BANNER

การจัดการสารปรอทในประเทศสมาชิกอาเซียน: ราชอาณาจักรไทย


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      11 Jan 2018

  


                                                                                                                 


๑. บทนำ
                  บทความนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีศึกษาอาเซียนกับการจัดการปรอท[๑] ในภาพรวมที่พบว่าภูมิภาคเอเชียมีส่วนในการปลดปล่อยสารปรอทเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการปลดปล่อยสารปรอทที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ทั่วโลก อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมในภูมิภาค จึงทำให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นแหล่งที่มาสำคัญของการปลดปล่อยสารปรอทสู่บรรยากาศ[๒] เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๕๘ ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังคงมีการนำเข้าและการส่งออกปรอทอยู่ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่ายังคงมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการปลดปล่อย[๓] (emissions) และการปล่อย[๔] (releases) สารปรอทจากประเทศสมาชิกอาเซียนออกสู่สิ่งแวดล้อมต่อไปได้
                  สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ลงนามอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓ (the Minamata Convention on Mercury, 2013) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ข้อ ๒๙[๕] แห่งอนุสัญญาดังกล่าวนั้น มีทั้งหมด ๖ ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ให้การให้สัตยาบัน (Ratification) การยอมรับ (acceptance) การให้ความเห็นชอบ (approval) หรือการภาคยานุวัติ (accession) อนุสัญญามินามาตะฯ เพื่อให้อนุสัญญามีผลใช้บังคับกับประเทศตนแล้วจำนวน ๕ ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑) ประกอบไปด้วย ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว[๖]  
                  ผู้เขียนจึงมุ่งทำการศึกษาถึงระบบการจัดการปรอทภายในประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งที่เป็นกรอบระเบียบและข้อบังคับภายใน กรอบการบริหารของภาครัฐ และการดำเนินการในทางปฏิบัติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน โดยในบทความฉบับนี้จะยกตัวอย่างกรณีศึกษาของราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ

๒. การจัดการสารปรอทภายในราชอาณาจักรไทย 
                  ถึงแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญามินามาตะฯ ตามระยะเวลาที่เปิดให้ลงนามแต่ต่อมาประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐[๗] จึงทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่แสดงเจตนาเข้าผูกพันตามอนุสัญญามินามาตะฯ
                  นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดซึ่งของเสียอันตราย (the Basel Convention on the Control of Transboundary Movement of Hazardous Waste and their Disposal) ซึ่งเป็นข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญามินามาตะฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบัญชีรายชื่อของเสียที่ควบคุมซึ่ง กำหนดไว้ในรายการเอ (List A) ของอนุสัญญาบาเซลฯ ได้กำหนดให้ปรอท (Mercury) เป็นของเสียประเภทโลหะ อันเป็นของเสียอันตรายที่จะต้องถูกควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดน และจะต้องพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด
                  การที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาทั้ง ๒ ฉบับข้างต้นนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบการจัดการสารปรอทที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่าประเทศไทยมีระบบการจัดการสารปรอทภายในประเทศ โดยได้มีการตราเป็นกฎหมาย รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติดังนี้

