BANNER

อาเซียนและญี่ปุ่นยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน


 ข่าวต่างประเทศ      04 Jun 2019

  


ภาพจาก asean.org
          เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๒ เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนและญี่ปุ่นร่วมการประชุมอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๓๔ ณ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยเน้นย้ำความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น และมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันในประเด็นต่าง ๆ
          ที่ประชุมแสดงความยินดีที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น รวมทั้งดำเนินการตามผลที่ได้จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน - ญี่ปุ่นในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปีของการเป็นคู่เจรจาเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยอาเซียนยอมรับบทบาทที่สำคัญของญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นกุญแจสำคัญทางการค้าและเป็นหุ้นส่วนด้านการลงทุนของอาเซียน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสนับสนุนของญี่ปุ่นเพื่อสร้างประชาคมอาเซียน
          ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อกระชับความร่วมมือที่หลากหลายตามที่ระบุไว้ในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น และแผนการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว ในประเด็นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจยังคงมีความสำคัญ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๖๕ (ASEAN-Japan 10-Year Strategic Economic Cooperation Roadmap 2012-2022) โดยมีเป้าหมายให้การค้าและการลงทุนเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ผ่านความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership) ที่ได้มีการลงนามแก้ไขเมื่อเร็ว ๆ นี้ และการขยายขอบเขตความร่วมมือ เช่น ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
          นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เน้นถึงความสำคัญของการส่งเสริมกฎเกณฑ์พื้นฐานของระบบการค้าแบบพหุภาคี และความต้องการที่จะสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ภายในปีนี้เพื่อส่งเสริมการค้าและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค อาเซียนและญี่ปุ่นมุ่งมั่นที่จะยกระดับความร่วมมือ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น เทคโนโลยี นวัตกรรม เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) พฤฒพลัง (Active Aging) และการทิ้งชิ้นส่วนพลาสติกลงทะเล ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นหุ้นส่วนที่เป็นผู้นำในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียนปี พ.ศ. ๒๕๖๘ (Master Plan for ASEAN Connectivity 2025)
          สำหรับอาเซียนได้แสดงความยินดีต่อการมีส่วนร่วมของญี่ปุ่นในการการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคเพื่อเสริมสร้างการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance) โดยกิจกรรมและโครงการเพิ่มเติมจะดำเนินการภายใต้กองทุนความร่วมมืออาเซียน - ญี่ปุ่น (Japan-ASEAN Integration Fund: JAIF) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและการติดต่อระหว่างประชาชน
          ในการนี้ เจ้าหน้าที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นและผลประโยชน์ร่วมกันในระดับภูมิภาค และตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี และเน้นความสำคัญของการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ เสรีภาพ และความปลอดภัยของการเส้นทางและน่านฟ้าเหนือทะเลจีนใต้  ในการหารือเรื่องยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก อาเซียนและญี่ปุ่นได้หารือเกี่ยวกับความสำคัญของการเปิดกว้างและแสดงความโปร่งใส การส่งเสริมความร่วมมือ การสนับสนุนหลักนิติธรรมและการเคารพความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-traditional security) โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการก่อการร้ายและอาชญากรรมไซเบอร์

แปลและเรียบเรียงจาก 
https://asean.org/asean-japan-strengthen-ties/

© 2017 Office of the Council of State.