BANNER

หน่วยงานด้านสาธารณสุขอาเซียนสนับสนุนความร่วมมือเพื่อการตอบสนองต่อการแพร่ระบาด ของไวรัสโควิด – ๑๙


 ข่าวต่างประเทศ      10 Mar 2020

  


          ๒ เดือนหลังจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด - ๑๙ ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หน่วยงานด้านสาธารณสุขของอาเซียนมีการตอบสนองด้วยการสนับสนุนความร่วมมือเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสในภูมิภาคอาเซียนและประเทศอื่น ๆ
          รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนจากประเทศกัมพูชาและในฐานะของประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาเกี่ยวกับสุขภาพจะจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสุขภาพ ในวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ โดยเป็นการประชุมทางไกลผ่านทางจอภาพ (video conference) เพื่อติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับการตอบสนองต่อปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ การประชุมดังกล่าวจะมีการทบทวนและประเมินผลความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมในระดับภูมิภาค การใช้ยุทธศาสตร์และมาตรการตอบโต้ซึ่งได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ได้รับรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อในประเทศจีนเมื่อช่วงต้นปี
          นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับความท้าทายและช่องว่างด้านการป้องกันและการควบคุมระหว่างประเทศ รวมถึงความพยายามร่วมกันในภูมิภาค ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการอย่างเร่งด่วนผ่านกลไกความร่วมมือด้านการสาธารณสุขของอาเซียนสำหรับหุ้นส่วนเพื่อการเจรจาและการพัฒนา
          หนึ่งในกลไกดังกล่าวคือความร่วมมือด้านการสาธารณสุขของอาเซียนบวกสาม โดยเป็นกลไกที่ใช้ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ ซึ่งจะได้ดำเนินการตามความตกลงที่เกี่ยวข้องในแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๘ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยได้มีการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะใช้ความพยายามในการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation: IHR) และยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิกสำหรับโรคอุบัติใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกัน ตรวจสอบ และตอบสนองต่อภัยคุกคามสุขภาพของประชาชน
          สำหรับการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) และกลไกด้านสาธารณสุขอื่น ๆ หน่วยงานด้านสาธารณสุขของอาเซียนได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ด้วยการแบ่งปันข้อมูลและแลกเปลี่ยนทางเทคนิคระหว่างกันอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙  นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินอาเซียน (ASEAN Emergency Operations Centre: EOC) เพื่อปฏิบัติการด้านการสาธารณสุขฉุกเฉินเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ได้มีการนำมาใช้โดยความร่วมมือด้านการสาธารณสุขของอาเซียนบวกสาม เพื่อการจัดการปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙
          กลไกอื่น ๆ เกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรคและการระบาดของโรค ได้แก่ การประเมินความเสี่ยงและการสื่อสารความเสี่ยง รวมถึงเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการและการตอบสนองด้านสาธารณสุข
          สำหรับประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักภายใต้เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินอาเซียนได้มีการแบ่งปันภาพรวมข้อมูลด้านสาธารณสุขและแลกเปลี่ยนทางเทคนิค และเป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านทางจอภาพ โดยให้การสนับสนุนความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในระดับภูมิภาคที่สำคัญ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางเกี่ยวกับการจัดการผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด - ๑๙ ในทางเทคนิค
          ประเทศฟิลิปปินส์ในฐานะของผู้ประสานงานหลักของศูนย์ข้อมูลชีวภาพเสมือน (ASEAN Bio Diaspora Regional Virtual Centre: ABVC) ได้มีการจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – ๑๙ โดยรายงานดังกล่าวได้มีการนำเสนอข้อมูลสำคัญและภาพรวมสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ ในอาเซียนและทั่วโลก โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด - ๑๙ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของการแพร่ระบาดของไวรัส และได้จัดทำเว็บเพจเพื่อเผยแพร่ข้อมูลความพยายามของหน่วยงานด้านสาธารณสุขอาเซียนในการป้องกัน การตรวจสอบและการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – ๑๙ ซึ่งสามารถเข้าดูได้ที่ https://asean.org/?static_post=updates-asean-health-sector-efforts-combat-novel-coronavirus-covid-19
          ข้อมูล ณ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด – ๑๙ จำนวน ๑๐๙,๖๐๐ ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๔,๓๐๐ ราย โดยในประเทศจีนมีผู้ป่วย ๘๑,๐๓๓ ราย เสียชีวิตแล้ว ๓,๖๑๔ ราย (รวมผู้เสียชีวิตในฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน) และมีผู้ติดเชื้อในอีก ๑๐๑ ประเทศทั่วโลก โดยในอาเซียนพบผู้ติดเชื้อใน ๗ ประเทศ


แปลและเรียบเรียงจาก https://asean.org/asean-health-sector-sustains-cooperation-responding-covid-19/

© 2017 Office of the Council of State.