                  ๒.๑ กรอบระเบียบข้อบังคับ (Regulatory framework)
                     ประเทศไทยมีระบบจำแนกประเภทของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงของเสียที่เป็นปรอท โดยระบบจำแนกของไทยนั้นสอดคล้องกับระบบจำแนกประเภทของเสียอันตรายตามที่ระบุไว้เฉพาะในภาคผนวก ๑ และภาคผนวก ๘ ของอนุสัญญาบาเซลฯ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
                     นอกจากนี้ ยังมีระบบการแยกความแตกต่างระหว่างปรอทที่เป็นบริภัณฑ์และที่เป็นของเสีย โดยปรอทที่เป็นบริภัณฑ์ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้ความควบคุมของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕[๘] ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อควบคุมการนำเข้า การส่งออก การผลิต การจำหน่าย การครอบครอง การขนส่ง และการใช้สารอันตราย
                     ทั้งนี้ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ให้นิยามของคำว่า “วัตถุอันตราย” ไว้ว่าหมายถึง วัตถุดังต่อไปนี้
                          (๑) วัตถุระเบิดได้
                          (๒) วัตถุไวไฟ
                         (๓) วัตถุออกวิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์
                          (๔) วัตถุมีพิษ
                          (๕) วัตถุที่ทำให้เกิดโรค
                         (๖) วัตถุกัมมันตรังสี
                          (๗) วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม
                          (๘) วัตถุกัดกร่อน
                          (๙) วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
                         (๑๐) วัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใด ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม[๙]
                      นอกจากนี้ ยังได้แบ่งวัตถุอันตรายออกตามความจำเป็นแก่การควบคุม ๔ ชนิดด้วยกัน ดังนี้
                          ก. วัตถุอันตรายชนิดที่ ๑ ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
                          ข. วัตถุอันตรายชนิดที่ ๒ ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้หนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดด้วย
                          ค. วัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก  หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาต
                          ง. วัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
                     โดยกำหนดให้มีการตั้งศูนย์ข้อมูลวัตถุอันตรายขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรมตามมาตรา ๑๗ อีกด้วย[๑๐]
                     นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๕๖ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๓๕ กำหนดให้ระบุชื่อของวัตถุอันตรายที่มีสูตรโครงสร้าง  ทางเคมีอย่างเดียวกัน และมีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายเป็นวัตถุอันตราย[๑๑] และให้แบ่งวัตถุอันตรายดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๑ ชนิดที่  ๒ ชนิดที่ ๓ และชนิดที่ ๔[๑๒] ตลอดจนกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบสำหรับวัตถุอันตรายแต่ละชนิด
                     โดยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศดังกล่าวนี้ ในบัญชี ๑ มีการกำหนดให้สารประกอบปรอท[๑๓] (Mercury compounds) เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ อันได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้  มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบสำหรับสารประกอบปรอทนั้น ขึ้นอยู่กับสถานที่พบหรือแหล่งที่มาของสารประกอบปรอทและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว เช่น สารประกอบปรอทในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ แก่การระงับ ป้องกัน ควบคุม ไล่ กำจัดแมลง กำจัดเชื้อราและสัตว์อื่น ให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น และกำหนดให้ปรอท (Mercury) เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับอนุญาตเป็นเบื้องต้น[๑๔] ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก[๑๕]
                     ทั้งนี้ ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายข้างต้น ที่ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ต้องแจ้งการดำเนินการสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่กำหนดไว้ภายในเวลาที่กำหนด และถ้าวัตถุอันตรายใดจะต้องขึ้นทะเบียนก็ให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย [๑๖] สำหรับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนใบรับแจ้งใบอนุญาต และการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดเดียวกันนั้นที่มีอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น ยังคงใช้ได้ต่อไป โดยต้องคำนึงถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศประกอบด้วย[๑๗]
                     นอกจากพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับการจัดการสารปรอทไว้เป็นการเฉพาะแล้วนั้น ยังมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ถือเป็นกฎหมายหลักในการดูแลสภาวะแวดล้อมของประเทศ โดยกำหนดให้มีการควบคุมภาวะมลพิษ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียต่าง ๆ การป้องกัน และควบคุมมลพิษที่เกิดจากหรือมีที่มาจากการทำเหมืองแร่ การสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสารไฮโดรคาร์บอน รวมทั้งการป้องกันและควบคุมมลพิษที่เกิดจากหรือมีที่มาจากการปล่อยทิ้งน้ำมันและของเสียและวัตถุอื่น ๆ จากเรือเดินทะเล เรือบรรทุกน้ำมัน และเรือประเภทอื่น[๑๘]
                     ทั้งนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังให้อำนาจรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษในการออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดและประเภทของของเสียอันตรายที่เกิดจากการผลิต การใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การสาธารณสุข และกิจการอย่างอื่นให้อยู่ในความควบคุม โดยให้กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการ และวิธีการเพื่อควบคุม การเก็บรวบรวม การรักษาความปลอดภัย การขนส่งเคลื่อนย้าย การนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและการจัดการบำบัดและกำจัดของเสียอันตรายดังกล่าวด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาที่เกี่ยวข้องด้วย[๑๙]
                     อย่างไรก็ดี นอกจาก พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้ว ยังมีกฎหมายและข้อบังคับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปรอทและของเสียปรอท ได้แก่ 
