บทนำ
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) คือเทคโนโลยีที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลคล้าย ๆ มนุษย์ ซึ่งในปัจจุบัน AI ได้เข้ามามีอิทธิพลในธุรกิจของอาเซียนมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลดภาระค่าจ้างแรงงานลง หากเปรียบเทียบกับจีนและสหรัฐอเมริกาแล้ว อาเซียนยังตามหลังในเทคโนโลยีด้าน AI อยู่ แต่หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันแล้ว สิงคโปร์นับเป็นประเทศที่มีการนำ AI มาใช้ในธุรกิจมากที่สุด ตามด้วยมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย โดย AI สามารถลดภาระงานลง ร้อยละ ๕๐ อันเป็นการประหยัดค่าจ้างแรงงานได้ถึง ๒.๙ หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ AI จะเข้ามาครองตลาดอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ปัญหาการละเมิดสิทธิของบุคคล ซึ่งทำให้ต้องพิจารณาว่ากฎหมายจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร โดยบทความนี้จะกล่าวถึงตัวอย่าง นิยาม สถานะทางกฎหมาย ความรับผิดทางละเมิดของ AI และแนวโน้มของกฎหมายในอนาคต เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถมีความเข้าใจเบื้องต้นถึงเรื่องดังกล่าว
ปัญญาประดิษฐ์คืออะไร
AI คือการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งความแตกต่างระหว่าง AI และระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน คือ คอมพิวเตอร์ต้องรับการสั่งงานจากโปรแกรมเป็นครั้งคราว แต่สำหรับ AI นั้นสามารถพัฒนาขีดความสามารถให้เรียนรู้งานในอดีต เพื่อวิเคราะห์และทำงานใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องได้รับคำสั่งจากมนุษย์ โดย AI จะสามารถช่วยในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญในด้านการเงิน และยังสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ การคมนาคม และอื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำเอา AI มาใช้ในธุรกิจต่าง ๆ เช่น
- IBM Watson: เทคโนโลยี AI ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นำเข้ามาช่วยวิเคราะห์การรักษาโรคมะเร็ง
- Olivia: หุ่นยนต์ AI ผู้ช่วยของธนาคาร HSBC ที่ให้บริการในรูปแบบออนไลน์ ทำหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยไปจนถึงปัญหาอื่น ๆ จากลูกค้า
- AI Labs: ของ Uber ที่สร้างชุดของคำสั่งที่สร้างไว้ตามขั้นตอนและเทคโนโลยีสำหรับใช้ในบริการวิเคราะห์เส้นทางตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ใดมีความต้องการใช้รถบ้าง
- SIRI: ผู้ช่วยในสมาร์ทโฟนของบริษัท Apple คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่คอยช่วยเหลือและทำตามคำสั่งจากเสียง
- ระบบการค้นหารูปภาพด้วย Google Photo และระบบการจดจำรูปภาพใบหน้าคนด้วย Facebook
- Waymo: รถยนต์ที่ขับได้ด้วยตัวเองของบริษัท Alphabet ของประเทศสหรัฐอเมริกา
- Ross Intelligence: AI ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย เช่นการวางแผนภาษี การให้คำปรึกษาทางกฎหมายเรื่องอื่น ๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา
- โซเฟีย: หุ่นยนต์ AI ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งได้รับสิทธิพลเมืองไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐
สถานะบุคคลของปัญญาประดิษฐ์ในกฎหมายปัจจุบัน
ในปัจจุบันประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่ได้ให้สถานะบุคคลทางกฎหมายให้แก่หุ่นยนต์ AI ของประเทศที่ชื่อว่าโซเฟีย อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่น ๆ ยังไม่ได้กำหนดสถานะทางกฎหมายให้กับ AI เป็นพิเศษ แต่ในอนาคตหาก AI สามารถมีการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ตัวเอง หรือยกร่างสัญญาให้สิทธิแก่บุคคลอื่นได้ อาจจะมีการกำหนดให้สถานะบุคคลพิเศษขึ้นมาให้กับ AI เพื่อให้สามารถกำหนด สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดตามกฎหมายของ AI ได้ ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้เพียงแต่ให้สิทธิ หน้าที่และความรับผิดกับบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ยังได้ให้สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดแก่นิติบุคคลด้วย อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายเพื่อกำหนดสถานะบุคคลพิเศษให้แก่ AI นั้น จำเป็นต้องตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายและผลกระทบของการออกกฎหมายตามหลักของมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วย
