BANNER

ประเทศไทย: การคุ้มครองประชาชนในเหตุการณ์บังคับให้บุคคลสูญหาย (๑)


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      16 Oct 2017

  


บทนำ
          เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นครั้งแรกที่เกิดการบังคับให้บุคคลสูญหาย (Enforced Disappearance) เป็นที่ประจักษ์ นายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้นำเผด็จการของพรรคนาซีในเยอรมัน ได้มีคำสั่งพิเศษ “Nacht und Nebel Erlass”หรือ Night and Fog Directive โดยกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายในการจับกุมบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของเยอรมันที่อาศัยในพื้นที่ที่ถูกปกครองโดยนาซี และทำให้พวกเขาหายไปอย่างไร้ร่อยรอย โดยจะไม่มีการให้ข้อมูลใด ๆ แก่ญาติถึงชะตากรรมของบุคคลซึ่งถูกจับกุมไป ต่อมาการบังคับให้บุคคลสูญหายได้เกิดขึ้นอีกครั้งภายใต้การปกครองในลักษณะเผด็จการทหารในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยเริ่มต้นจากบราซิล และจากนั้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ตอนต้น การบังคับให้บุคคลสูญหายได้กลายเป็นลักษณะที่เห็นทั่วไป นอกจากในพื้นที่ลาตินอเมริกาแล้ว มีการรายงานว่าตัวเลขที่มีการบังคับให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นสูงสุดเกิดในอิรัก ศรีลังกา และอดีตยูโกสลาเวีย[๑]
          การบังคับให้บุคคลสูญหายจัดว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ เช่น (๑) สิทธิในความปลอดภัยของร่างกายและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ (๒) สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้า (๓) สิทธิในการถูกควบคุมอย่างมีมนุษยธรรม (๔) สิทธิในการมีผู้แทนทางกฎหมาย (๕) สิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และ (๖) สิทธิในชีวิต ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในชีวิตของครอบครัวเมื่อผู้โดนบังคับให้สูญหายถูกฆาตรกรรม[๒]
 
ความหมาย
          องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ (Non-government Organization-NGO) อธิบายว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อบุคคลใดถูกจับกุม ถูกควบคุม หรือถูกลักพาตัวไปโดยรัฐหรือตัวแทนของรัฐ และปฏิเสธว่าบุคคลนั้นถูกจับกุม หรือปิดบังสถานที่ของบุคคลนั้น ส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ในหลายกรณี บุคคลซึ่งสูญหายไปนั้นไม่ได้รับการปล่อยตัว อีกทั้งครอบครัวและเพื่อนไม่สามารถทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น บ่อยครั้งที่บุคคลซึ่งโดนลักพาตัวไปจะถูกทรมาน และอยู่ในสภาวะเกรงกลัวต่อชีวิต บุคคลนั้นจะถูกลิดรอนสิทธิ และอยู่ใต้อำนาจของผู้จับกุม การละเมิดสิทธิดังกล่าวเป็นการละเมิดที่ยาวนานต่อเนื่องหลายปีนับจากวันที่ถูกลักพาตัว[๓]
          องค์การ Trial International ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐเช่นกันได้อธิบายการบังคับให้บุคคลสูญหายว่า เป็นการกระทำซึ่งทำให้บุคคลใดหายไปโดยขัดกับความสมัครใจ (against his will) และบ่อยครั้งมักจะทันทีทันใด ดังนั้นจึงหมายรวมถึงการจับกุม การควบคุม หรือการลักพาตัวบุคคลใด และต่อมาปฏิเสธที่จะรับรองชะตากรรมของบุคคลนั้น ตัวแทนของรัฐมักจะเป็นผู้กระทำความผิดนี้โดยไม่ต้องรับโทษและเป็นการกำจัดบุคคลใดก็ได้ที่รัฐอาจมองว่า “ก่อความรำคาญ” โดยไม่ต้องออกหมายจับ ไม่มีข้อหา และไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ กับบุคคลนั้น เมื่อบุคคลซึ่งถูกบังคับให้สูญหายไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย จึงอยู่ในฐานะที่อ่อนแอกว่าอย่างยิ่ง และมีความเสี่ยงที่จะถูกทรมานหรือฆาตกรรม โดยผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ[๔]
         
ตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศ
          ประชาคมระหว่างประเทศได้ดำเนินมาตรการเพื่อรองรับในด้านการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยดำเนินการทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้ง (๑) 1992 Declaration on the Protection of all Persons from Enforced Disappearance[๕] (๒) 1994 Inter-American Convention on Forced Disappearance of Persons[๖] (๓) ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (1998 Rome Statute of the International Criminal Court - Rome Statute)[๗] และล่าสุดคือ (๔) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ (2010 International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED) การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการโดยเป็นการละเมิดทั้งสิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเพียงตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศเพียง ๕ ฉบับหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
          ๑. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๐๙ (1966 International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) - เป็นกติการะหว่างประเทศที่กำหนดให้รัฐภาคีเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของปัจเจกชน ซึ่งรวมไปถึงสิทธิที่จะมีชีวิต[๘] สิทธิในการเลือกศาสนา[๙] สิทธิในการแสดงความคิดเห็น[๑๐] สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ[๑๑] สิทธิในการเลือกตั้ง[๑๒] และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ชักช้าและเป็นธรรม[๑๓]
          คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) พิเคราะห์ว่า การกระทำใด ๆ ที่นำไปสู่การทำให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดหลายสิทธิภายใต้กติกาฯ ฉบับนี้ ทั้งสิทธิในความปลอดภัยของร่างกายและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์[๑๔] สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้า[๑๕] สิทธิของบุคคลทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพที่จะต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความมีมนุษยธรรม และความเคารพในศักดิ์ศรีแต่กำเนิดแห่งความเป็นมนุษย์[๑๖] รวมถึงเป็นการละเมิดหรือถือว่าเป็นภัยอย่างร้ายแรงแก่สิทธิที่จะมีชีวิต[๑๗]
 
          ๒. ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๑ (1998 Rome Statute of the International Criminal Court) – ธรรมนูญฯ ฉบับนี้บัญญัติความหมายของการบังคับให้บุคคลสูญหายในข้อ ๗ (๑) (ฌ) โดยขยายความในข้อ ๗ (๒) (ฌ) โดยเป็นความหมายที่ได้มาจากการอ้างอิงกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น 1992 United Nations Declaration on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance และ 1994 Inter-American Convention on Enforced Disappearance of Persons[๑๘] ความผิดฐานบังคับให้บุคคลสูญหายตามข้อ ๗ แห่งธรรมนูญกรุงโรมฯ เป็นความผิดที่ซับซ้อน ผู้กระทำผิดหลายคนอาจถูกดำเนินคดีการบังคับให้สูญหายในขั้นตอนที่แตกต่างกันถึงแม้ว่าผู้กระทำผิดบางคนอาจทราบหรือไม่ทราบถึงการกระทำผิดโดยบุคคลอื่นในกระบวนการทั้งหมด[๑๙] การบังคับให้บุคคลสูญหายประกอบด้วยการกระทำสองรูปแบบหลัก กล่าวคือ การลิดรอนเสรีภาพของเหยื่อ และการไม่เปิดเผยข้อมูล ผู้ที่ลิดรอนเสรีภาพของเหยื่อไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล[๒๐] และในทางกลับกันผู้ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ลิดรอนเสรีภาพของเหยื่อแต่ทุกคนจะต้องทราบบริบทของการกระทำความผิดนี้ การที่จะครบองค์ประกอบความผิดอาญา บุคคลใดจะเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อจับกุม ควบคุม หรือลักพาตัวเหยื่อ และปฏิเสธที่จะยอมรับ หรือหากผู้กระทำความผิดเหล่านั้นปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมหรือที่อยู่ของเหยื่อ[๒๑] ผู้กระทำความผิดจะต้องทราบว่าตนทำในบริบทที่เป็นการโจมตีในลักษณะแพร่กระจายหรือเป็นระบบต่อประชาชน นอกจากนี้ หากผู้กระทำผิดมีเจตนาจะทำให้บุคคลหรือหลายบุคคลพ้นจากความคุ้มครองตามกฎหมายเป็นระยะเวลานาน ผู้กระทำความผิดนั้นได้กระทำความผิดลักพาตัว[๒๒]
          นอกจากองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความหมายตามธรรมนูญกรุงโรมฯ กำหนดว่าผู้ที่กระทำการบังคับให้บุคคลสูญหายจะต้องทำโดย “ได้รับอำนาจ การสนับสนุน หรือการยินยอมจากรัฐ หรือองค์กรของรัฐ” ซึ่งหมายความว่านโยบายในการบังคับให้บุคคลสูญหายต้องมีที่มาจากนโยบายของรัฐหรือจากกิจการขององค์กรของรัฐ มิใช่เจตนาส่วนบุคคล
 
