BANNER

ประเทศไทย: การคุ้มครองประชาชนในเหตุการณ์บังคับให้บุคคลสูญหาย (๒)


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      16 Oct 2017

  


ตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศ (ต่อ)
๕. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ (2010 International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED) – อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกที่มีผลใช้บังคับทางกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมเรื่องการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยตรง โดยเป็นตราสารทางกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ (CAT) และธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๑ (ICC) เกือบทั้งหมด
          เช่น ข้อ ๒ แห่งอนุสัญญา CED ที่มีการบัญญัติคล้ายกับข้อ ๑ แห่งอนุสัญญา CAT ว่าด้วยความหมายของการบังคับให้บุคคลสูญหาย และข้อ ๓ ที่กำหนดให้รัฐภาคีต้องดำเนินการตามที่เหมาะสมเพื่อสืบสวนสอบสวนการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำโดยไม่ได้รับมอบอำนาจ การสนับสนุน หรือการยอมรับจากรัฐ และให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านั้นรับโทษตามกฎหมาย[๑]  และข้อ ๕ แห่งอนุสัญญา CED ที่เน้นย้ำข้อ ๗(๑)(ฌ) แห่งธรรมนูญกรุงโรมฯ โดยการยืนยันว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายที่แพร่หลายและเป็นระบบเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crime against humanity) ซึ่งจะต้องได้รับผลตามกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลใช้บังคับ[๒]
          แม้อนุสัญญา CED จะมีฐานมาจากอนุสัญญา CAT เป็นหลักแต่อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ยังบัญญัติหน้าที่ด้านบวก (positive obligations) ตามปฏิญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลทั้งมวลให้ปลอดจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งสนับสนุนให้มีกฎหมายนิติบัญญัติ บริหารบัญญัติ และอำนาจตุลาการที่มีประสิทธิภาพ หรือมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อป้องกันหรือกำจัดซึ่งการบังคับให้บุคคลสูญหายในเขตใด ๆ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของรัฐ โดยปฏิญญาฯ ดังกล่าวได้บัญญัติอีกว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายทุกรูปแบบควรเป็นความผิดอาญาซึ่งจะเป็นผลให้ได้รับโทษตามสมควรโดยคำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำนั้น
          อนุสัญญา CED ได้ขยายขอบเขตบทบัญญัติเหล่านี้ โดยได้รวมกลุ่มที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น เด็ก และกำหนดกระทำที่ต้องได้รับโทษตามกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ไม่มีให้เห็นในอนุสัญญา CAT หรือปฏิญญาแต่อย่างใด[๓]
          นอกจากนี้อนุสัญญา CED ได้ให้ความหมายของคำว่า “ผู้เสียหายหรือเหยื่อ (victim)” ที่กว้างกว่าความหมายตามปฏิญญาหรืออนุสัญญาระดับภูมิภาคอื่น ๆ[๔] ซึ่งความหมายนี้ครอบคลุมทั้ง victim ทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ ทั้งบุคคลซึ่งถูกบังคับให้สูญหาย (ทางตรง) และปัจเจกบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการบังคับให้บุคคลสูญหาย (ทางอ้อม) [๕] โดยกลุ่มบุคคลหลังเป็นเป็นส่วนสำคัญในคดีของการบังคับให้บุคคลสูญหายเมื่อครอบครัวได้รับความเสียหายจากการไม่ทราบแหล่งที่อยู่ของสมาชิกครอบครัวซึ่งอาจทำให้เป็นเหยื่อของการทรมานด้วย (ทางตรงหรือทางอ้อม) อีกทั้งเป็นอนุสัญญาฯ ทางสิทธิมนุษยชนฉบับแรกที่ได้บัญญัติสิทธิของ victim เฉพาะรายที่จะได้ทราบความจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของการบังคับให้สูญหาย ความคืบหน้าและผลของการสอบสวน และชะตากรรมของบุคคลซึ่งได้หายไป[๖]
          ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อนุสัญญา CED เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกที่เป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลซึ่งถูกบังคับให้สูญหายและสมาชิกครอบครัวของบุคคลนั้น
         
