BANNER

สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาในปัจจุบัน (๒)


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      06 Sep 2017

  


ตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
          ๑. อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ (1951 Convention Relating to the Status of Refugees) อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นอนุสัญญาที่เกิดจากรวบรวมกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยไว้ในฉบับเดียว โดยได้ถูกร่างขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อนุสัญญาฉบับนี้ตราขึ้นบนพื้นฐานของหลักการพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่ง คือ หลักการห้ามผลักดันกลับ (principle of non-refoulement) [๑] ซึ่งจะกล่าวถึงในข้อที่ ๓ ต่อไป อนุสัญญาฉบับนี้มีความแตกต่างกับตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยที่มีอยู่ก่อนอนุสัญญาฉบับนี้ เนื่องจากตราสารอื่น ๆ นั้นกำหนดใช้กับผู้ลี้ภัยแต่ละชนกลุ่มโดยเฉพาะ ในขณะที่อนุสัญญาฉบับนี้ไม่ได้ระบุให้ใช้บังคับกับผู้ลี้ภัยกลุ่มใดกลุ่มหนุ่งโดยเฉพาะ[๒] อย่างไรก็ตาม ขอบเขตของอนุสัญญาผู้ลี้ภัยนี้มีข้อจำกัดสำคัญสองประการ[๓] ได้แก่ (๑) ข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ ฉบับนี้จะต้องเป็นผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในทวีปยุโรป และ (๒) ข้อจำกัดด้านเวลา เนื่องจากเหตุการณ์ที่จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ นี้ได้ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๔
          จากข้อจำกัดสองประการดังกล่าว ทำให้ผู้ที่มีเหตุแห่งการลี้ภัยเกิดขึ้นหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๒๔๗๔ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ได้ ประกอบกับปัญหาผู้ลี้ภัยยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการตราพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ ขึ้นเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้
          อนุสัญญาฯ ฉบับนี้เป็นตราสารฉบับแรกที่กล่าวถึงหลักการห้ามผลักดันกลับ โดยข้อ ๓๓ (๑)[๔] กำหนดห้าม “การผลักดันกลับ (refoulement)” ไม่ว่าจะโดยลักษณะใด ๆ (in any manner whatsoever) ซึ่งรวมถึงการบังคับให้ออกจากประเทศ (forcible removal) ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเนรเทศ การขับไล่ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการโอนย้ายอย่างไม่เป็นทางการ โดยหลักการนี้ใช้บังคับใช้ในกรณีการส่งกลับประเทศต้นทาง หรือในกรณีของบุคคลไร้รัฐก็จะไม่ถูกส่งกลับภูมิลำเนาซึ่งใช้เป็นถิ่นที่อยู่ อีกทั้งหลักการนี้สามารถใช้ได้ในกรณีที่บุคคลมีเหตุว่าจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตหรืออิสรภาพหากย้ายไปที่นั้น ๆ โดยมีฐานจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งตามหลักในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย
          แม้ว่าหลักการนี้จะไม่ได้ให้สิทธิแก่บุคคลในการแสวงหาการลี้ภัย (seek asylum) แต่หลักการนี้เป็นการรับรองว่าหากรัฐไม่พร้อมที่จะให้บุคคลใดอยู่ในรัฐ รัฐก็ยังจำเป็นต้องหามาตรการอื่นที่จะไม่โยกย้ายบุคคลเหล่านั้นทั้งทางตรงและทางอ้อมไปยังที่ซึ่งชีวิตหรือเสรีภาพของบุคคลนั้นมีความเสี่ยงว่าจะตกอยู่ในอันตรายเนื่องมาจากเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ หรือการเป็นสมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือความคิดด้านการเมือง
          ข้อยกเว้นในการบังคับใช้หลักการนี้มีเพียงเหตุการณ์ที่บัญญัติอย่างชัดแจ้งภายใต้ข้อ ๓๓ (๒) เท่านั้น[๕] อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นดังกล่าวมีผลต่อผู้ลี้ภัยเป็นรายบุคคล อีกทั้งรัฐผู้รับยังคงมีหน้าที่ที่จะไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับถ้าหากว่าการผลักดันกลับนั้นจะทำให้ผู้ลี้ภัยได้รับความเสี่ยงต่อชีวิตหรือเสรีภาพ เช่น การทรมาน โดยข้อ ๔๒ (๑) ของอนุสัญญาฯ ได้กำหนดไว้[๖] ว่าข้อ ๓๓ (๒) นี้ไม่สามารถยกเลิสกเพิกถอน และกำหนดข้อยกเว้นได้ ดังนั้นรัฐที่ต้องการจะอ้างข้อยกเว้นในข้อ ๓๓ (๒) จะต้องคำนึงถึงหน้าที่ที่ตนมีอย่างเคร่งครัด