ความรับผิดทางละเมิดของปัญญาประดิษฐ์
หากในอนาคตมีการนำ AI มาใช้ในการทำงานด้านต่าง ๆ มากขึ้น AI อาจก่อให้เกิดความเสียหายอื่น ๆ ตามมา ซึ่งปัญหาที่เห็นภาพได้อย่างชัดเจนคือการนำรถยนต์ไร้คนขับมาใช้บนถนนสาธารณะ ซึ่งอาจเกิดสถานการณ์ที่ระบบควบคุมรถยนต์รู้ว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว จะเกิดผู้เสียหายขึ้นโดยประเด็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ก่อนที่จะพิจารณาถึงทางแก้ปัญหาดังกล่าว สิ่งที่นักกฎหมายจะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกคือคำนิยามของคำว่า “ ปัญญาประดิษฐ์ ” เสียก่อน AI หรือ Artificial Intelligence ต้องต่างจากปัญญาที่เป็นธรรมชาติ (Natural Intelligence) อาจเป็นปัญญามนุษย์ (Human Intelligence) หรือปัญญาสัตว์ (Animal Intelligence) โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดความรับผิดของสัตว์ไว้ หากสัตว์ก่อให้เกิดความเสียหาย เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากสัตว์ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยง การรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
[๑] ซึ่งกฎหมายกำหนดความรับผิดโดยเคร่งครัด หรือ Strict liability โดยปกติหลักความรับผิดในเรื่องละเมิด กล่าวคือ โดยปกติผู้ที่จะมีความรับผิดโดยละเมิดต้องมีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อและเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ในคดีละเมิดผู้เสียหายจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่ในเรื่องละเมิดที่ความเสียหายเกิดจากสัตว์นั้น กฎหมายได้กำหนดให้เป็นความรับผิดโดยเคร่งครัดอันเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ให้เจ้าของหรือผู้ดูแลรับเลี้ยงรับรักษาแทนเจ้าของต้องพิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอแล้ว จึงหมายถึง ความรับผิดของบุคคลที่เกิดขึ้น แม้ไม่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ
ในยุคสมัยปฏิวัติอุสาหกรรมได้มีการพัฒนาเครื่องจักรเพื่อทำงานแทนมนุษย์ แต่เครื่องจักรแตกต่างจาก AI เนื่องจากเครื่องจักรไม่มีความฉลาด (Intelligence) แต่ถ้ามองว่า AI เป็นเครื่องจักรและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเครื่องจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบมากที่สุดในยานพาหนะที่เดินด้วยเครื่องจักรกล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดความรับผิดโดยเคร่งครัดว่า หากเกิดความเสียหายจากเครื่องจักรกล กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะจะต้องรับผิดในความเสียหาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
[๒] หมายความว่าผู้เสียหายไม่ต้องมีภาระการพิสูจน์ แต่เป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมยานพาหนะจะต้องพิสูจน์เพื่อพ้นความรับผิด
ถ้าหากมองว่า AI ประเภทนั้น ๆ ไม่ใช่เครื่องจักร AI อาจเข้าลักษณะเป็นทรัพย์อันตรายโดยสภาพ หรือเป็นทรัพย์อันตรายโดยกลไกหรือความมุ่งหมายก็ได้ ซึ่งมีความรับผิดเช่นเดียวกันกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเครื่องจักร คือความรับผิดโดยเคร่งครัด
[๓]
ในกรณีที่ AI มีการผลิตจำนวนมาก อาจใช้พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งให้ประโยชน์จากความรับผิดโดยเคร่งครัดมากกว่า กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการทุกคนต้องร่วมกันรับผิด โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือไม่
[๔] นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดฐานของผู้ประกอบการให้กว้างขึ้น โดยให้รวมถึงผู้ผลิตไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ดังนั้น ผู้เสียหายจึงสามารถฟ้องผู้ผลิตที่อยู่ต่างประเทศได้
[๕] และในปัจจุบันพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๘ กำหนดให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องจำเลยที่อยู่ต่างประเทศได้โดยส่งหมายผ่านไปรษณีย์ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าเดิมที่ต้องส่งหมายโดยวิธีทางการทูต
