BANNER

อาเซียนกับการขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ: อุปสรรคจากโควิด – ๑๙


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      29 May 2020

  


 
         
          ด้วยเจตนารมณ์ของการสร้างประชาคม
อาเซียน (ASEAN Community) ที่มุ่งเน้นถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ภายใต้แผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) จึงกำหนดเป้าหมายของการเป็นประชาคมที่มีความครอบคลุมและมุ่งส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตในระดับสูง โดยขจัดความยากจนและความเหลื่อล้ำเพื่อสร้างการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคนในสังคม รวมทั้งส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มบุคคลชายขอบ ตลอดจนขจัดข้อกังวลภายในประชาคมอันเกี่ยวกับการให้สวัสดิการ การคุ้มครองทางสังคม หลักสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศ[1] ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เป้าหมายที่ ๑ ว่าด้วยการยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ด้วยการดำเนินมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมถึงกลุ่มยากจนและกลุ่มเปราะบางของประเทศ และเป้าหมายที่ ๑๐ ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศด้วยการใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของบุคคล และความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ[2] จึงนำมาซึ่งการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

          แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศอยู่ในฐานะของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประสบปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง ดังจะเห็นได้จากดัชนีชี้วัดความยากจนในหลายมิติประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๙ (The 2019 Global Multidimensional Poverty Index)[3] พบว่า เมียนมาและกัมพูชาเป็นประเทศที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุดในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีประชากรที่มีความยากจนมากกว่าร้อยละ ๓๕ ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประเทศไทยและอินโดนีเซียมีอัตราอยู่ที่ร้อยละ ๐.๘ และ ๐.๗ ตามลำดับ[4]   นอกจากนี้ ในด้านเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีความแตกต่างกันอย่างเด่นชัด ดังจะเห็นได้จากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (Gross Domestic Products Per Capita: GDP Per Capita) โดยในปี ค.ศ. ๒๐๑๘ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรสูงที่สุดในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีมูลค่าอยู่ที่ ๖๔,๕๖๗ ดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยประเทศบรูไนที่มีมูลค่า GDP Per Capita อยู่ที่ ๓๐,๖๔๕ ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เมียนมามีมูลค่า GDP Per Capita อยู่ที่ ๑,๒๔๙ ดอลลาร์สหรัฐ[5] ซึ่งความเหลื่อมล้ำภายในประเทศสมาชิกและความแตกต่างกันของฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกเป็นความท้าทายสำคัญยิ่งต่ออาเซียนที่จะลดช่องว่างดังกล่าวเพื่อพัฒนาสู่การเป็นภูมิภาคที่มีความเจริญรุ่งเรือง โดยประชากรทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ดังเจตนารมณ์
          อย่างไรดี ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ประชาคมโลกประสบกับภาวะการระบาดใหญ่ของโรคโควิด – ๑๙ (COVID – 19) ทำให้มีผู้ติดเชื้อ ๓,๘๖๒,๖๗๖ ราย และเสียชีวิต ๒๖๕, ๙๖๑ รายทั่วโลก[6] โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ติดเชื้อ ๕๔,๒๖๒ ราย และเสียชีวิต ๑,๘๐๔ ราย[7] ภาวะดังกล่าวไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของทุกคนเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลโดยตรงต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน บทความฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – ๑๙ ในภูมิภาคในฐานะของอุปสรรคสำคัญสำหรับอาเซียนในแง่ของการขจัดความยากจนและสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นภายในภูมิภาคตามเป้าหมายของประชาคม

ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็ม อาเซียนกับการขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ: อุปสรรคจากโควิด – ๑๙.pdf
 
            [1] ASEAN Socio-Cultural Blueprint 2025. (2016). Jakata: ASEAN secretariat. Retrieved May 8, 2020
            [2] United Nations. (2020, May 9). About the Sustainable Development Goals. Retrieved from Sustainable Development Goals: https://www.un.org/sustainabledevelopment/sustainable-development-goals/
            [3] จัดทำโดยโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Poverty and Human Development Initiative) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) พิจารณาจากตัวชี้วัดที่มีความหลากหลายยิ่งกว่าด้านการเงินหรือรายได้ โดยครอบคลุมด้านการศึกษา สุขภาพ และความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน รวมทั้งแสดงแง่มุมความยากลำบากและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความยากลำบาก ทั้งนี้ ได้ทำการประเมินเฉพาะประเทศกำลังพัฒนากว่า ๑๐๐ ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการประเมินทั้งสิ้น
๗ ประเทศ
            [4] Oxford Poverty & Human Development Initiative; United Nations Development Programme;. (2019). Global Multidimentional Poverty Index 2019. New York: United Nations Development Programme. Retrieved from https://reliefweb.int/sites/reliefweb.int/files/resources/mpi_2019_publication.pdf
            [5] The ASEAN Secretariat. (2019). ASEAN Key Figures 2019. Jakarta: The ASEAN Secretarait.
            [6] ข้อมูล ณ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ (World Health Organization. (2020, May 10). WHO Coronavirus Disease (COVID-19) Dashboard. Retrieved May 10, 2020, from World Health Organization: https://covid19.who.int/)
            [7] ข้อมูล ณ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ (ASEAN Biodiaspora Virtual Center. (2020, May 8). Risk Assessment for International Dissemination of COVID-19 to the ASEAN Region. Retrieved May 10, 2020, from ASEAN: https://asean.org/storage/2020/02/COVID-19_Report-of-ASEAN-BioDiaspora-Regional-Virtual-Center_8May2020.pdf)
 

© 2016 Office of the Council of State.