BANNER

ถ้อยแถลงร่วมการประชุมระดับสูงอาเซียน – สหรัฐอเมริกาว่าด้วยความร่วมมือในการรับมือ กับการแพร่ระบาดของ COVID - ๑๙


 ข่าวต่างประเทศ      16 Apr 2020

  


  • เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ ๒๕๖๓ ได้มีการจัดประชุมผ่านระบบ video conference ระหว่างคณะทำงานด้านสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน และคณะทำงานระหว่างหน่วยงาน
    ของสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างอาเซียน – สหรัฐฯ สำหรับการปฏิบัติการด้านการสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID – ๑๙
  • อาเซียน – สหรัฐอเมริกา ได้แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของประชาชนอันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID – ๑๙ และแสดงความขอบคุณบุคคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขที่เป็นด่านหน้า ยืนหยัดต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรค
  • ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันที่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการประสานงานเพื่อเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่าง COVID – ๑๙ และเพื่อให้มั่นใจว่าประชากรของทั้งสองฝ่ายกว่าหนึ่งพันล้านคน
    จะปลอดภัยและมีความเป็นอยู่ที่ดี
  • ที่ประชุมย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐบาล และระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีความสามารถในการป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อภัยคุกคามจากโรคติดเชื้อและ COVID – ๑๙  ทุกฝ่ายพึงตระหนักเสมอว่าสุขภาพของประชาชนเป็นรากฐานสำคัญของความเจริญและความมั่นคงของประเทศและภูมิภาค
  • ทั้งสองฝ่ายรับทราบและพึงพอใจต่อความพยายามของประเทศสมาชิกอาเซียนและสหรัฐฯ ในการดำเนินการแก้ปัญหาการระบาดของ COVID – ๑๙ อย่างต่อเนื่อง และยกย่องบทบาทการดำเนินงานเชิงรุกของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอาเซียน และสหรัฐฯ ตลอดจนมาตรการที่ดำเนินการโดยรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย
  • อาเซียน และสหรัฐฯ ยืนยันว่าหากมีความจำเป็นต้องจัดทำมาตรการฉุกเฉินเพื่อรับมือกับ COVID – ๑๙ ในระดับชาติ มาตรการเหล่านั้นจะต้องมีการกำหนดเป้าหมาย ได้สัดส่วน มีความโปร่งใส เป็นการชั่วคราว และไม่สร้างอุปสรรคหรือการหยุดชะงักทางการค้าที่ไม่จำเป็นซึ่งอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของโลก รวมทั้งเน้นย้ำความผูกพันร่วมกันที่จะจัดหาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าทางการเกษตร รวมถึงสินค้าและบริการที่สำคัญจำเป็นอื่น ๆ ข้ามพรมแดนเพื่อสนับสนุนการสาธารณสุขของประชาชนระหว่างกันอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง  ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญของความโปร่งใส และการเปิดเผย ในการแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์ในการรับมือกับ COVID – ๑๙ ทั้งที่เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ
  • สหรัฐอเมริกาแสดงความขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่พลเมือง
    ชาวสหรัฐฯ ที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศในช่วงวิกฤต
    COVID – ๑๙ และประเทศสมาชิกอาเซียน
    ได้ชื่นชมสหรัฐฯ ที่รายงานสถานการณ์ปัจจุบันแก่คณะทูตของอาเซียนเกี่ยวกับข้อมูลของมาตรการของ COVID - ๑๙ ในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับพลเมืองของอาเซียนอย่างสม่ำเสมอ และให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรค
  • ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับมาตรการในการประสานความร่วมมือระหว่างอาเซียน – สหรัฐฯ ในการป้องกันและควบคุม COVID – ๑๙ รวมถึงได้มีข้อเสนอที่จะขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับสหรัฐฯ ให้รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
    การร่วมศึกษาวิจัย และปฏิบัติงานในขอบเขตเรื่องการควบคุมการติดเชื้อ COVID – ๑๙  การเตรียมความพร้อมและการรับมือการระบาดของโรค การฝึกอบรมแพทย์และพยาบาล การยกระดับการวิจัยทางชีวเวชศาสตร์ สิ่งอำนวยความสะดวกในระบบห้องปฏิบัติการ การผลิตเวชภัณฑ์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานะล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการทางคลินิก การจัดหาชุดทดสอบ เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) การวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนสำหรับ COVID – ๑๙ การอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้าและเวชภัณฑ์ที่สำคัญจำเป็น ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการความเคลื่อนไหวด้านการค้า การบริการ การลงทุน ตามปกติ เพื่อบรรเทาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังได้แจ้งให้สหรัฐฯ ทราบถึงแผนการสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนพิเศษสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหา COVID – ๑๙ และการระบาดในอนาคต รวมถึงความเป็นไปได้ในการร่วมเป็นหุ้นส่วนกับประเทศพันธมิตรภายนอกอาเซียน และการเสริมสร้างกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคในประเด็นด้านการสาธารณสุข ในเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) วาระที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดเชื้อที่มีการระบาด
  • ประเทศสมาชิกอาเซียนแสดงความยินดีที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนองค์กรระดับพหุภาคีที่ต่อสู้กับ
    การระบาดของ
