BANNER

อาเซียนประยุกต์ใช้ไอซีที (ICT) เพื่อสนับสนุนการจัดการด้านภัยพิบัติ


 ข่าวต่างประเทศ      12 Dec 2017

  



อาเซียนประยุกต์ใช้ไอซีที* เพื่อสนับสนุนการจัดการด้านภัยพิบัติ




ภาพจาก      http://asean.org


                              อาเซียนได้เปิดตัวแผนงานเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติและการค้นคว้า วิจัยด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ[1] (the ASEAN Science-Based Disaster Management Platform: ASDMP and Research Roadmap on Disaster Risk Management: DRM) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างการสัมมนาระดับภูมิภาคในการจัดการภัยพิบัติแห่งอาเซียน พ.ศ. ๒๕๖๐ (ASEAN Disaster Management Final Regional Symposium 2017) ที่จัดขึ้นโดยศูนย์ภูมิอากาศแห่งเอเปค (the APEC Climate Center: APCC)
                              แผนงานเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ (ASDMP) เป็นการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการด้านภัยพิบัติ และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประสานช่องว่างระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายในเรื่องต่าง ๆ เช่น ช่วยให้การค้นคว้าวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติที่มีอยู่กระจัดกระจายในภูมิภาคละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ทำให้การศึกษาค้นคว้านโยบายมีความง่ายขึ้น ตลอดจนช่วยให้เกิดการพัฒนาการจัดการภัยพิบัติและลดความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น
                              การสัมมนาดังกล่าวทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบาย รวมทั้งสิ้น ๓๕ คน ภายใต้ขอบข่ายของการจัดการภัยพิบัติแห่งอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการหารือแลกเปลี่ยนทางวิชาการในหลากหลายสาขาวิชาเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ
                              ในการนี้ Dr. Hong-Sang Jung ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์ภูมิอากาศแห่งเอเปคได้กล่าวว่า “โครงการแผนงานเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัตินี้ จะช่วยทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนได้ โดยการจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติที่บุคลากรสามารถที่จะนำไปใช้ได้ รวมทั้งนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาความคิดริเริ่มและนโยบายในการลดความเสี่ยงได้อีกด้วย”
                              ด้าน นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายสังคมและวัฒนธรรมได้กล่าวเสริมไว้โดยมีใจความว่า “การยกระดับแผนงานการติดต่อสื่อสารและข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัตินั้น ในเบื้องต้นอาเซียนในฐานะที่เป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติที่หลากหลาย ซึ่งเป็นอาจอันตรายเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การเริ่มแผนงานเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติและแผนการค้นคว้าวิจัยนี้จะทำให้อาเซียนเข้าใกล้การเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศในการจัดการภัยพิบัติมากยิ่งขึ้น” และยังกล่าวต่อไปอีกว่าอาเซียนจะต้องเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับคำกล่าวใหม่ที่ว่า “วิทยาศาสตร์ช่วยชีวิต” (“science saves lives”) เมื่อต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง สิ่งนี้จะเพิ่มความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล รวมทั้งการวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีข้อมูลและเครื่องมือการใช้งานออนไลน์ และทำให้คนทั่วไปยอมรับได้ถึงบทบาทหน้าที่ของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศ
                              ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ (the ASEAN-Republic of Korea Commemorative Summit) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ สาธารณรัฐเกาหลีได้ตกลงที่จะใช้ประโยชน์เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารและข้อมูลข่าวสารที่เข้มแข็งของตนเพื่อความร่วมมือในขอบข่ายของการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นกับอาเซียน อันก่อให้เกิดเป็นโครงการการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนการให้เงินทุนโดยรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีภายใต้กองทุนความร่วมมือพิเศษอาเซียน – เกาหลี (the ASEAN-ROK Special Cooperation Fund)ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (the ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance: AHA Centre)
                              สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนงานเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัตินั้น สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : http://asdmp.ahacentre.org
 
 
 
                              แปลและเรียบเรียงจาก :     http://asean.org/asean-utilises-ict-to-enhance-disasters-management/
 
* เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   (information and communication technology: ICT)
[1] คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ

© 2017 Office of the Council of State.