หน้าแรก
เกี่ยวกับเรา
แนะนำอาเซียน
ข่าวต่างประเทศ
ความตกลง
APSC
AEC
ASCC
ASEAN PLUS
บทความ
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน
บทความวิชาการ
งานวิจัย
กฎหมายน่ารู้
ติดต่อเรา
ความเคลื่อนไหวของประเทศสมาชิกต่อการรวมตัวเป็นประคมอาเซียน กัมพูชา
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
22 Sep 2016
PDF VERSION
::
cambodia-jan-2016.pdf
ความเคลื่อนไหวของประเทศสมาชิกต่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน : กัมพูชา
เกริ่นนำ
กัมพูชามีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom of Cambodia) ด้วยเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับวัฒนธรรมและประเพณีที่คล้ายคลึงกับไทย และจำนวนประชากร 15.7 ล้านคน ซึ่งกว่าร้อยละ 70.0 เป็นวัยแรงงานที่มีค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งนโยบายการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนโดยเฉพาะจากไทยสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจการผลิตและการท่องเที่ยวกันอย่างต่อเนื่อง และในโอกาสที่รวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปีนี้ กัมพูชามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศคือ สมเด็จฮุน เซน โดยดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี
การเมืองการปกครอง
กัมพูชามีระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 14 ว่าพระมหากษัตริย์กัมพูชาต้องเป็นสมาชิกของราชวงศ์ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 30 ปีและต้องสืบสายสันติวงศ์มาจาก นักองค์ด้วง กษัตริย์นโรดมหรือกษัตริย์ศรีสวัสดิ์เท่านั้น พระมหากษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบัน (Head of State) คือ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุณี(Preah Karuna Preah Bat Samdech Preah Boromneath Norodom Sihamoni) ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2547 และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน
กัมพูชามีพรรคการเมืองสำคัญ 3 พรรค ได้แก่ (1)พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party: CPP) หัวหน้าพรรคคือ สมเด็จเจีย ซิม รองหัวหน้าพรรคคือ สมเด็จฮุน เซน (2) พรรคฟุนซินเปค (National United Front for an Independent, Neutral, Peaceful and Cooperative Cambodia: FUNCINPEC) หัวหน้าพรรคคือ นายเชียว พุธ รัศมี และ (3) พรรคสม รังสี (Sam Rainsy Party: SRP) หัวหน้าพรรคคือ นายสม รังสี ทั้งนี้ จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party: CPP) ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ จึงทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคเดียวได้ จึงทำให้สมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกสมัย
รัฐสภาของกัมพูชาเป็นระบบสภาคู่ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร ( National Assembly) ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 120 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยทางตรงและลับ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 123 คน และมีสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์เป็นประธานผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา (Senate) ที่มีสมาชิกมากสุดไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ โดยเลือกจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจำนวน 2 ราย โดยเปรียบเทียบ 2 ราย และสมาชิกที่เหลือมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี (ปัจจุบันมีสมาชิก 61 คน ) และมีสมเด็จ เจีย ซิม เป็นประธานวุฒิสภา
กัมพูชาแบ่งเขตการปกครองเป็น 20 จังหวัด ได้แก่ (1) กระแจะ (2) เกาะกง (3) กันดาล (4) กัมปงจาม (5) กัมปงชนัง (6) กัมปงทม (7) กัมปงสะปือ (8) กัมปอต (9) ตาแก้ว (10) รัตนคีรี (11) พระวิหาร (12) พระตะบอง (13) โพธิสัต (14) บันเตียเมียนเจย (15) เปรเวง (16) มณฑลคีรี (17) สตึงเตรง (18) สวายเรียง (19) เสียมเรียบ (20) อุดรมีชัย แต่ละจังหวัดแบ่งการปกครองเป็นอำเภอ (Srok) และตำบล (Khum) นอกจากนี้ มีเขตการปกครองพิเศษเรียกว่า กรุง (Municipalities) อีก 4 กรุง ได้แก่ กรุงพนมเปญ กรุงสีหนุวิลล์ (กัมปงโสม) กรุงแกบ และกรุงไพลิน
ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดหรือกรุง จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกรุงกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดอีก 7– 9 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวาระของรัฐบาล ( 5 ปี ) เป็นผู้ปกครอง โดยจังหวัดจะแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นอำเภอ และตำบล ( เรียกเป็น “สะร๊อก” และ “คุ้ม”) ขณะที่กรุงจะแบ่งเขตการปกครองย่อยเรียกเป็น “คาน” และ “สังกัด” ทั้งนี้ หมู่บ้านหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นชุมชนย่อยลงไปจะเรียกว่า “ภูมิ”