                    (๑) พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการควบคุมการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายดังกล่าว ได้นำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๒๕ พ.ศ. ๒๕๓๑ และประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๓๑ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ มาใช้บังคับ ได้ระบุชื่อของสารตัวทำละลายและประเภทของวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่จะต้องมีการเก็บ ทำลายฤทธิ์ กำจัด ฝัง ทิ้ง หรือเคลื่อนย้ายตามวิธีที่กำหนดไว้ด้วย
                    (๒) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นการกำหนดมาตรการการรวบรวมและขนส่งของเสียอันตราย
                    (๓) พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ 
                    (๔) กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้าน ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นการกำหนดมาตรการการเก็บรักษา การบรรจุ และการเทสารเคมีอันตราย
                    (๕) ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้กำหนดมาตรการในการบำบัดและขจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอันอาจถือเป็นแหล่งกำเนิดของสารเคมีหรือวัตถุอันตรายไว้[๒๐] ซึ่งภาคผนวกที่ ๑ ท้ายประกาศนี้ กำหนดรหัสของชนิดและประเภทของสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีปรอทดังต่อไปนี้ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมตามประกาศนี้ กล่าวคือ
                           ก. ของเสียที่มีองค์ประกอบของปรอท (wastes containing mercury)
                           ข. กากตะกอนแบเรียมซัลเฟต ที่มีปรอทเจือปน (barium sulfate sludge containing mercury)
                           ค. ชิ้นส่วนที่มีปรอท (components containing mercury)
                           ง. แบตเตอรี่ชนิดที่มีปรอท (mercury-containing batteries)
                           จ. ของเสียอื่น ๆ จากงานก่อสร้างและการรื้อทำลายสิ่งก่อสร้างที่มีปรอท (construction and demolition wastes containing mercury)
                      อนึ่ง ผลการสำรวจตามรายงานการศึกษาระดับภูมิภาคว่าด้วยการจัดการของเสียปรอทในประเทศสมาชิกอาเซียน (Regional study on mercury waste management in the ASEAN countries) พบว่าไม่มีการทำเหมืองแร่ปรอทภายในประเทศไทย
                      สำหรับการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนปรอทในประเทศนั้น ประเทศไทยได้พัฒนาแนวทางสำหรับการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนปรอทจากการใช้ และการกักเก็บวัตถุเคมีในโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตร รวมทั้งการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการฝังกลบและการทิ้งเทของเสียอันตรายภายในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งแนวทางที่พัฒนาแล้วดังกล่าวได้กำหนดให้มีคำจำกัดความเบื้องต้นของพื้นที่ปนเปื้อน แผนปฏิบัติการสำหรับการจัดการพื้นที่ปนเปื้อน และการให้เหตุผลประกอบผลลัพธ์ในการจัดการพื้นที่ปนเปื้อน[๒๑]
                     นอกจากนี้ ยังมีพระราชบัญญัติอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก อาทิ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.๒๕๑๑ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๕๙ และพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้น
                  ๒.๒ กรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional framework)
                      ประเทศไทยมีหน่วยงานของรัฐบาลดำเนินงานด้านการจัดการของเสียอันตรายอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน ทั้งระดับชาติ ระดับเขตหรือจังหวัด และระดับท้องถิ่น
                      หน่วยงานหลักในระดับชาติที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงของเสียปรอท ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย
                      โดยมีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (The National Environment Board) เป็นหนึ่งในหน่วยงานระดับชาติที่มีความสำคัญที่สุด มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอนโยบายและแผนงานสำหรับการปรับปรุงและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และอื่น ๆ อีกหลายประการที่มีส่วนช่วยในการกำหนดบทบาทตามกฎหมายและอำนาจในการจัดการของเสียอันตราย
                      ส่วนหน่วยงานระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นนั้น ตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้การกำจัดสิ่งปฏิกูลและของเสีย รวมทั้งของเสียอันตรายในพื้นที่ของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นใด ๆ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานแห่งท้องถิ่นนั้น อันได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาลเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม การเคลื่อนย้าย การบำบัด และการกำจัดขยะในเบื้องต้น และยังให้หน่วยงานเหล่านี้ประสานงานหรือขอความร่วมมือเพื่อดำเนินการสำหรับบางกิจกรรมกับภาคเอกชนภายใต้งบประมาณสนับสนุนได้ด้วย
                  ๒.๓ การดำเนินการในทางปฏิบัติ
                     ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะโดยผ่านเวทีหารือสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในประเทศ การคาดประมาณการปลดปล่อยสารปรอทภายในประเทศและกำหนดให้ปรอท สารประกอบปรอท และวัตถุอื่นใดที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบถูกควบคุมและต้องดำเนินการตามกฎหมายกำหนด ตลอดจนการดำเนินงานในทางระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งรวมถึงในการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (AWGMEA) ตลอดจนคณะทำงานอาเซียนในด้านอื่น ๆ อีก ๖ ด้าน ที่เกี่ยวข้องในแต่ละวาระที่ผ่านมาได้มีการหยิบยกประเด็นของอนุสัญญามินามาตะฯ ขึ้นมาหารือกันร่วมกันอยู่เป็นระยะ
                    จากรายงานระดับชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาบาเซลฯ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องกำจัดของเสียอันตรายจำนวน ๑๑ เครื่อง และสถานที่ฝังกลบที่ปลอดภัยจำนวน ๓ แห่ง อีกทั้งเครื่องฟื้นสภาพของเสียอันตรายจำนวน ๕๕ เครื่อง ใช้งานอยู่ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแจ้งชัดว่าเครื่องมือเหล่านี้มีประสิทธิภาพเหมาะสมเพียงพอสำหรับการจัดการของเสียปรอทมากน้อยเพียงใด  
 