          ๒. พิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ (1967 Protocol Relating to the Status of Refugees) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีมติที่ ๒๑๙๘ (๒๑) เกี่ยวกับพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัยโดยพิจารณาถึงสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นจะไม่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าวเนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา  ประกอบกับเหตุแห่งการลี้ภัยไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในทวีปยุโรป แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดสถานภาพที่เท่าเทียมกันของผู้ลี้ภัยทั้งหมดภายใต้คำจำกัดความเดิมในอนุสัญญาฯ ข้อ ๑ (๒) แห่งพิธีสารฯ ฉบับนี้ได้ยกเลิกข้อจำกัดด้านช่วงเวลาของความเป็นผู้ลี้ภัยและพื้นที่ที่ทำให้เกิดสถานะผู้ลี้ภัย กล่าวคือไม่จำกัดเฉพาะผู้ลี้ภัยก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๔[๗] และไม่จำเป็นที่จะเป็นผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในทวีปยุโรป[๘]
          พิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นตราสารที่เป็นเอกเทศ รัฐภาคีของพิธีสารจึงไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ อย่างไรก็ตามรัฐภาคีของพิธีสารฯ ฉบับนี้ก็มีหน้าที่ที่จะบังคับใช้ข้อ ๒ ถึงข้อ ๓๔ ของอนุสัญญาฯ[๙] ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นภาคีของพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ ทั้งสิ้น ๑๔๖ ประเทศ[๑๐]
          ๓. หลักระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามผลักดันกลับ (the international law principle of non-refoulement) แนวคิดทางสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่ถือกำเนิดมานาน โดยเป็นแนวคิดที่ปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์หรือสิทธิมนุษยชน เช่น คำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๓๑๙ (United States Declaration of Independence, 1776) คำประกาศว่าด้วยเรื่องสิทธิพลเมือง พ.ศ. ๒๓๓๔ (Bill of Rights, 1791) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง พ.ศ. ๒๓๓๒ (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen, France, 1789) เป็นต้น ซึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ตัวแทนจาก ๕๐ ประเทศได้ลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติ และเมื่อกฎบัตรผ่านการลงนามจากสมาชิกจึงเป็นการสถาปนาองค์กรอย่างเป็นทางการภายใต้นามว่าองค์กรสหประชาชาติ (United Nations Organization – UNO แต่ต่อมาได้เปลี่ยน United Nations – UN) และกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนก็ได้ถือกำเนิดขึ้นคือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights-UDHR) ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันได้มีการร่างกฎหมายระหว่างประเทศอีกหลายฉบับเพื่อให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อยมา
หลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย (refouler เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ส่งกลับ หรือขับไล่) ได้กำหนดพันธกรณีแก่รัฐในเชิงปฏิเสธ (negative obligation)[๑๑] กล่าวคือ รัฐผู้รับ (Host state) ไม่สามารถผลักดันผู้อพยพหรือผู้แสวงหาแหล่งพักพิงหรือลี้ภัยกลับออกไปได้ หากว่าการผลักดันนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือเสรีภาพของผู้นั้น  อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ไม่ได้กำหนดพันธกรณีในเชิงบวก กล่าวคือ รัฐที่ปฏิบัติตามหลักการนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องให้สถานะผู้ลี้ภัย[๑๒] และหลักการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ลี้ภัยที่จะได้แหล่งพักพิงจากรัฐผู้รับ[๑๓] นอกจากนี้หลักการนี้ถือเป็นกฎหมายจารีตประเพณีที่ประเทศในยุโรปให้การยอมรับ[๑๔]
          นอกจากหลักการห้ามผลักดันกลับจะได้รับการรับรองในตราสารระหว่างประเทศหลายฉบับดังที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้นแล้ว ในความเห็นของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) หลักการนี้เป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศด้วยซึ่งเป็นหนึ่งในบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศด้วย[๑๕] ทั้งนี้การที่หลักการนี้จะถือเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้จำเป็นต้องอาศัย ๒ องค์ประกอบ กล่าวคือ (๑) ทางปฏิบัติของรัฐ (consistent State practice) และ (๒) ความเชื่อว่าทางปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิ่งต้องกระทำ ต้องห้ามหรืออนุญาตให้กระทำได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของกฎเกณฑ์นั้น ๆ ในเชิงกฎหมาย (opinio juris sive necessitatis)