๓. อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ (1984 Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) – อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับการรับรองจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ (มติที่ ๓๙/๔๖)[๒๓] และมีผลใช้บังคับเมื่อมีประเทศภาคีลงนามในอนุสัญญาครบ ๒๐ ประเทศเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยอนุสัญญาฯ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อต่อต้านการทรมาน[๒๔] และรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ ฉบับนี้มีหน้าที่หลายประการ สรุปได้ดังต่อไปนี้
                   ๓.๑ ใหรัฐภาคีแต่ละรัฐดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการหรือมาตรการอื่น ๆ ที่มีประสิทธิผลเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำการทรมาน โดยข้อห้ามในการห้ามกระทำการทรมานเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ (absolute) และรัฐไม่สามารถอ้างพฤติการณ์พิเศษอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม หรือสภาพคุกคามที่จะเกิดสงคราม การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ หรือสภาวะฉุกเฉินสาธารณะอื่นใดมาเป็นมาเป็นเหตุผลสำหรับการทรมานได้[๒๕]
                   ๓.๒ ไม่มีรัฐภาคีใดที่สามารถขับไล่ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังรัฐที่มีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน[๒๖]
                   ๓.๓ ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันให้การกระทำทั้งปวงเกี่ยวกับการทรมานเป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงภายในระบบกฎหมายของรัฐตน[๒๗]
                   ๓.๔ เมื่อมีพฤติการณ์บางประการ รัฐภาคีจะต้องนำผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำการทรมานไว้ให้อยู่ในความดูแลของรัฐและไต่สวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้น[๒๘]
                   ๓.๕ ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐส่งบุคคลที่ต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดการทรมานเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หรือมอบคดีให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีของตน[๒๙]
                   ๓.๖ ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐรับรองว่าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจของตนจะดำเนินการสืบสวนเมื่อมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำการทรมาน[๓๐]
                   ๓.๗ ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐรับรองว่า ปัจเจกบุคคลที่อ้างว่าได้รับการทรมานจะได้รับการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ[๓๑]
                   ๓.๘ ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐรับรองว่าบุคคลซึ่งเป็นเหยื่อของการทรมานจะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ[๓๒]
          นอกจากนี้อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ได้กลายเป็นแหล่งที่มาของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ. ๒๕๕๓ อีกด้วย[๓๓] จุดประสงค์หลักของทั้งอนุสัญญาฯ ฉบับนี้และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับเป็นการออกแบบตามอนุสัญญาที่มีอยู่เดิมที่ต่อต้านการก่อการร้าย[๓๔] โดยบทบัญญัติของอนุสัญญาสองฉบับหลังเกิดจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาที่ผู้กระทำการทรมานไม่ต้องรับผิด  ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายมีการปฏิบัติที่แพร่หลายในหลายประเทศถึงแม้ว่าจะมีการห้ามปรามอย่างเข้มงวดภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายด้านมนุษยธรรม[๓๕]
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติอนุสัญญาฯ ฉบับนี้เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำการทรมานหรือการปฏิบัติอื่น ๆ ที่เข้าข่ายควาหมายแห่งอนุสัญญา ฯ ทั้งปวง
           