ประเทศไทย: สถานการณ์ในอดีต
          ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ คณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือโดยความไม่สมัครใจแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced and Involuntary Disappearancesบันทึกว่าในประเทศไทยมีอย่างน้อย ๘๒ คดีเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหายที่ยังไม่คลี่คลาย และประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ในการรับรองให้มีการสืบสวนสอบสวนที่ละเอียด เป็นธรรม และเป็นอิสระ ซึ่งความล้มเหลวของประเทศไทยในการจัดการกับคดีในลักษณะนี้ก่อให้เกิดการบังคับให้บุคคลสูญหายอยู่เรื่อย ๆ โดยผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
ที่ผ่านมาแนวนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวยังขาดความชัดเจน และยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการจัดการกับปัญหาการหายสาบสูญในกรณีต่าง ๆ แม้ว่าจะมีการประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับแรก (พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๘) ฉบับที่สอง (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๖) จนถึงฉบับที่ 3 ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๖๑) แล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ นับแต่กรณี นายทนง  โพธิ์อ่าน ผู้นำสภาแรงงานแห่งประเทศไทย (สูญหายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔) กรณีการปราบปรามประชาชนเมื่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ที่มีผู้สูญหายอย่างน้อย ๓๑ คน (จากรายงานของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ ระบุว่ามี ๔๘ ราย) ยังคงไร้วี่แวว กรณีทนายความนักสิทธิมนุษยชน นายสมชาย  นีละไพจิตร เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ กรณีประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อย อีกทั้ง กรณีนายกมล  เหล่าโสภาพันธ์ สมาชิกเครือข่ายต่อต้านการคอรัปชั่น ที่จังหวัดขอนแก่น บางกรณีสูญหายไประหว่างที่รัฐใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๗ ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ กรณีนาย “บิลลี่” พอละจี  รักจงเจริญ อดีตสมาชิก อบต. ผู้นำชนชาติพันธุ์กระเหรี่ยงที่สูญหาย ไปเมื่อ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และกรณีล่าสุดของนางสาวจุฑาภรณ์  อุ่นอ่อน หรือ ผอ.อ้อย ผอ.กองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อบต.ซำ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งหายไปช่วงกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา
 
กฎหมายของประเทศไทย
          ปัจจุบันกฎหมายไทยไม่มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยตรง ที่ใกล้เคียงที่สุดมีเพียงมาตรา ๓๐๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙[๗] นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ สมาชิกในครอบครัวของผู้สูญหายนั้นไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการในคดีได้ เนื่องจากสมาชิกครอบครัวไม่ถือว่าเป็น “ผู้เสียหาย” ตามความหมายของมาตรา ๒(๔)[๘] ประกอบมาตรา ๔[๙],๕[๑๐] และ ๖[๑๑] ในการที่จะใช้สิทธิเป็นโจทก์ฟ้องคดี หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามความในมาตรา ๓[๑๒]  ได้ดั่งที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาในคดีของนายสมชาย  นีละไพจิตร[๑๓] ที่ตัดสินว่าครอบครัวนีละไพจิตรไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการแทนผู้เสียหายได้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ตามความหมายในมาตรา ๕(๒) นั่นเอง
          เมื่อเปรียบเทียบความหมายของผู้เสียหายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ กับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ จะเห็นได้ว่าตัวอนุสัญญาฯ มีความหมายถึงคำว่าผู้เสียหาย หรือ “victim” ที่ตีความได้กว้างกว่าของประเทศไทย ส่งผลให้กฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายได้มากกว่า
          ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงมีพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ฉบับดังกล่าวตามที่ได้กล่าวไปในข้อที่ ๓ ในหัวข้อ “ตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศ” นอกจากนั้นประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยยังไม่มีพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ ฉบับดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามการลงนามในอนุสัญญาฯ หมายถึงการยินยอมเบื้องต้นในวัตถุประสงค์แห่งอนุสัญญาฯ ประเทศไทยจึงมีหน้าที่ในการไม่กระทำการที่เป็นการขัดกับวัตถุประสงค์แห่งอนุสัญญาฯ นี้[๑๔]
          เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ และปัจจุบันมีการทบทวนและจะผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ.... ให้เป็นกฎหมายต่อไป[๑๕]
          หากร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ...ผ่านเป็นกฎหมาย จะเป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่รับรองและกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายในหรือภายนอกประเทศไทย และที่สำคัญ ร่างพระราชบัญญัติฉบับปัจจุบันไม่กำหนดข้อยกเว้นหรือภูมิคุ้มกันทางกฎหมายให้กับการกระทำที่เกิดขึ้นในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในพฤติการณ์พิเศษอื่นใด โดยหากศาลตัดสินว่าผู้ใดมีความผิดฐานกระทำการทรมานหรือการบังคับบุคคลให้สูญหายอาจทำให้ได้รับโทษจำคุกอย่างต่ำ ๒๐ ปี และจะเพิ่มโทษมากขึ้นหากทำให้เกิดอาการบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต นอกจากนี้ ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าพนักงานระดับสูงซึ่งจงใจเพิกเฉยปล่อยให้เกิดการกระทำผิดยังอาจได้รับโทษจำคุกเช่นกัน[๑๖]
 