กัมพูชากับอาเซียน
ในอดีตกัมพูชาเป็นประเทศที่สร้างความกังวลให้กับอาเซียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางอุดมการณ์และทางการเมืองในกัมพูชาอย่างรุนแรง แต่ภายหลังจากกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2542 กัมพูชาได้แสดงสิ่งที่สะท้อนถึงความร่วมมือและผลักดันให้เกิดเสถียรภาพและสันติภาพภายในภูมิภาค เช่น ในปี พ.ศ. 2545 ประเทศกัมพูชาได้รับตำแหน่งประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2545 ณ กรุงพนมเปญ ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดที่บาหลีประเทศอินโดนีเซียเพียง 3 สัปดาห์ จึงทำให้เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่บาหลี กลายมาเป็นวาระสำคัญในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยมีผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ผู้นำประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และผู้นำจากอินเดีย แอฟริกาใต้ร่วมด้วย รวม 15 ประเทศ มาร่วมประชุมเจรจาจนสำเร็จลุล่วง โดยการประชุมดังกล่าวมีประเด็นหลักคือ ปัญหาการก่อการร้ายที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยผู้นำอาเซียนได้ออกปฏิญญาต่อต้านการก่อการร้าย และจะร่วมมือระหว่างกันในการป้องกัน โดยจะดำเนินมาตรการร่วมกันในประเทศสมาชิกและประชาคมโลก ทั้งยังเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายประจำภูมิภาค พร้อมทั้งประณามการก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้ายที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และในเมืองซัมบวนกา และเกซอน ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้แสดงเจตจำนงอย่างเต็มที่ในการให้ความร่วมมือต่อประชาคมนานาชาติในการต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ
ในปี 2555 ประเทศกัมพูชาได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอีกครั้ง และในฐานะประธานอาเซียน ปี 2555 นี้ ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting (AMM) Retreat) ณ เมืองเสียมราฐ ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2555 กัมพูชาได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาในเมียนมา โดยสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมา หลังจากที่เมียนมามีการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยตามลำดับ รวมถึงสนับสนุนการรับประเทศติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนด้วย และเมื่อถึงวาระที่กัมพูชาจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 20 ประจำปี 2555 ณ กรุงพนมเปญ ในวันที่ 3-4 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นปีที่มีการฉลองครบรอบ 45 ปี อาเซียน ผู้นำกัมพูชาได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการสร้างความเข้มแข็งของกลไกในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค รวมทั้งป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจโลกในอนาคต และการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ประเทศที่ยากจนเช่นเมียนมา ไปจนถึงสิงคโปร์ที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก และเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างอินโดนีเซีย
ด้านเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของกัมพูชา รวมถึงโอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุนของไทยในระยะต่อไปจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวได้ว่า หลังจากกัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 2542 และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2547 เป็นต้นมา กัมพูชาสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ความสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อมุ่งขจัดความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท จะเห็นได้ว่ากัมพูชาสามารถลดสัดส่วนของประชากรยากจนลงจากร้อยละ 50.2 ในปี 2547 ลงมาที่ร้อยละ 17.7 ในปี 2551 และใกล้ที่จะยกระดับจากประเทศที่มีรายได้ต่ำไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้แล้ว
ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป สิ่งทอ และรองเท้า เข้ามาในกัมพูชา คือ
1) ปัจจัยด้านแรงงานที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ (ประมาณ 150 บาทต่อวัน) เป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและไม่ต้องการทักษะสูง