          ๔. 1992 United Nations Declaration on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance – เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติมีมติที่ ๔๗/๑๓๓ รับรองปฏิญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลทั้งมวลให้ปลอดจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ[36] โดยขณะนั้นถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการที่ประชาคมโลกจะให้ความสนใจต่อการบังคับให้บุคคลสูญหายซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเป็นตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกที่กล่าวถึงการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยตรง แต่เนื่องจากปฏิญญาฯ ฉบับนี้ยังขาดความสมบูรณ์ในหลาย ๆ ด้าน โดยปฏิญญาฯ ไม่ได้กล่าวอย่างชัดแจ้งถึงสิทธิในการที่จะไม่โดนบังคับให้เป็นบุคคลสูญหายในฐานะที่เป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้ (non-derogable human right) และเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง (autonomous) ไม่ได้กล่าวถึงสิทธิในการที่จะรับรู้ความจริงและการห้ามกักขังบุคคลใดเป็นการลับ และสิทธิในการก่อตั้งหรือเข้าร่วมในสมาคมของญาติของบุคคลซึ่งหายสาบสูญ นอกจากนี้ปฏิญญาฯ ไม่ได้กำหนดไว้ว่ารัฐจะสามารถใช้เขตอำนาจศาลเหนือบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการบังคับให้บุคคลอื่นสูญหายในกรณีไหนบ้าง ปฏิญญาฯ ไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าข้อมูลที่จะต้องให้แก่ญาติของบุคคลซึ่งสูญเสียอิสระมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองบุคคลทั้งมวลจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ และได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัยที่ ๖๑ ของสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติในวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ และมีผลใช้บังคับเมื่อมีประเทศภาคีลงนามในอนุสัญญาครบ ๒๐ ประเทศในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
 