๓. บทสรุป
               จากการพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารปรอทภายในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยก็มีการเฝ้าระวังและดำเนินการเพื่อควบคุมและป้องกันผลกระจากปัญหามลพิษปรอทปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ โดยหน่วยงานที่หลากหลายในลักษณะประสานกันอยู่เป็นจำนวนมากก่อนที่จะมีการภาคยานุวัติอนุสัญญามินามาตะฯ[๒๒] เนื่องจากการตระหนักถึงปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยเอง และการที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอนุสัญญาบาเซลฯ กำหนดให้ของเสียที่มีปรอทตามที่ระบุไว้เฉพาะในภาคผนวก ๑ และภาคผนวก ๘ ของอนุสัญญาบาเซลฯ ต้องถูกจัดการด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ จึงทำให้ประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อมในด้านกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้สำหรับการจัดการของเสียและวัตถุอันตรายที่ครอบคลุมถึงสารปรอทภายในประเทศอยู่แล้ว ซึ่งกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้กำหนดมาตรการในการควบคุมและจัดการของเสียอันตราย ซึ่งรวมไปถึงของเสียปรอท และวัตถุอื่นใดที่มีสารปรอทเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย และยังกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะด้านสำหรับวัตถุอันตรายแต่ละประเภท กำหนดให้ความคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม กำหนดบทบาท และหน้าที่ของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้จำหน่าย ผู้โฆษณา ฯลฯ สินค้า หรือวัตถุอันตรายที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย ประกอบกับการที่ประเทศไทยไม่มีการทำเหมืองแร่ปรอทภายในประเทศ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศแรกที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว และประเทศไทยอาจเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในอาเซียนที่ยังไม่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาได้เตรียมความพร้อมและเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวในอนาคตอันใกล้ได้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีระบบในการจัดการกับปัญหามลพิษสารปรอทปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
                