[๖] นอกจากนี้ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยฯ ยังกำหนดเรื่องค่าสินไหมทดแทนที่ไม่มีในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ (Punitive Damages) ซึ่งใช้ในกรณีที่ผู้ประกอบการได้ผลิต นำเข้า หรือขายสินค้า ทั้งที่รู้ว่าสินค้านั้นไม่ปลอดภัย หรือไม่รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าสินค้าไม่ปลอดภัยแล้วนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย และค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายต่อจิตใจ (Compensation of Mental Damages) ในกรณีที่สินค้าที่ไม่ปลอดภัยก่อให้เกิดความตาย ผู้เสียหาย สามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อจิตใจ
[๗]
บทสรุปและแนวโน้มของกฎหมายในอนาคต
เมื่อ AI ได้เข้ามามีบทบาทในสังคมมากยิ่งขึ้น ปัญหาที่ AI จะก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องเกิดขึ้นตามมาโดยยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ประเด็นที่ว่าใครคือผู้รับผิดทางกฎหมายนั้น จะต้องพิจารณาไปถึงคำนิยามของ AI ว่าในทางกฎหมาย AI จัดอยู่ในประเภทใด หากสอดคล้องกับประเภทที่กฎหมายบัญญัติถึงเรื่องความรับผิดอยู่แล้ว เช่น ความรับผิดของเครื่องจักร ความรับผิดของทรัพย์อันตราย ความรับผิดของสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ก็สามารถนำกฎหมายเรื่องนั้น ๆ มาบังคับใช้ได้ แต่หากในอนาคตอาเซียนได้นำ AI ที่พัฒนาจนถึงขั้นที่ว่า AI สามารถมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดเอง ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจจะต้องพิจารณาถึงการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกำหนดสถานะทางกฎหมายใหม่ให้แก่ AI ในอนาคต ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่เรายังต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป
นางสาวจันทพร ศรีโพน
นักวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลทางกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๑] มาตรา ๔๓๓ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”
[๒] มาตรา ๔๓๗ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”
[๓] มาตรา ๔๓๗ วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า "ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย"
[๔] มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติว่า “ผู้ประกอบการทุกคนต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และสินค้านั้นได้มีการขายให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการหรือไม่ก็ตาม”
[๕] มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ วางหลักว่า “ผู้ประกอบการ” หมายความว่า (๑) ผู้ผลิต หรือผู้ว่าจ้างให้ผลิต (๒) ผู้นำเข้า (๓) ผู้ขายสินค้าที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้าได้ (๔) ผู้ซึ่งใช้ชื่อ ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมาย ข้อความหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ อันมีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิตหรือผู้นำเข้า
[๖] มาตรา ๘๓ สัตต แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วางหลักว่า ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ศาลดําเนินการส่งให้แก่จําเลยหรือบุคคลภายนอกโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศหรือผู้ประกอบกิจการรับส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศหรือโดยผ่านสํานักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ
[๗] มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ วางหลักว่า นอกจากค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนดังต่อไปนี้
(๑) ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อจิตใจอันเป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้เสียหาย และหากผู้เสียหายถึงแก่ความตาย สามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อจิตใจ
(๒) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ประกอบการได้ผลิต นำเข้า หรือขายสินค้าโดยรู้อยู่แล้วว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าสินค้าไม่ปลอดภัยภายหลังจากการผลิต นำเข้า หรือขายสินค้านั้นแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่ศาลเห็นสมควร