UNHCR ได้ให้ความเห็นว่า หลักการห้ามผลักดันกลับนี้มีองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง ๒ ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงถือว่าเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ[๑๖] และมีผลผูกพันกับทุกรัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาคีของอนุสัญญาตามข้อ ๒.๑ ถึง ๒.๔ หรือไม่ก็ตาม
๔. อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ (1984 Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT) อนุสัญญาฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการมุ่งเน้นคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ทุกคน โดยบัญญัติหลักการห้ามผลักดันกลับไว้ในข้อ ๓ (๑)[๑๗] รัฐภาคีไม่สามารถยกเลิกเพิกถอน หรือกำหนดข้อยกเว้นพันธกรณีของตนตามข้อบทนี้ได้เนื่องจาก “การทรมาน” มีสถานะเป็น jus cogens ซึ่งเป็นกฎหมายเด็ดขาดที่ไม่สามารถละเมิดได้[๑๘]
          ด้วยเหตุนี้บทบัญญัติในข้อ ๓ แห่งอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ จึงให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยมากกว่าอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื่องจากทั้งไม่สามารถยกเลิกเพิกถอนหรือกำหนดข้อยกเว้น และไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดข้อยกเว้นดั่งข้อ ๓๓ (๒) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔
          ๕. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๐๙ (1966 International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เป็นกติการะหว่างประเทศที่กำหนดให้รัฐภาคีเคารพสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของปัจเจกชน ซึ่งรวมไปถึงสิทธิที่จะมีชีวิต[๑๙] สิทธิในการเลือกนับถือศาสนา[๒๐] สิทธิในการแสดงความคิดเห็น[๒๑] สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ[๒๒] สิทธิในการเลือกตั้ง[๒๓] และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ชักช้าและเป็นธรรม[๒๔] นอกจากการกำหนดสิทธิต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วยังมีการกล่าวถึงเรื่องหลักการห้ามผลักดันกลับอีกด้วย
          แม้ว่ากติกาฯ ฉบับนี้จะไม่ได้กล่าวถึงหลักการห้ามผลักดันกลับอย่างชัดแจ้ง แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ได้ตีความบทบัญญัติในข้อ ๗ ว่า “รัฐภาคีต้องไม่ให้บุคคลตกอยู่ในอันตรายจากการทรมาน ได้รับการปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีจากการกลับคืนสู่ประเทศอื่นโดยบังคับให้บุคคลออกจากดินแดนด้วยการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน การขับไล่ หรือการผลักดันกลับ ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีความเสี่ยงที่แท้จริงที่จะเป็นอันตรายในลักษณะที่ไม่สามารถเยียวยาได้ โดยสิทธินี้เป็นสิทธิของทุกคนที่อยู่ในดินแดนและในทุกสถานการณ์โดยไม่อาจเพิกถอนได้”[๒๕]
          ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการตีความบทบัญญัติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในลักษณะดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าข้อ ๗ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๐๙ มีขอบเขตที่ครอบคลุมถึงหลักการห้ามผลักดันกลับด้วย
          ๖. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ. ๒๕๓๒ (1989 Convention on the Rights of the Child – CRC) อนุสัญญาฉบับนี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงหลักการห้ามผลักดันกลับโดยตรงเช่นกัน แต่มีข้อ ๓๗ ที่บัญญัติในลักษณะที่คล้ายกับข้อ ๓ ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗[๒๖] แม้ว่าข้อ ๓๗ จะไม่ได้กล่าวถึงหลักการห้ามผลักดันกลับไว้ แต่คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (Committee on the Rights of the Child) ได้ขยายขอบเขตข้อนี้ว่า “รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กจะต้องไม่ส่งเด็กกลับสู่ประเทศที่มีมูลเหตุอันเชื่อได้ว่ามีความเสี่ยงต่ออันตรายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อเด็ก เช่น ในกรณีตามข้อ ๖ และข้อ ๓๗ แห่งอนุสัญญาฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเด็กกลับไปยังประเทศที่จะมีความเสี่ยงนั้นแก่เด็ก หรือไปยังประเทศที่หากส่งเด็กไปแล้วอาจถูกส่งกลับประเทศซึ่งมีความเสี่ยงเดิม”[๒๗]
