ายการจัดการศึกษาอบรมด้านระบาดวิทยาอาเซียนบวกสามเป็นหน่วยงานภายใต้กลุ่มประเด็นสุขภาพอาเซียน ๒ ว่าด้วยการสนองตอบต่อภัยทุกชนิดและความเสี่ยงอุบัติใหม่ (ASEAN Health Cluster 2 on Responding to All Hazards and Emerging Threats) โดยประกอบด้วยโครงการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiology Training Programmes: FETP) ของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้      
          ประเทศมาเลเซียในฐานะของประธานเครือข่าย โดย ดร Thilaka Chinnayah ผู้แทนจากโครงการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยา (Epidemic Intelligence Program: EIP) และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียเป็นผู้นำการประชุม โดยมีสำนักประสานงานเครือข่ายการจัดการศึกษาอบรมด้านระบาดวิทยาอาเซียนบวกสามประจำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางไกลผ่านจอภาพในแพลตฟอร์มเพื่อการแบ่งปันความรู้
ประเทศจีน: เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ
          การประชุมทางไกล (video conference) อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๑ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ โดยมี ดร Ma Huilai ผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนามของประเทศจีนและ ดร Feng Luzhao หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อเฉียบพลันในระบบหายใจของศูนย์ควบคุมโรคประเทศจีน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของนักระบาดวิทยาผู้ผ่านการอบรมและผู้อบรมในโครงการที่มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ ในประเทศจีน
          นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแผนการเฝ้าระวังและการสอบสวนการระบาดของโรครวมถึงการใช้วิธีการดังกล่าวในการตอบสนองต่อการระบาดของโควิด – ๑๙ ในส่วนของการพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนามได้มุ่งเน้นที่การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติตามวิธีการสำคัญในการฝึกอบรมและการศึกษา รวมถึงการเพิ่มบุลคากรที่ทำงานด้านระบาดวิทยา
          ในระหว่างการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมได้แบ่งปันข้อมูลแผนการดำเนินงานภายในประเทศในประเด็นของการคลายมาตรการและการดำเนินกิจกรรมสาธารณะ รวมทั้งกล่าวถึงความสำคัญของการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการระบาดเพื่อบรรเทาผลกระทบในด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม ทั้งยังได้เน้นย้ำการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
          ในการนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคผ่านเครือข่ายการจัดการศึกษาอบรมด้านระบาดวิทยาอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 FETN) และแพลตฟอร์มด้านสุขภาพของอาเซียน


ประเทศกัมพูชา: นักระบาดวิทยาภาคสนามคือส่วนสำคัญ
          การประชุมทางไกลอย่างไม่เป็นทางการผ่านจอภาพ ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศกัมพูชาในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด – ๑๙ และการมีส่วนร่วมของนักระบาดวิทยาภาคสนามในการจัดการกับการระบาดในประเทศ
          ดร Yi Sengdoeun รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสุขภาพกัมพูชาได้กล่าวสรุปมาตรการและยุทธศาสตร์ที่ใช้ดำเนินการในกัมพูชา หากไม่นับรวมผู้ติดเชื้อใหม่ที่เดินทางเข้ามาในประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กัมพูชาจะไม่มีการพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาตั้งแต่วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๓
          ในส่วนของผู้ผ่านการอบรมและผู้อบรมในโครงการฝึกด้านระบาดวิทยาหรือโครงการฝึกอบรมระบาดวิทยาประยุกต์ (Applied Epidemiology Training Programme) ของกัมพูชามีส่วนร่วมในการตรวจคัดกรองและการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดแรกเข้า
          นอกจากนี้ หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการป้องกันและการควบคุมการระบาดในพื้นที่พรมแดนคือการทำงานของนักระบาดวิทยาในระดับจังหวัดและการมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับชุมชน

ประเทศมาเลเซีย: ระดมนักระบาดวิทยาและผู้ฝึกอบรม
          การประชุมเครือข่ายการจัดการศึกษาอบรมด้านระบาดวิทยาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๓ โดย ดร Hasrina Hassan ผู้ประสานงานโครงการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียได้แบ่งปันมาตรการด้านสาธารณสุขที่ใช้ดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ ในประเทศมาเลเซียนับตั้งแต่ช่วงที่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๓ และการระบาดทั้งสามระยะในมาเลเซีย รวมถึงการใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง (The Movement Control Order (MCO) ๕ ระยะ
          ดร Hassan ได้กล่าวว่า ร้อยละ ๙๐ ของนักระบาดวิทยาในมาเลเซียทั้งผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและผู้ฝึกอบรมในโครงการทั้งสามระดับ (ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง) ได้ถูกระดมมาเพื่อช่วยจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ ในประเทศ โดยมีส่วนร่วมในหลายภาคส่วนของระบบสาธารณสุขและได้กระจายไปยังรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศ
          สำหรับผู้ฝึกอบรมที่อยู่ในระดับพื้นฐานจะทำหน้าที่ในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการคัดกรอง ณ จุดแรกเข้า และทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข การตอบสนองฉุกเฉินและการจัดการผู้ป่วยหรือการประเมินความเสี่ยงและการสื่อสารความเสี่ยง ในขณะที่ผู้ฝึกอบรมในโครงการระดับกลางและสูงจะเป็นผู้นำในการจัดการ วางแผน ประสานงาน และติดตามตรวจสอบ
          นอกจากนี้ ดร Hassan ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้การดำเนินการอย่างต่อเนื่องของโครงการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาขั้นพื้นฐานไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด – ๑๙ แต่โครงการฝึกอบรมในระดับกลางประสบปัญหาความล่าช้าและการหารือเพื่อการกลับมาดำเนินการตามหลักสูตรปกติและขยายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
          ในการนี้ ดร Chinnayah ได้กล่าวเสริมว่า การประเมินความเสี่ยงและการสื่อสารความเสี่ยงที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาทบทวน โดยพิจารณาจากประสบการณ์ของนักระบาดวิทยาที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงการระบาดของโควิด – ๑๙
          ทั้งนี้ สำนักเครือข่ายการจัดการศึกษาอบรมด้านระบาดวิทยาอาเซียนบวกสามโดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการอาเซียนอยู่ระหว่างการประสานงานกับศูนย์เฝ้าระวังโรคของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อจัดการประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์กันต่อไปในอนาคต

แปลและเรียบเรียงจาก: https://asean.org/asean-china-japan-korea-epidemiology-experts-share-disease-surveillance-experiences-covid-19/

© 2017 Office of the Council of State.