ภาพจาก: http://asean.org/
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๒ (32
nd ASEAN Summit) จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๘ เมษายน ๒๕๖๑ โดยมีสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นประธานในการจัดการประชุม ภายใต้แนวคิด “Resilient and Innovative” ซึ่งให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนอาเซียน ในการนี้ได้มีการลงนามในวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน (ASEAN Leaders Vision) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ และยังคงยืนยันหลักการพื้นฐานในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (the Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) และวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕ (ASEAN Community Vision 2025) และเพื่อเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในอาเซียนผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี จึงได้ริเริ่มแนวคิดเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ (ASEAN Smart Cities Network) ขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดการทำงานร่วมกัน การแบ่งปันแนวทางการปฏิบัติ รวมถึงการสร้างขีดความสามารถและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับความก้าวหน้าของประชาคมการเมืองและความมั่นคง ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (ASEAN Leaders Statement on Cybersecurity Cooperation) และแถลงการณ์รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนว่าด้วยเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายในอาเซียน (Joint Statement by the ASEAN Defence Ministers on Countering Terrorism in ASEAN) รวมถึงพัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและต่อต้านการขยายตัวของลัทธินิยมความรุนแรงแบบสุดขั้ว (Violent Extremism) โดยมีการหารือในประเด็นการสร้างความร่วมมือภายในภูมิภาคเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายและป้องกันแนวคิดความรุนแรงในภูมิภาค
ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ประชุมได้ผลักดันการใช้นวัตกรรมและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และเป็นการกระชับความร่วมมือด้านการบริการและการลงทุนเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นสังคมดิจิทัล นอกจากนี้ ได้ริเริ่มที่จะพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมอาเซียน (ASEAN Innovation Network) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความเชื่อมโยงนวัตกรรมในเชิงนิเวศน์ (innovation ecosystems) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้เกิดการทำงานและการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมสนับสนุนความร่วมมือทางการศึกษาโดยการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนผ่านโครงการ ASEAN Youth Fellowship และได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องเป็นสถาบันที่มีวัฒนธรรมในเชิงป้องกันเพื่อที่จะจัดการกับรากฐานของประเด็นปัญหาทางสังคม นอกจากนี้ ได้มีการกล่าวถึงการลงนามเพื่อหาฉันทามติอาเซียนว่าด้วยเรื่องการปกป้องและสนับสนุนสิทธิของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งได้หารือและยอมรับข้อสรุปจากรัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนภายในรัฐยะไข่ (Rakhine State) โดยที่ประชุมได้แสดงจุดยืนสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลเมียนมาในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ นิติธรรม และได้ส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในสังคมที่มีความหลากหลาย ตลอดจนสร้างความมั่นใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกันให้เกิดขี้นในรัฐยะไข่
แปลและเรียบเรียงจาก:
http://asean.org/chairmans-statement-of-the-32nd-asean-summit/