BANNER

อาเซียนและอินเดียแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ


 ข่าวต่างประเทศ      10 Oct 2019

  


           ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวแทนประเทศจากอินเดียและอาเซียนได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเกี่ยวกับการใช้ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ[1] และเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง
       ในการประชุมได้มีการกล่าวถึงดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศสิงคโปร์ และอธิบายว่าดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองเป็นเครื่องมือในการประเมินและติดตามความก้าวหน้าเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
       ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพจะแสดงผลคะแนนของเมืองต่าง ๆ โดยใช้ตัวชี้วัด ๒๓ ข้อซึ่งวัดจากความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่นและบริการของระบบนิเวศที่จัดทำขึ้น โดยความหลากหลายทางชีวภาพและการบริหาร และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ        ในการนี้ นาย Leong Chee Chiew หัวหน้าคณะผู้บริหารระดับสูงของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์ (National Parks Board of Singapore) กล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ว่า “กิจกรรมนี้เกิดขึ้นได้เนื่องมาจากการตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่จะต้องสอดคล้องกับธรรมชาติเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
        การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีสำนักงานอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพร่วมกับศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Center for Biodiversity: ACB) และหน่วยงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติของประเทศอินเดีย (National Biodiversity Authority: NBA) โดยมีการหารือถึงความร่วมมือระหว่างศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและหน่วยงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของอินเดียเกี่ยวกับการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินการตามพิธีสารนาโกยาว่าด้วยเรื่องการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์ (Nagoya Protocol on Access and Benefit-Sharing) ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองและแผนยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการส่งเสริมขีดความสามารถภายใต้ความร่วมมืออาเซียน – อินเดีย และการสนันบสนุนทางการเงินโดยกองทุนอาเซียน - อินเดีย
       ด้านนาย Vinod Bahari Mathur ประธานหน่วยงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศอินเดียที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียน ๙ ประเทศ และตัวแทนจากเมืองต่าง ๆ ของอินเดีย ๗ เมือง โดยกล่าวแสดงความชื่นชมถึงความพยายามของสิงคโปร์ในการสร้างพื้นที่สีเขียวและเสนอให้ประเทศต่าง ๆ ควรศึกษาและเรียนรู้แนวปฏิบัติจากสิงคโปร์  นอกจากนี้ ตามที่ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาในระหว่างการประชุมมีการให้ข้อมูลว่าเมืองที่มีการปลูกต้นไม้เป็นจำนวนมากมักจะมีอากาศเย็นกว่าเมืองที่ปลูกต้นไม้น้อยกว่าถึง ๓ องศาเซลเซียสและในขณะเดียวกัน ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีการปลูกต้นไม้จำนวนมากก็จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีในการจัดการกับความท้าทายในแต่ละวัน
       ความพยายามในการพัฒนาดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์ องค์การสหประชาชาติ และคณะทำงานเฉพาะด้านในระดับนานาชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งความมุ่งมั่นดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓

       ด้านนาง Lena Chan ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างประเทศของสำนักงานอุทยานแห่งชาติสิงคโปร์ได้กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองแล้วกว่า ๓๐ ประเทศทั่วโลก


แปลและเรียบเรียงจาก https://businessmirror.com.ph/2019/10/07/india-asean-exchange-practices-in-applying-city-biodiversity-index/
 
[1] ตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองเป็นเครื่องมือสําหรับการประเมินตนเอง (self-assessment tool)
ในกิจกรรมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง ประกอบด้วยส่วนสําคัญ ๒ ส่วน ได้แก่ ๑) ลักษณะของเมือง และ ๒) ตัวชี้วัดของดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพของเมือง ซึ่งแบ่งเป็น ๓ องค์ประกอบหลัก ได้แก่
๑. ความหลากหลายทางชีวภาพพื้นถิ่นในเมือง ตัวชี้วัดที่ ๑-๑๐ (native biodiversity in the city) ๒. บริการระบบนิเวศของเมือง ตัวชี้วัดที่ ๑๑-๑๔ (ecosystem services provided by the city) และ ๓. การบริหารจัดการความหลากหลาย
ทางชีวภาพในเมือง ตัวชี้วัดที่ ๑๕-๒๓ (governance and management of biodiversity in the city)

© 2017 Office of the Council of State.