BANNER

อินโดนีเซียเรียกร้องให้อาเซียนจัดการประชุมสมัยพิเศษ เรื่อง COVID - ๑๙


 ข่าวต่างประเทศ      13 Apr 2020

  


อินโดนีเซียเรียกร้องให้อาเซียนจัดการประชุมสมัยพิเศษ เรื่อง COVID - ๑๙
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสการที่ประชาคมอาเซียนขาดเวทีหารือร่วมกันถึงการรับมือกับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส สะท้อนถึงการบูรณาการระดับภูมิภาคและความเป็นเอกภาพของประเทศสมาชิกอาเซียน อินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในห้าประเทศผู้ก่อตั้งประชาคมอาเซียน ได้เรียกร้องให้มีการจัดประชุมสมัยพิเศษ เรื่อง COVID - ๑๙ เพื่อหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การรับมือกับ COVID - ๑๙  ในระดับภูมิภาค  แนวคิดการพัฒนาประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘  ได้กล่าวว่าอาเซียนจะพัฒนาไปอย่าง “มีเอกภาพทางการเมือง มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจ มีความรับผิดชอบต่อสังคม”  อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - ๑๙  มีผู้แสดงข้อคิดเห็นว่าอาเซียนมีความจำเป็นต้องการคาดการณ์ถึงการระบาดในระดับภูมิภาค และคำนึงถึงยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมในระดับภูมิภาค ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์การบูรณาการประชาคมอาเซียน  ขณะนี้ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตระหนักถึงความท้าทายของการระบาดในพื้นที่ เนื่องจากพบจำนวนผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค โดยประเทศสมาชิกต่างใช้วิธีดำเนินการที่แตกต่างกันในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส ไม่ว่าจะรูปแบบของการกักกันเพื่อสังเกตการเริ่มป่วย (quarantines) การปิดเมือง (lockdowns) การปิดชายแดน (border closures) หรือการห้ามเดินทาง (travel bans)  พร้อมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อยับยั้งผลกระทบจาก COVID - ๑๙    
เมื่อวันอังคารที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เจ้าหน้าที่อาวุโสจาก ๑๐ ประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ได้ร่วมกันหารือเรื่องการจัดการด้านสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายใต้กรอบการทำงานของคณะทำงานประสานงานอาเซียน (ACCWG) ผ่านระบบ video link  โดยอินโดนีเซียกล่าวในที่ประชุมถึงประเด็นที่ว่าได้เวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องจัดการประชุมทางไกล ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการต่อสู้กับไวรัสที่ขณะนี้ มีผู้มีติดเชื้อมากกว่า ๑๐,๐๐๐ คนทั่วทั้งภูมิภาค
กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า “อินโดนีเซียมีความเชื่อว่าการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อสาธารณะ ธุรกิจ และนักลงทุน”
นาง Retno Marsudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ยังได้มีข้อเสนออย่างไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับการจัดการประชุมสมัยพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านสาธารณสุขระดับโลก แก่ประเทศเวียดนามผ่านนาย Pham Binh Minh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนาย Achmad Rizal Purnama เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะที่เวียดนามเป็นประธานอาเซียนในปีนี้
ขณะนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ในขั้นตอนของการจัดตั้งกองทุน ASEAN COVID - ๑๙ ซึ่งเงินสมทบกองทุนดังกล่าวจะถูกจัดสรรมาจากกองทุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา รวมถึงจากสหรัฐอเมริกาที่ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบเงินช่วยเหลือมูลค่า ๑๘.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดำเนินการในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
อินโดนีเซียกล่าวว่าการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จากกลุ่มประเทศคู่เจรจาอาเซียนบวกสาม ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ซึ่งจะช่วยให้การลดผลกระทบจาก COVID - ๑๙ บรรลุผลสำเร็จยิ่งขึ้น
COVID - ๑๙ เกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่เกาหลีใต้ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกสำหรับมาตรการควบคุมการระบาดของโรคผ่านโปรแกรมการตรวจสอบผู้ป่วยระยะเริ่มต้นที่มีขนาดใหญ่
ความริเริ่มดังกล่าวของอินโดนีเซียมีความสำคัญ หลังจากที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนได้ประกาศเมื่อกลางเดือนมีนาคมว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำหนดไว้ในวันที่ ๖ - ๙ เมษายน มีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนมิถุนายน  ซึ่งอินโดนีเซียยังคงหารือกับประเทศคู่เจรจาในอาเซียนถึงการกำหนดวาระการเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเรื่องการจัดการปัญหา COVID – ๑๙ โดยวิธีการประชุมสื่อสารทางไกล โดยได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวแก่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนที่ซึ่งกำลังสำรวจความเป็นไปในการจัดการประชุมรูปแบบดังกล่าว
นาย Ibrahim Almuttaqi จากโครงการ Habibie Center's ASEAN studies แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวว่า “การรวมกลุ่มระดับภูมิภาคเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID – ๑๙ มีความซบเซา โดยมีแนวคิด nation-first เข้ามาแทนที่  ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากความกังวลของสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายเผชิญ และหากพิจารณาถึงประเด็นเรื่องโศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวม (tragedy of the commons) หากทุกคนปฏิบัติตนอย่างมีอิสระ คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน จะยิ่งบั่นทอนสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น”
Randy Nandyatama นักวิชาการอาวุโสจากศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัย Gadjah Mada แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวโดยเปรียบเทียบว่าเป็น “การล่ากวาง” ซึ่งเป็นแนวคิดของทฤษฎีเกม ที่ขณะนี้ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องเลือกระหว่างการสร้างความร่วมมือเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ที่ดีในวงกว้าง หรือการอยู่อย่างปัจเจกดำเนินการให้ได้ผลที่ดีขึ้นทีละน้อย  และมีความหวังว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะมองหากวางที่จะทำให้ผลลัพธ์ที่ดีเกิดขึ้นได้โดยการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน และตระหนักว่าวิกฤติครั้งนี้จะเกิดขึ้นในระยะยาว และต้องการความสามารถในการเป็นผู้นำ ท้ายที่สุด เขายังแสดงให้เห็นว่าอาเซียนไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาค แต่อาเซียนจะใช้วิธีสร้างกลไกใหม่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ อาทิ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชียในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และจัดตั้งกลไกดังกล่าวขึ้นหลังจากปี พ.ศ. ๒๕๔๓  นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีแนวโน้มที่จะใช้กระบวนทัศน์ด้านความมั่นคงแก้ไขปัญหาเมื่อเผชิญกับความท้าทายในระดับภูมิภาค อีกด้วย”

ข่าว ณ วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓
เรียบเรียงจาก
https://www.thejakartapost.com/seasia/2020/04/02/asean-unity-in-doubt-as-indonesia-calls-for-special-covid-19-summit.html  

© 2017 Office of the Council of State.