กรณีส่วนมากที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหลักการนี้นั้น รัฐที่พิพาทมักจะเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ หรือพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ ทำให้ไม่มีปัญหาในการพิจารณาว่าหลักการนี้เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศหรือไม่ เนื่องจากทั้งสองรัฐมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งสองฉบับซึ่งตนเป็นภาคีอยู่  อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายคดีที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ จำเป็นต้องพึ่งพาหลักการห้ามผลักดันกลับเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแก่รัฐซึ่งมิได้เป็นภาคีของสนธิสัญญาระหว่างประเทศสองฉบับดังกล่าว[๒๘] และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวว่า ตัวแทนของแต่ละรัฐได้ปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการแสดงออกว่ายอมรับในหลักการนี้ ในหลายกรณีรัฐต่าง ๆ ซึ่งมิได้เป็นภาคีเคยขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการห้ามผลักดันกลับ และให้การในลักษณะที่ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้เป็นผู้ลี้ภัยแทน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐขอคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการเป็นการแสดงออกชัดว่ารัฐซึ่งไม่ได้เป็นภาคีนั้นก็ยอมรับหลักการนี้เช่นกัน[๒๙]
จากตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กล่าวไปข้างต้น พบว่า ประเทศไทย บังกลาเทศ และเมียนมาเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ แต่ละฉบับตามตารางต่อไปนี้[๓๐]
  ประเทศไทย บังกลาเทศ เมียนมา
อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ û û û
พิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ û û û
อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ ü ü û
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๐๙ ü ü û
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ. ๒๕๓๒ ü ü ü
หมายเหตุ: เครื่องหมาย û หมายถึงไม่เป็นภาคี เครื่องหมาย ü หมายถึงเป็นภาคี
          ข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทย เมียนมา และบังกลาเทศ ไม่มีประเทศใดเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ และพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ เลย หมายความว่าไม่มีประเทศใดที่มีพันธกรณีตามที่บัญญัติในอนุสัญญาหรือพิธีสารข้างต้น  แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีพันธกรณีตามตราสารทาง กฎหมายระหว่างประเทศ แต่ทั้งสามประเทศยังคงมีพันธกรณีตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศอยู่
 
[๑] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๓๓
[๒] ข้อ ๑ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ สรุปใจความได้ว่า “ผู้ลี้ภัย” หมายถึง บุคคลซึ่งไม่สามารถหรือไม่เต็มใจกลับประเทศต้นทางของตนเนื่องมาจากความกลัวซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่าจะได้รับการประหัตประหารด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือทางความคิดด้านการเมืองก็ตาม, เข้าได้ถึงจาก https://www.unhcr.or.th/sites/default/files/Refugee%20Convention%201951%20(Thai).pdf
[๓] เพิ่งอ้าง, ข้อ ๑
[๔] ข้อ ๓๓ (๑) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ บัญญัติว่า
“No Contracting State shall expel or return (“refouler”) a refugee in any manner whatsoever to the frontiers of territories where his life or freedom would be threatened on account of his race, religion, nationality, membership of a particular social group or political opinion”
เข้าได้ถึงจาก http://www.unhcr.org/protect/PROTECTION/3b66c2aa10.pdf
[๕] ข้อ ๓๓ (๒) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ บัญญัติว่า
“The benefit of the present provision may not, however, be claimed by a refugee whom there are reasonable grounds for regarding as a danger to the security of the country in which he is, or who, having been convicted by a final judgment of a particularly serious crime, constitutes a danger to the community of that country.”