ดาวน์โหลดบทความ PDF.
 
 
นางสาวอรพรรณ แซ่เอี้ยว
นักวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลกฎหมาย 
ฝ่ายอาเซียนและกิจการต่างประเทศ 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
 

[๑] อรพรรณ แซ่เอี้ยว, “อาเซียนกับการจัดการปรอท”, ฝ่ายอาเซียนและกิจการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ๒๕๖๐.
[๒] UNEP, Global Mercury Assessment 2013 Sources, Emissions, Releases and Environmental Transport , (UNEP Chemicals Branch), p.i. อ้างใน  อรพรรณ แซ่เอี้ยว, “ประเทศไทยกับการเข้าภาคยานุวัติอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓, ” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๙), น.๑๒.
[๓] ออกสู่อากาศและชั้นบรรยากาศ
[๔] ลงสู่ดินและน้ำ
[๕] ข้อ ๒๙ อนุสัญญาฉบับนี้เปิดให้รัฐและองค์การเพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคทั้งปวงลงนาม ในวันที่ ๑๐ และ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ เมืองคุมะโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น จนถึงวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก โดยประเทศที่ไม่ได้ลงนามในระยะเวลาที่กำหนด สามารถภาคยานุวัติ ให้ความเห็นชอบ และให้การยอมรับเพื่อแสดงเจตนาเข้าผูกพันตามอนุสัญญาฯ ได้
[๖] สปป.ลาว และประเทศไทยไม่ได้ลงนามอนุสัญญาภายในกำหนดระยะเวลา แต่ได้แสดงเจตนาเข้าผูกพันตามอนุสัญญาด้วยการภาคยานุวัติอนุสัญญาฯ
[๗] http://www.mercuryconvention.org/Countries/tabid/3428/language/en-US/Default.aspx, Accessed January 8, 2018.
[๘] “ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕, ” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๓๕, (๖ เมษายน ๒๕๓๕), น.๒๑.
[๙]  เพิ่งอ้าง, มาตรา ๔.
[๑๐] เพิ่งอ้าง, มาตรา ๑๘.
[๑๑]“ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายพ.ศ. ๒๕๕๖, ”ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่พิเศษ ๑๒๕, (วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖), น.๖, ข้อ ๒.
[๑๒] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๓.
[๑๓] ได้แก่ ปรอทอนินทรีย์ (inorganic mercury) และปรอทอินทรีย์ (organic mercury)
[๑๔] อรพรรณ แซ่เอี้ยว, “ประเทศไทยกับการเข้าภาคยานุวัติอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ค.ศ. ๒๐๑๓, ” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๙), น.๑๒.
[๑๕] อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑๑.
[๑๖] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๕.
[๑๗] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๖.
[๑๘] พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕, มาตรา ๗๘.
[๑๙] เพิ่งอ้าง, มาตรา ๗๙.
[๒๐] เพิ่งอ้าง, ขอ ๑๗. - ๒๒.
[๒๑] UNEP, Regional study on mercury waste management in the ASEAN countries,. http://wedocs.unep.org/bitstream/handle/20.500.11822/21135/reg_study_mercury_waste_mgt_ asean.pdf?
asean.pdf?sequence=1, p. 48-54., Accessed January 8, 2018.
[๒๒] อรพรรณ แซ่เอี้ยว, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ ๑๔.

© 2017 Office of the Council of State.