    COVID – ๑๙ ทั้งการที่สหรัฐฯ ระดมทุนสนับสนุนแก่ องค์กร WHO (มากกว่า ๔๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒) องค์กร UNICEF (มากกว่า ๗๐๐ ดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. ๒๔๖๒) และได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งอุปกรณ์ PPE แก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก นับแต่
    เริ่มการระบาดของ COVID – ๑๙   นอกจากนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้สมทบทุนจำนวน ๒๗๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพันธมิตรทั่วโลกต่อสู่กับสถานการณ์โคโรนาไวรัส
    ทั้งด้านความสามารถในห้องปฏิบัติการ การเฝ้าระวังโรค และการตอบสนองอย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้สนับสนุนให้สหรัฐฯ มีส่วนร่วมและส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะเดียวกันแก่อาเซียน
  • ด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน  ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความขอบคุณสหรัฐฯ ที่จัดหาเงินช่วยเหลือกว่า ๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID – ๑๙ โดยสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำความผูกพันของตนที่จะให้ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนเงินมากกว่า
    ๓.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา  และจะให้การสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งคือการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุขของอาเซียน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมไปแล้วจนถึงปัจจุบันจำนวน ๒,๔๐๐ คน อันเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างผู้วิจัยและบุคลากรด้านสาธารณสุขของอาเซียนและสหรัฐฯ  ทั้งนี้ หากประเทศสมาชิกอาเซียนต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สหรัฐฯ พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
  • ด้านการประสานความร่วมมือ  ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางที่จะประสานความร่วมมือระหว่างกัน
    มากขึ้นเพื่อรับมือกับ
    COVID – ๑๙  ทั้งความร่วมมือระดับสูง และความร่วมมือด้านการสาธารณสุข
    ในกรอบที่กว้างขึ้น ซึ่งรวมถึงการที่สหรัฐฯ เสนอให้มีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียน – สหรัฐฯ ผ่านระบบ video conference  นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังให้การสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียน และสำนักเลขาธิการอาเซียนในการพัฒนาโครงสร้างการควบคุมโรคทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความสามารถของระบบสาธารณสุขทั่วอาเซียน โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดการประชุม video conference ระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อติดตามและสำรวจความร่วมมือเพิ่มเติมในประเด็นนี้  ตลอดจน สหรัฐฯ ได้วางแผนที่จะขยายความร่วมมือกับภาคส่วนด้านสาธารณสุขของอาเซียนอย่างเป็นทางการ
    การมีส่วนร่วมในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (ASEAN Senior Officials' Meeting – SOM) และการประชุมระดับรัฐมนตรีของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาเซียน ตามความเหมาะสม
  • ท้ายที่สุดนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความหวังว่าความร่วมมือระหว่างกันจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่าย
    ด้านการสาธารณสุข และโดยการปฏิบัติงานของคณะทำงานของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
    ด้านการสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงผ่านกลไกการควบคุมด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเพื่อรับมือจากผลกระทบของ
    COVID – ๑๙ และเพื่อคุ้มครองสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองฝ่าย
  • การประชุมดังกล่าว มีนาย Nguyen Quoc Dzung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียน (SOM) ผู้นำสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนาย David Stilwell ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ ประจำอาเซียน (SOM) เป็นประธานร่วม   พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมฝ่ายอาเซียน ได้แก่ คณะทำงานประสานงานอาเซียนด้านการสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้ง เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (SOM) เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) คณะกรรมการอาวุโสอาเซียนด้านสังคมวัฒนธรรม (SOCA)  ประธานคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (CPR) เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาสาธารณสุข (SOMHD) เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกลาโหม (ADSOM) เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการขนส่ง (STOM) ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและหัวหน้าฝ่ายกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศ (DGICM) ตลอดจน รองเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย   ผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายสหรัฐฯ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านสาธารณสุขสหรัฐฯ (Department of Health and Human Services - HHS) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention - CDC) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (United States Agency for International Development - USAID)

ข่าว ณ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓
เรียบเรียงจาก
https://asean.org/co-chairs-statement-asean-united-states-high-level-interagency-video-conference-cooperation-counter-covid-19/

© 2017 Office of the Council of State.