BANNER

การประชุมหารือของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) เรื่องการปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ ของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและ ความเชื่อ


 ข่าวต่างประเทศ      23 Jan 2020

  


ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ได้จัดการประชุมเรื่องการปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ ของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ ณ เมือง Nusa Dua เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วย
สิทธิมนุษยชนอินโดนีเซีย (AICHR Indonesia) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (Office of High Commissioner of Human Rights: OHCHR) เป็นเจ้าภาพร่วม

Ms. Yuyun Wahyuningrum ผู้แทนอินโดนีเซียใน AICHR กล่าวเปิดการประชุมและเน้นย้ำว่า มาตรา ๒๒ ของ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration: AHRD) ได้รวมถึงเสรีภาพในการฝึกอบรมบ่มเพาะศาสนาหรือความเชื่อ ไม่ว่าสำหรับปัจเจกชน ชุมชน และทั้งที่กระทำในที่ส่วนตัวหรือ ในที่สาธารณะซึ่งต้องสามารถกระทำได้โดยปราศจากความหวาดกลัวจากการถูกข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การถูกโจมตี หรือการเลือกปฏิบัติ และกล่าวว่าเสรีภาพเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมได้อย่างเสรี สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นพหุสังคม สังคมที่ยอมรับความแตกต่าง รวมถึงสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
Mr. Faizal Chery Sidharta ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้ย้ำถึงความพยายามของอาเซียนที่ตระหนักถึงความเป็นกลางทางสังคม การเคารพความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์ รวมถึงการส่งเสริมค่านิยมร่วมเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวท่ามกลางความหลากหลาย และได้กล่าวถึงการจัดให้มีแนวทางที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบในอาเซียน
นอกจากนี้ Dr. Siti Ruhaini Dzuhayatin อดีตเจ้าหน้าที่พิเศษของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อความยุติธรรม มหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิสลาม Sunan Kalijaga Yogyakarta ได้เสนอแนวทางประสานร่วมมือเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในสังคมพหุวัฒนธรรม และความหลากหลายทางสังคมของอาเซียน
การประชุมตลอดช่วงสองวันครึ่งเป็นการอภิปรายหัวข้อต่าง ๆ ทั้งสิ้น 8 หัวข้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของอาเซียนในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการด้านเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อในอาเซียน รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๖๖ คน ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียน หน่วยงานภาคประชาสังคม  องค์กรศาสนา มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ของอาเซียน โดยได้หารือร่วมกันถึงความท้าทายในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพการนับถือศาสนาและความเชื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระทบ โอกาส ยุทธศาสตร์การดำเนินการ ตลอดจนบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และแนวปฏิบัติที่มีอยู่ของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับช่องทางการร้องเรียนและการเยียวยาต่าง ๆ
และในตอนท้ายของการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ภาษากลางสำหรับการจัดทำความร่วมมือและการปฏิบัติการต่าง ๆ ในบริบทภูมิภาคอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามมาตรา ๒๒ ของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration: AHRD) และเสนอแนะให้คำนึงถึงการเคารพต่อข้อผูกพันของรัฐ การปกป้องส่งเสริมเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อโดยไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการแบ่งแยกเช่นเดียวกับมุมมองเรื่องเสรีภาพทางเพศ รวมถึงจำเป็นต้องต่อต้านทัศนคติลบ แนวคิดที่ไม่ยอมรับความแตกต่าง และต่อต้านการประณามบุคคลที่อยู่บนพื้นฐานเรื่องศาสนาหรือความเชื่อ
ข่าว ณ วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒  
เรียบเรียงจาก https://asean.org/2019-aichr-consultation-implementation-article-22-asean-human-rights-declaration-freedom-religion-belief/

© 2017 Office of the Council of State.