ภาพจาก : http://business.inquirer.net
ศักราชใหม่ของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาความเชื่อมโยงจีน - อาเซียนในด้านต่าง ๆ ได้เริ่มขึ้นในการเฉลิมฉลองครบรอบการเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งระหว่างจีนและอาเซียน ปีที่ ๑๕ ซึ่งจัดขึ้น ณ คุนหมิง ประเทศจีน
ในการนี้ นาง Yang Xiuping เลขาธิการของศูนย์อาเซียน - จีน (Asean-China Center) ได้กล่าวว่า “นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์จีน - อาเซียน ขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๙๑ ทั้งสองฝ่ายก็ได้กำหนดรูปแบบของระดับความร่วมที่มีความรอบด้านและหลากหลาย และมีขอบเขตที่กว้างขวาง โดยทั้งสองฝ่ายได้มีช่วงเวลาสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาร่วมกัน โดยมีความก้าวหน้าด้านการบูรณาการระดับภูมิภาคเป็นรากฐานสำคัญ และไม่มีสิ่งใดที่จะขวางกั้นกระแสโลกาภิวัตน์ในตอนนี้ได้ อย่างไรก็ดี ในขณะที่ กำลังวางแผนยุทธศาสตร์อยู่นั้น เราสามารถกำหนดแนวทางระดับจุลภาค การเจรจาด้านเสรีทางการค้าและการพัฒนาความร่วมมือด้านการเงินและด้านนวัตกรรม เพื่อเดินหน้าพัฒนาความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคต่อไปได้ และการได้รับการสนับสนุนจากสังคมก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือเหล่านี้ไม่แพ้กัน”
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ อัตราการขยายตัวทางการค้าจีน – อาเซียนมีมูลค่าสูงกว่า ๕๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การลงทุนโดยตรงแบบสองทิศทาง (two-way direct investment) มีมูลค่ารวมเกือบ ๒๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนาง Yang Xiuping เชื่อว่าการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างจีนและอาเซียน โดยเฉพาะในการส่งเสริมแนวคิดริเริ่มของเส้นทางสายไหม (Belt and Road) จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยง การบูรณาการ และการร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนซึ่งกันและกัน และในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้ นอกจากจะเป็นปีแห่งนวัตกรรมจีน – อาเซียน ที่ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อผสมผสานความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งของจีน - อาเซียน ตามวิสัยทัศปี ค.ศ. ๒๐๓๐ เพื่อเดินหน้าความสัมพันธ์จีน - อาเซียนต่อไปแล้ว ยังถือเป็นปีครบรอบการปฏิรูปและการเปิดประเทศของจีน ปีที่ ๔๐ อีกด้วย
ด้านนาย Liew Sew Yee รองนายกสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติมาเลเซีย กล่าวว่า “การลงทุนจากจีนในมาเลเซียนั้น ได้แสดงให้เห็นผลกระทบในเชิงบวกด้านการสร้างอาชีพและการกระตุ้นเศรษฐกิจในมาเลเซีย ทั้งนี้ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๓ - พ.ศ. ๒๕๕๙ มีโครงการด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับจีนรวม ๑๙๗ โครงการ และมีการจ้างงานประชากรกว่า ๓๐๐ ราย เพื่อไปทำงานในโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ อาเซียนจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวและเชื่อว่าด้วยพละกำลังของจีนทั้งด้านการเป็นศูนย์กลางและด้านเทคโนโลยี จะทำให้บรรลุอุปสงค์ของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้ สำหรับผลประโยชน์ประการอื่น ๆ นั้นเชื่อว่าความร่วมมือที่แข็งแกร่งนี้จะช่วยกระตุ้นการค้าและการเติบโตด้านการลุงทุน และเพิ่มศักยภาพในการสำรวจเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดียิ่งขึ้นได้ อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องของการค้าและการลงทุนแล้ว ความร่วมมือด้านการศึกษาก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งเช่นกัน”
ด้านนาง Chanthachone Vongsay รองนายกสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ได้กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดน รวมถึงการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมบริเวณชายแดน ตลอดจนการเพิ่มนโยบายในการกระตุ้นและกลไกทางกฎหมายที่เหมาะสมสำหรับการกระจายเขตการค้านั้น ยังถือเป็นกุญแจสำคัญอีกประการหนึ่งในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนด้วย”
แปลและเรียบเรียงจาก : http://business.inquirer.net/252795/china-asean-usher-new-era-cooperation