BANNER

การลงนามพิธีสารการค้าระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น: นัยยะสำคัญต่อชาวฟิลิปปินส์


 ข่าวต่างประเทศ      18 Mar 2019

  


ภาพจาก: https://www.rappler.com
               ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่งและมีความใกล้ชิดกับฟิลิปปินส์ โดยความสัมพันธ์ทางการค้าของทั้งสองฝ่ายจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อได้มีการลงนามในพิธีสารแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ฉบับที่ ๑ (First Protocol to Amend the ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership Agreement)
          อาเซียนและญี่ปุ่นได้จัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership Agreement: AJCEP) เพื่อส่งเสริมการส่งออกระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นให้เจริญเติบโต และปรับปรุงรูปแบบของการแบ่งปันผลผลิตระหว่างกัน รวมถึงเป็นความตกลงที่ส่งเสริมโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของอาเซียนและญี่ปุ่นผ่านการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการสร้างขีดความสามารถ โดยเมื่อวันที่  ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้มีการลงนามในพิธีสารแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น ฉบับที่ ๑ ในการประชุมระหว่างปีของรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ ๗ (7th Regional Comprehensive Economic Partnership Inter - sessional Ministerial Meeting) ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา พิธีสารแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ฉบับที่ ๑ นี้ได้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับทั้งสองฝ่าย
          ในการนี้ นาย Ramon Lopez เลขาธิการการค้ากล่าวว่า การลงนามในพิธีสารดังกล่าวสร้างความเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นจะยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญของภูมิภาค  รวมทั้งความริเริ่มอื่น ๆ ที่อาเซียนและญี่ปุ่นสร้างความร่วมมือกัน เช่น แผนงานความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระยะ ๑๐ ปีของอาเซียนและญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นจะยังคงเป็นพันธมิตรที่สำคัญของอาเซียนในเรื่องของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ  อีกทั้งการที่พิธีสารฉบับนี้ครอบคลุมถึงการส่งเสริม การอำนวยความสะดวกและการปกป้องการลงทุนของญี่ปุ่นในฟิลิปปินส์จะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของฟิลิปปินส์และเป็นหุ้นส่วนทางการค้าอันดับต้นของฟิลิปปินส์
          นอกจากนี้ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับชาวฟิลิปปินส์ในการดำเนินธุรกิจและทำงานในญี่ปุ่น เนื่องจากบทบัญญัติที่สำคัญของพิธีสารฉบับนี้คือ การเคลื่อนย้ายผู้ให้บริการ (service supplier) ซึ่งหมายความว่านักธุรกิจฟิลิปปินส์สามารถใช้วีซ่าธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ โดยผู้ประกอบวิชาชีพในบางสาขาสามารถอยู่ในญี่ปุ่นได้ถึง ๕ ปี และสามารถขยายไปถึงคู่สมรสและบุตรของบุคคลดังกล่าวได้ด้วย อาทิเช่น สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ หรือวิทยาศาสตร์มนุษย์ (Natural sciences or human sciences) วิศวกรรม กฎหมาย การบริหารธุรกิจและบัญชีและมนุษย์ศาสตร์

แปลและสรุปความจาก https://www.rappler.com/business/225448-what-signing-asean-japan-trade-protocol-means-for-filipinos
 

© 2017 Office of the Council of State.