สรุป
          การบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชนหลายประการ บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายนั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สูญเสียอิสรภาพ อาจถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บหรือถึงแก่ชีวิต โดยอาจได้รับการทรมานอีกด้วย แต่ผู้ที่กระทำการบังคับให้สูญหายกลับไม่ได้รับโทษตามกฎหมายด้วยสาเหตุหลายประการดังที่ได้กล่าวข้างต้น
          ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติจึงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและตรากฎหมายระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองบุคคลที่ถูกทรมานและบังคับให้สูญหาย และล่าสุดปรากฏเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามแล้วเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ แต่จนถึงปัจจุบัน[๑๗] แม้จะมีการยกร่างร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ...แล้วแต่ยังไม่ได้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด
          ปัจจุบันการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่บัญญัติเป็นการเฉพาะเจาะจงที่คุ้มครองสิทธิของผู้ถูกบังคับให้สูญหายจึงเปิดช่องโหว่ทางกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายดังคดีที่ปรากฎในอดีต นอกจากนี้ ผู้เสียหายในคดีเหล่านี้ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยไม่คุ้มครองถึงครอบครัวของผู้สูญหายอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากต้องพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์แก่ศาลว่า “ผู้ที่สูญหาย (ผู้เสียหาย) ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”[๑๘] ซึ่งไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากครอบครัวไม่ทราบถึงชะตากรรมของผู้เสียหายเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากการถูกบังคับให้สูญหาย จึงจำเป็นต้องรีบดำเนินการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ ตามที่ได้ลงนามไว้ และในฐานะที่เป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยการผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ...โดยเร็วที่สุด
 
[๑] ข้อ ๓ แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติว่า
“Each State Party shall take appropriate measures to investigate acts defined in article 2 committed by persons or groups of persons acting without the authorization, support or acquiescence of the State and to bring those responsible to justice.”
เข้าถึงได้จาก https://treaties.un.org/doc/Publication/CTC/Ch_IV_16.pdf
[๒] ข้อ ๕ แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติว่า
“The widespread and systematic practice of enforced disappearance constitutes a crime against humanity as defined in applicable international law and shall attract the consequences provided for under such applicable international law.”
เข้าถึงได้จาก https://treaties.un.org/doc/Publication/CTC/Ch_IV_16.pdf
[๓] ดูอ้างอิงที่ ๓๓
[๔] ข้อ ๒๔ แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติว่า
“1. For the purposes of this Convention, “victim” means the disappeared person and any individual who has suffered harm as the direct result of an enforced disappearance…”
เข้าถึงได้จาก https://treaties.un.org/doc/Publication/CTC/Ch_IV_16.pdf
[๕] ดูอ้างอิงที่ ๑, น.๑๘๒
[๖] ข้อ ๒๔ แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ บัญญัติว่า
“...
2. Each victim has the right to know the truth regarding the circumstances of the enforced disappearance, the progress and results of the investigation and the fate of the disappeared person. Each State Party shall take appropriate measures in this regard…”
เข้าถึงได้จาก https://treaties.un.org/doc/Publication/CTC/Ch_IV_16.pdf
[๗] มาตรา ๓๐๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ บัญญัติว่า
“ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือ จำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดตามวรรคแรกได้กระทำโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือได้กระทำเพื่อให้ผู้ถูกข่มขืนใจทำ ถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเอกสารสิทธิอย่างใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท”
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb06/%bb06-20-9999-update.pdf
[๘] มาตรา ๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ บัญญัติว่า
“...
(๔) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖...”
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb05/%bb05-20-9999-update.pdf
[๙] มาตรา ๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ บัญญัติว่า
“ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยมิต้องได้รับอนุญาตจากสามีก่อน
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๕ (๒) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา”
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb05/%bb05-20-9999-update.pdf
[๑๐] มาตรา ๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ บัญญัติว่า
“บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(๑) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(๒) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(๓) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งได้กระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น”
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb05/%bb05-20-9999-update.pdf
[๑๑] มาตรา ๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ บัญญัติว่า
“ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้น หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้...”
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb05/%bb05-20-9999-update.pdf
[๑๒] มาตรา ๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๗๗ บัญญัติว่า
“บุคคลดังระบุในมาตรา ๔,๕ และ ๖ มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ...
(๒) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ...”
สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb05/%bb05-20-9999-update.pdf
[๑๓] คดีหมายเลขดำที่ ๑๙๕๒/๒๕๔๗ คดีหมายเลขแดงที่ ๔๘/๒๕๔๗
[๑๔] ข้อ ๑๘ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๕๑๒ (The Vienna Convention on the Law of Treaties 1969) บัญญัติว่า
“A State is obliged to refrain from acts which would defeat the object and purpose of a treaty when:
(a) It has signed the treaty or has exchanged instruments constituting the treaty subject to ratification, acceptance or approval, until it shall have made its intention clear not to become a party to the treaty; or
(b) It has expressed its consent to be bound by the treaty, pending the entry into force of the treaty and provided that such entry into force is not unduly delayed.”
เข้าถึงได้จาก https://treaties.un.org/doc/publication/unts/volume%201155/volume-1155-i-18232-english.pdf
[๑๕] Human Rights Watch, ประเทศไทย: ปฏิบัติตามขั้นตอนสุดท้ายของการรับรองอนุสัญญาคนหาย, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.hrw.org/th/news/2017/06/09/304828
[๑๖] เพิ่งอ้าง
[๑๗] บทความฉบับนี้เขียนเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐
[๑๘] ดูอ้างอิงที่ ๔๖

© 2016 Office of the Council of State.