เข้าถึงได้จาก http://www.unhcr.org/protect/PROTECTION/3b66c2aa10.pdf
[๖] ข้อ ๔๒ (๑) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๔๙๔ บัญญัติว่า
“At the time of signature, ratification, or accession, any State may make reservations to articles of the Convention other than to articles 1, 3, 4, 16(1), 33, 36-46 inclusive.”
เข้าถึงได้จาก http://www.unhcr.org/protect/PROTECTION/3b66c2aa10.pdf
[๗] มติการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ที่ ๒๑๙๘ (๒๑) พิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ลี้ภัยhttps://www.unhcr.or.th/sites/default/files/Refugee%20Protocol%201967%20(Thai).pdf
[๘] ข้อ ๑ (๒) แห่งพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ บัญญัติว่า
“For the purpose of the present Protocol, the term “refugee” shall, except as regards the application of paragraph 3 of this article, mean any person within the definition of Article I of the Convention as if the words “As a result of events occurring before 1 January 1951 and…” and the words “…as a result of such events”, in article 1 A (2) were omitted.”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/Documents/ProfessionalInterest/protocolrefugees.pdf
[๙] ข้อ ๑ (๑) แห่งพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ บัญญัติว่า
“The State Parties to the present Protocol undertake to apply articles 2 to 34 inclusive of the Convention to refugees as hereinafter defined.”
เข้าถึงได้จาก http://www.ohchr.org/Documents/ProfessionalInterest/protocolrefugees.pdf
[๑๐] United Nations Treaty Collection, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://treaties.un.org/Pages/ViewDetails.aspx?src=IND&mtdsg_no=V-5&chapter=5&lang=en
[๑๑] The Canadian Yearbook of International Law, The United Nations Declaration on Territorial Asylum, P. Weis, ๒๕๑๒, น.๑๔๒, เข้าถึงได้จาก https://www.cambridge.org/core/journals/canadian-yearbook-of-international-law-annuaire-canadien-de-droit-international/article/united-nations-declaration-on-territorial-asylum/54E45B1E2A099A980A8A240E60C4927F
[๑๒] เพิ่งอ้าง
[๑๓] Oxford University Press, The Law of International Human Rights Protection, Walter Kalin และ Jorg Kunzil, ๒๕๕๒, น.๕๑๑, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐
[๑๔] EU Law Analysis, Non-refoulement: is part of the EU’s qualification Directive invalid?, Steve Peers, ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://eulawanalysis.blogspot.com/2017/01/non-refoulement-is-part-of-eus.html; European Union Agency for Fundamental Rights, Scope of the principle of non-refoulement in contemporary border management: evolving areas of law, ๒๕๕๙, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://fra.europa.eu/sites/default/files/fra_uploads/fra-2016-scope-non-refoulement_en.pdf
[๑๕] ข้อ ๓๘ (๑)(ข) แห่งธรรมนูญจัดตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of the International Court of Justice) บัญญัติว่า
“The Court, whose function is to decide in accordance with international law such disputes as are submitted to it, shall apply:
                b. international custom, as evidence of a general practice accepted as law…”
เข้าถึงได้จาก http://legal.un.org/avl/pdf/ha/sicj/icj_statute_e.pdf
[๑๖] โปรดดูอ้างอิงที่ ๓๐ ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), Advisory Opinion on the Extraterritorial Application of Non-Refoulement Obligations under the 1951 Convention relating to the Status of Refugees and its 1967 Protocol, ๒๕๕๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.unhcr.org/4d9486929.pdf
[๑๗] ข้อ ๓ (๑) แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. ๒๕๒๗ บัญญัติว่า