[๑] Nowak, M. Torture and enforced disappearanceIn International Protection of Human Rights: A Textbook, Krause, C.; Scheinin, M. (eds.). Turku: Institute for Human Rights, Abo Akademi University, ๒๕๕๒, น. ๑๕๒
[๒] Boot, M.; Hall, C. K. Crimes against Humanity. In Commentary on the Rome Statute of the International Criminal Court: Observer’s Notes, Article by Article, ฉบับที่ ๒, แก้โดย Triffterer, O., C.H. Beck-HartNomos, ๒๕๕๑, น. ๒๒๑
[๓] Amnesty International, Disappearances, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.amnesty.org/en/what-we-do/disappearances/
[๔] Trial International, Force Disappearance, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://trialinternational.org/topics-post/enforced-disappearance/
[๕] องค์การสหประชาชาติ, มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติที่ ๔๗/๑๓๓, ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.un.org/documents/ga/res/47/a47r133.htm
[๖] Inter-American Convention on Forced Disappearance of Persons, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.cidh.oas.org/Basicos/English/Basic11.Disappearance.htm
[๗] ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.icc-cpi.int/nr/rdonlyres/ea9aeff7-5752-4f84-be94-0a655eb30e16/0/rome_statute_english.pdf
[๘] ข้อ ๖ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองปี พ.ศ. ๒๕๐๙ (ICCPR) เข้าถึงได้จาก https://treaties.un.org/doc/publication/unts/volume%20999/volume-999-i-14668-english.pdf
[๙] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๑๘
[๑๐] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๑๘, ๑๙
[๑๑] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๒๑
[๑๒] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๒๕
[๑๓] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๑๔
[๑๔] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๙
[๑๕] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๗
[๑๖] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๑๐
[๑๗] โปรดดู Communication เลขที่ ๙๕๐/๒๐๐๐, Sarma v. Sri Lanka, ความเห็นวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://hrlibrary.umn.edu/undocs/950-2000.html
[๑๘] ข้อ ๗ (๒) (ฌ) ประกอบข้อ ๗ (๑) (ฌ) บัญญัติว่า
“Enforced disappearance of persons” means the arrest, detention or abduction of persons by, or with the authorization, support or acquiescence of, a State or a political organization, followed by a refusal to acknowledge that deprivation of freedom or to give information on the fate or whereabouts of those persons, with the intention of removing them from the protection of the law for a prolonged period of time.”
[๑๙] Oxford University Press, International Criminal Law, เกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี, ๒๕๔๔, น. ๑๒๓
[๒๐] T.M.C. Asser Press, Principles of International Criminal Law, Gerhard Werle, ๒๕๔๘, น. ๒๖๐-๒๖๑
[๒๑] องค์การสหประชาชาติ (United Nations), Preparatory Commission for the International Criminal Court, PCNICC/๒๐๐๐/๑/Add.๒, ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓, น.๑๕, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://documents-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/GEN/N00/724/27/PDF/N0072427.pdf?OpenElement
[๒๒] เพิ่งอ้าง
[๒๓] องค์การสหประชาชาติ, มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติที่ ๓๙/๔๖, ๒๕๒๗, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.un.org/documents/ga/res/39/a39r046.htm
[๒๔] Audiovisual Library of International Law, Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment, Hans Danelius, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://legal.un.org/avl/ha/catcidtp/catcidtp.html
[๒๕] ข้อ ๒ แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติว่า
“1. Each State Party shall take effective legislation, administrative, judicial or other measure to prevent acts of torture in any territory under its jurisdiction.
2. No exceptional circumstances whatsoever, whether a state of war or a threat of war, internal political instability or any other public emergency, may be invoked as a justification of torture...”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CAT.aspx
[๒๖] ข้อ ๓ แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติว่า
“ 1. No State Party shall expel, return (“refouler”) or extradite a person to another State where there are substantial grounds for believing that he would be in danger of being subjected to torture...”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CAT.aspx
[๒๗] ข้อ ๔ แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติว่า
“ 1. Each State Party shall ensure that all acts of torture are offences under its criminal law. The same shall apply to an attempt to commit torture and to an act by any person which constitutes complicity or participation in torture...”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CAT.aspx
[๒๘] ข้อ ๖ แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติว่า
“1. Upon being satisfied, after an examination of information available to it, that the circumstances so warrant, any State Party in whose territory a person alleged to have committed any offence referred to in article 4 is present shall take him into custody or take other legal measures to ensure his presence. The custody and other legal measures shall be as provided in the law of that State by may be continued only for such time as is necessary to enable any criminal or extradition proceedings to be instituted.
2. Such State shall immediately make a preliminary inquiry into the facts...”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CAT.aspx
[๒๙] ข้อ ๗ แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติว่า
“1. The State Party in the territory under whose jurisdiction a person alleged to have committed any offence referred to in article 4 is found shall in the cases contemplated in article 5, if it does not extradite him, submit the case to its competent authorities for the purpose of prosecution...”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CAT.aspx
[๓๐] ข้อ ๑๒ แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติว่า
“Each State Party shall ensure that its competent authorities proceed to a prompt and impartial investigation, wherever there is reasonable ground to believe that an act of torture has been committed in any territory under its jurisdiction.”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CAT.aspx
[๓๑] ข้อ ๑๓ แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติว่า
“Each State Party shall ensure that any individual who alleges he has been subjected to torture in any territory under its jurisdiction has the rights to complain to, and to have his case promptly and impartially examined be, its competent authorities. Steps shall be taken to ensure that the complainant and witnesses are protected against all ill-treatment or intimidation as a consequence of his complaint or any evidence given.”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CAT.aspx
[๓๒] ข้อ ๑๔ แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติว่า
“1. Each State Party shall ensure in its legal system that the victim of an act of torture obtains redress and has an enforceable right to fair and adequate compensation, including the means for as full rehabilitation as possible, in the event of the death of the victim as a result of an act of torture, his dependents shall be entitled to compensation…”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CAT.aspx
[๓๓] University of Wroclaw, The Concept of Enforced Disappearances in International Law, Dalia Vitkauskaitè-Meurice, Justinas Žilinskas, ๒๕๕๓, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.mruni.eu/upload/iblock/934/9Vitkauskaite_Meurice.pdf
[๓๔] เช่น อนุสัญญาเพื่อการปราบปรามการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายต่อความปลอดภัยของการบินพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๔ หรืออนุสัญญามอนทริออล (1971 Montreal Convention for the Suppression of Unlawful Acts against the Safety of Civil Aviation)
[๓๕] ดูอ้างอิงที่ ๑, น.๑๘๑
[๓๖] คำแปลผู้เขียน

© 2017 Office of the Council of State.