เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ อาเซียนได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหารือเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลทางสถิติในระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการจ้างงานนอกระบบเพื่อสนับสนุนการทำงานที่มีคุณค่า ณ เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
ในการประชุมมีตัวแทนจากกระทรวงแรงงานและสำนักงานสถิติของประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุม โดยได้หารือเกี่ยวกับวิธีการ ตัวชี้วัด และกระบวนการในการปรับปรุงข้อมูลที่จะมีการเปิดตัวเร็ว ๆ นี้
ในการนี้ นาย Michael Tene รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมและการบริหารกล่าวเปิดประชุม โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการจ้างงานนอกระบบเพื่อการพัฒนานโยบายที่มีหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลรองรับในภูมิภาค รวมถึงได้แสดงออกถึงความคาดหวังในการจัดทำฐานข้อมูลการจ้างงานนอกระบบของอาเซียนที่จะสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกสามารถจัดการกับความท้าทายของการจ้างงานนอกระบบและประกันการทำงานที่ดีสำหรับทุกคนภายใต้การประชุมได้มีการติดตามรายการศึกษาของภูมิภาคเกี่ยวกับสถิติการจ้างงานนอกระบบเพื่อสนับสนุนงานที่ดีในอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคของแถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนการทำงานภาคไม่เป็นทางการสู่การจ้างงานอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการทำงานที่ดีในอาเซียน (Vientiane Declaration on Transition from Informal Employment to Formal Employment towards Decent Work Promotion in ASEAN)
ฐานข้อมูลของภูมิภาคและรายงานสถิติการจ้างงานนอกระบบเพื่อการสนับสนุนการทำงานที่ดีในอาเซียนจะมีการเผยแพร่เร็ว ๆ นี้ที่เว็บไซต์ของอาเซียน นอกจากนี้ ได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนการทำงานภาคไม่เป็นทางการสู่การจ้างงานอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการทำงานที่ดีในอาเซียน ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขจัดแรงงานบังคับหรือการเกณฑ์แรงงาน การใช้แรงงานเด็กและการใช้ความรุนแรงในสถานที่ทำงาน รวมถึงการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติ โดยเลือกเพศ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกันและการแบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ รวมถึงวิธีการต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการประเมินปัจจัย ลักษณะพิเศษและสภาพแวดล้อมของการจ้างแรงงานนอกระบบในบริบทของประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการวางนโยบายและกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบเป็นการจ้างงานอย่างเป็นทางการในทุกภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และภายใต้แถลงกาณณ์ดังกล่าวยังได้กำหนดให้มีการพัฒนาขีดความสามารถและการแบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการจ้างงาน การพัฒนาทักษะ และการคุ้มครองแรงงาน เช่น การให้คำปรึกษา รวมถึงการใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงงานที่เหมาะสมหรือการเข้าถึงโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะและสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับแรงงาน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่เท่าเทียมและยั่งยืนในอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการฝึกอบรมและการศึกษาทางอาชีพและเทคนิค (Technical and Vocational Education and Training : TVET) รวมถึงการบูรณาการเรื่องแรงงานเข้ากับนโยบายและโครงการระดับชาติที่ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจ ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม และรูปแบบธุรกิจรูปแบบอื่น ๆ โดยขยายการเข้าถึงข้อมูลของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องบริการทางการเงินและโอกาสในการเข้าถึงตลาด นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรนายจ้างและองค์กรแรงงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนจากการจ้างงานนอกระบบเป็นการจ้างงานในระบบ