“รัฐภาคีตองไม่ขับไล่ สงกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือสงบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้วาบุคคลนนจะตกอยู่ภายใตอันตรายที่จะถูกทรมาน”
เข้าถึงได้จาก http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/catt.pdf
[๑๘] โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศไม่มีลำดับศักดิ์เหมือนอย่างกฎหมายภายในประเทศ ดังนั้นกฎหมายที่มาจากบ่อเกิดทั้งสามตามข้อ ๓๘ (๑) แห่งธรรมนูญจัดตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Statute of the International Court of Justice – ICJ): ตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศ (treaties) กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ (Customary International Law) และหลักกฎหมายทั่วไป (general principles of law) ถือว่ามีลำดับศักดิ์เท่ากัน ซึ่งจะต่างกับกฎหมายภายในประเทศซึ่งกฎหมายลำดับรองไม่สามารถขัดกับกฎหมายที่มีลำดับสูงกว่าได้ เช่น พระราชบัญญัติไม่สามารถขัดกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญได้ แต่ข้อยกเว้นในเรื่องการไม่มีลำดับศักดิ์ของกฎหมายระหว่างประเทศคือ Jus cogens ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศที่มีลักษณะเป็นกฎหมายเด็ดขาดซึ่งจะละเมิดมิได้ เป็นกฎหมายบังคับเด็ดขาดหรือกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ได้ยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ (General Principles of Law as Recognised by Civilised Nations)
[๑๙] ข้อ ๖ แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองปี พ.ศ. ๒๕๐๙ (ICCPR) เข้าถึงได้จาก https://treaties.un.org/doc/publication/unts/volume%20999/volume-999-i-14668-english.pdf
[๒๐] เพิ่งอ้าง, มาตรา ๑๘
[๒๑] เพิ่งอ้าง, มาตรา ๑๘, ๑๙
[๒๒] เพิ่งอ้าง, มาตรา ๒๑
[๒๓] เพิ่งอ้าง, มาตรา ๒๕
[๒๔] เพิ่งอ้าง, มาตรา ๑๔
[๒๕] ข้อ ๑๙, Advisory Opinion on the Extraterritorial Application of Non-Refoulement Obligations under the 1951 Convention on the Status of Refugees and its 1967 Protocol, UNHCR, ๒๕๕๐, เข้าถึงได้จาก http://www.unhcr.org/4d9486929.pdf และ ข้อ ๙, หน้า ๑๕๒, ความเห็นทั่วไปฉบับที่ ๒๐ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตามข้อที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องการห้ามการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Human Rights Committee, General Comments No.20: Article 7 (Prohibition of torture, or other cruel, inhuman or degrading treatment or punishment), ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕, U.N. Doc. HRI/ GEN/1/Rev.7, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก file:///C:/Users/lawdraft/Downloads/G0441302.pdf
[๒๖] ข้อ ๓๗ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ. ๒๕๓๒ บัญญัติว่า
“จะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติ หรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือต่ำช้า จะไม่มีการลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ที่ไม่มีโอกาสจะได้รับการปล่อยตัวสำหรับความผิดที่กระทำโดยบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี” เข้าถึงได้จาก http://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/crct.pdf
[๒๗] ข้อ ๒๗, หน้า ๙, ความเห็นทั่วไปฉบับที่ ๖ ของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (UN Committee on the Rights of the Child, General Comments No.6), ๒๕๔๘, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www2.ohchr.org/english/bodies/crc/docs/GC6.pdf
[๒๘] โปรดดู ข้อ ๕, The Principle of Non-Refoulement as a Norm of Customary International Law, UNHCR, ๒๕๓๗, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.refworld.org/docid/437b6db64.html
[๒๙] เพิ่งอ้าง
[๓๐] อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ จาก https://treaties.un.org/

© 2017 Office of the Council of State.