เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) แห่งสิงคโปร์และสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ร่วมกันเปิดตัวแผนการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติระยะ ๓ ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งแผนปฏิบัติการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ระยะที่ ๒ (Disaster Risk Financing and Insurance Phase 2: ADRFI-2) เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถจัดการความเสี่ยงและถ่ายโอนความเสี่ยงทางการเงินอันเนื่องมาจากภัยพิบัติได้
จากความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนในระยะแรก แผนปฏิบัติการฉบับใหม่ได้วางกรอบยุทธศาสตร์เป็น ๓ เสาหลัก ได้แก่ ข้อมูลความเสี่ยง (ข้อมูลความเสี่ยงและการประเมินผล) การสร้างขีดความสามารถทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง
ในการนี้ นายณัฏฐวุฒิ ธรรมศิริ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการคลัง ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะประธานกรรมการประสานงานระหว่างประเทศอาเซียนมีความยินดีต่อการเปิดตัวแผนปฏิบัติการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ระยะที่ ๒ (ADRFI-2) และประกาศโครงการที่ดำเนินการควบคู่กับแผนปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนและสถาบันจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยางของสิงคโปร์ (NTU Singapore’s Institute of Castastrope Risk Management) ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานที่มีความสำคัญและได้รับการรับรองจากการประชุมรัฐมนตรีการคลังของอาเซียน ครั้งที่ ๕ และผู้ว่าการธนาคารกลางเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่จังหวัดเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินและการประกันภัยในอาเซียน การเปิดตัวแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้จัดขึ้นภายใต้การประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ ๑๐ ของสถาบันการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของมหาวิทยาลัยหนานหยางของสิงคโปร์ ณ ศูนย์จัดแสดงนิทรรศการมารีนาเบย์แซนส์ (Marina Bay Sands)
ด้านนาย Alladin Rillo รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กล่าวว่าแผนปฏิบัติการระยะที่ ๒ นี้จะเป็นการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อสร้างขีดความสามารถที่จำเป็นสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน และได้กล่าวเสริมว่าเลขาธิการอาเซียนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจึงต้องมีการติดตามการทำงานอย่างจริงจังสำหรับการจัดการความเสี่ยงทางการเงินของภูมิภาคด้วยการปกป้องดุลการคลังของประเทศสมาชิกในระยะยาว ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องมีความเข้าใจว่าผลประโยชน์ของความเสี่ยงทางการเงินอันเนื่องมาจากภัยพิบัตินั้นเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
นอกจากนี้ อาจารย์ Louis Phee จากมหาวิทยาลัยหนานหยางได้เน้นย้ำว่าความท้าทายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นมีหลายแง่มุม และความสามารถทางการเงินของประเทศต่าง ๆ ในการจัดการและยุทธศาสตร์ในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างครอบคลุมจะช่วยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถบริหารจัดการผลกระทบที่รุนแรงอันเกิดภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศ นอกจากนี้จะได้ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของมหาวิทยาลัยหนานหยางในเรื่องของความเป็นเลิศด้านการวิจัยในการพัฒนานวัตกรรม ความสามารถในการจัดการ และการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีของประเทศเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิก
สำหรับการลดความเสี่ยงอย่างครอบคลุมและโครงการเกี่ยวกับความยืดหยุ่นทางการเงิน ๓ เสาหลักภายใต้แผนปฏิบัติการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ระยะที่ ๒ นั้นได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลความเสี่ยงและการประเมินผลที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดภัยธรรมชาติ แพลตฟอร์มดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนในการใช้ข้อมูลและเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อประเมินความความเสียหายของทรัพย์สินที่สำคัญ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการป้องกัน การระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และการพัฒนาแนวทางเพื่อจัดการความเสี่ยงทางการเงินของเมืองพิเศษ
โครงการต่อมาคือการจัดตั้งเครือข่ายที่ปรึกษา ซึ่งจะประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียนองค์กรระหว่างประเทศ และหุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือในการออกแบบเครื่องมือและวิธีการถ่ายโอนความเสี่ยง ซึ่งทั้งสองโครงการแรกจะได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยหนานหยางของสิงคโปร์ และโครงการที่สามสำนักเลขาธิการอาเซียนจะเป็นผู้จัดการเองโดยตรง ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการที่จะมีผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้านจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม ซึ่งจะครอบคลุมหัวข้อที่เกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติและการแก้ไขปัญหาทางการเงินอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารเงินและการถ่ายโอนความเสี่ยงให้เข้ากับนโยบายภายในประเทศได้
แปลและเรียบเรียงจาก https://asean.org/launched-asean-disaster-risk-financing-insurance-phase-2/