BANNER

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียนประชุมหารือวิธีการบูรณาการ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล


 ข่าวต่างประเทศ      14 Feb 2020

  


           เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Mine Action Center: ARMAC) จัดประชุมเรื่องแนวทางปฏิบัติและการบูรณาการการศึกษาความเสี่ยงในการเก็บกู้และกำจัดระเบิดจากสงครามสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งสำคัญของโครงการวิจัยและให้คำปรึกษาประจำปีที่จัดขึ้นโดยศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียน (ARMAC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมือญี่ปุ่น – อาเซียน (Japan Integration Integration Fund: JAIF)
       นาย Vu Quang Minh ประธานคณะกรรมการและเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำกัมพูชากล่าวเปิดการประชุมด้วยการขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นในการให้ความสนับสนุนโครงการ และกล่าวขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนสำหรับความร่วมมือ ตลอดจนกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ณ เมืองญาจาง ประเทศเวียดนาม ซึ่งที่ประชุมได้แสดงถึงการสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียน
            ด้านนาย Prak Sokhonn รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและรัฐมนตรีต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกล่าวเสริมว่ากัมพูชาได้รับการสนับสนุนจากความก้าวหน้าของการส่งเสริมความเข้มแข็งของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียน
       นาย Minh เอกอัครราชทูตเวียดนามได้เน้นย้ำให้ผู้เข้าร่วมการประชุมร่วมกันใช้ความพยายามส่งเสริมขีดความสามารถของอาเซียนเพื่อจัดการปัญหาทุ่นระเบิดและการเก็บกู้ระเบิดจากสงครามอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง
       ในการนี้ นาย Mitori Naoki ผู้แทนจากญี่ปุ่นและกองทุนความร่วมมือญี่ปุ่น – อาเซียนในฐานะเจ้าหน้าที่กงสุลญี่ปุ่นประจำเมืองเสียมราฐได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของญี่ปุ่นในด้านการจัดการทุ่นระเบิดในอาเซียน และเน้นย้ำว่าญี่ปุ่นจะเป็นหุ้นส่วนกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการปัญหาดังกล่าวผ่านการสนับสนุนด้านการเงิน การจัดหาอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งกล่าวถึงความพยายามของอาเซียนในการส่งเสริมสันติภาพและการสร้างความร่วมมือด้านการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับภูมิภาค
       ด้านนาย Ly Panharith กล่าวเกี่ยวกับผลการศึกษาของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียน ที่สนับสนุนความพยายามในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Risk Education: MRE) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบูรณาการเรื่องอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน ระดมเครือข่ายอาสาสมัคร และกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ เช่น แอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์ ตลอดจนใช้วิธีการสร้างสรรค์อื่น ๆ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
       ภายใต้การประชุมระดับภูมิภาคได้มีการเปิดตัวนิตยสารฉบับใหม่ของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นนิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวของการศึกษาความเสี่ยงเกี่ยวกับการจัดการทุ่นระเบิดแบบบูรณาการในอาเซียนและการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยสามารถอ่านได้ที่ https://aseanmineaction.org/resources/magazine
       นาย Prum Sophakmongkol เลขาธิการสำนักปฏิบัติการทุ่นระเบิดและช่วยเหลือผู้เสียหายแห่งกัมพูชาได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ทำให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียนได้พัฒนาและบูรณาการความร่วมมือด้านอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล รวมถึงการดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งภูมิภาคอาเซียน
       การกวาดล้างทุ่นระเบิดที่ตกค้างอยู่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาค ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาอย่างยาวนานเพื่อกำจัดและทำลายทุ่นระเบิดที่คงเหลืออยู่ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน นอกเหนือจากกระบวนการกวาดล้างทุ่นระเบิดแล้วยังต้องใช้อาศัยมาตรการในการคุ้มครองและสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนให้หลีกเลี่ยงพื้นที่อันตรายและอาวุธสงคราม


       แปลและเรียบเรียงจาก https://asean.org/armac-discusses-integrated-approach-mine-risk-education/

© 2017 Office of the Council of State.