2) สิทธิประโยชน์ ทางการค้า เช่น การได้รับสิทธิพิเศษจากประเทศต่าง ๆ (Special Preferential Tariff) สิทธิพิเศษทางภาษี ศุลกากรจากประเทศที่พัฒนาแล้ว (GSP) โดยเฉพาะการส่งออกไปกลุ่มประเทศยูโร กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษสำหรับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด สามารถส่งออกสินค้าได้ทุกชนิดโดยไม่จำกัดจำนวน ยกเว้นอาวุธและยุทโธปกรณ์ (EBA) และการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) ทำให้สินค้าที่ส่งออกจากกัมพูชาสามารถแข่งขันได้
3) การเมืองเข้มแข็ง และมีเสถียรภาพ รัฐบาลพยายามสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีส่งเสริมการค้าและพัฒนา อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ทั้งหมด โดยได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับคนในชาติการเคลื่อนย้ายเงินทุนทำได้โดยเสรีมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินได้ระยะยาว (70 ปี)
4) มีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์และความมั่นคงแก่นักลงทุน ทั้งการถือครองสิทธิในทรัพย์สินและไม่ถูกบังคับจากนโยบายกำหนดราคาสินค้าและบริการ
5) การมีแหล่งท่องเที่ยว ที่เป็นมรดกโลกและสัญลักษณ์ของกัมพูชาที่เมืองเสียมเรียบ ที่ตั้งของนครวัด ซึ่งทำรายได้อย่างมากมาย ด้วยค่าใช้จ่ายต่อหัวที่ต่ำเพียงเฉลี่ย 90 ดอลลาร์ต่อคน/วัน ทำให้กัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาเยือนกัมพูชามากกว่า 4,500,000 คนในปี 2557 ที่ผ่านมา
โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการดึงดูดการลงทุน โดยเส้นทางคมนาคมภายในประเทศได้รับการปรับปรุงให้มีสภาพดีขึ้นด้วยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ มี เครือข่ายถนนกว่า 52,500 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางสำคัญที่เชื่อมโยงกับไทยและเวียดนามคือ (1) Central Subcorridor หรือ R1 ที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ-โฮจิมินห์ (2) Southern Coastal Sub-corridor หรือ R10 เส้นทางเลียบชายฝั่งด้านใต้เชื่อมระหว่าง กรุงเทพฯ-เกาะกง-นามกัน และ (3) Northern Sub-corridor หรือ R9 เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ กรุงเทพฯ-เสียมเรียบ-กุยเยิน ด้านการคมนาคมทางน้ำ กัมพูชามีท่าเรือสำคัญ 2 แห่ง คือ Phnom Penh Autonomous Port ท่าเรือแม่น้ำกลางกรุงพนมเปญ ที่สามารถเชื่อมต่อไปยัง Cai Mep Hub Port ในเวียดนาม เพื่อส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา และ Sihanoukville Autonomous Port ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึก แห่งเดียวของกัมพูชา ส่วนใหญ่ใช้ส่งสินค้าไปยังยุโรปโดยผ่านท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือในสิงคโปร์ สำหรับการ คมนาคมทางอากาศ ก็มีสนามบินเปิดให้บริการ 3 แห่ง คือ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียม เรียบ และสนามบินนานาชาติสีหนุ
โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจของกัมพูชามีพัฒนาการที่ดีมีการขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ โดยตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของกัมพูชามีการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.0 ต่อปี และยังมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า ภาคบริการการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร และภาคการก่อสร้าง และมีโอกาสที่จะได้รับการยกระดับจากประเทศที่มีรายได้ต่ำไปสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางในไม่ช้านี้
ปัจจัยดึงดูดการลงทุนที่สำคัญคือ การได้รับสิทธิพิเศษในการส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีการเมืองเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ รัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้าง และสนับสนุนการลงทุน ตลาดยังเปิดรับสินค้าไทยซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับความเชื่อถือในคุณภาพ พร้อมทั้งสื่อที่เข้าถึงคนกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนควรตระหนักก่อนเข้าลงทุนในกัมพูชาคือ กฎระเบียบภาครัฐโดยเฉพาะเรื่องภาษียังมีความ ไม่ชัดเจน เปลี่ยนแปลงบ่อย ภาษาที่เป็นอุปสรรคทางการสื่อสาร การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่ติดกับไทยจากผลตอบแทนที่สูงกว่า รวมทั้งค่าสาธารณูปโภคและต้นทุนขนส่งมีราคาสูง เป็นต้น
อ้างอิง
เขียน ธีระวิทย์ และสุณัย ผาสุข.
กัมพูชา ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมืองและการต่างประเทศ.
(กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543)
ธิบดี บัวคำศรี.
ชุด “อาเซียน” ในมิติประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กัมพูชา.
(กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2555)
อุดม เกิดพิบูลย์ .
กัมพูชาใหม่ วาระเศรษฐกิจและ การเมือง .
(เชียงใหม่ : คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551)
© 2017 Office of the Council of State.