BANNER

สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาในปัจจุบัน (๑)


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      06 Sep 2017

  


บทนำ
ชาวโรฮิงญาได้ถูกพูดถึงในฐานะกลุ่มที่ “เป็นที่ต้องการน้อยที่สุดในโลก”[๑] และเป็น “หนึ่งในกลุ่มชนส่วนน้อยของโลกที่ถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด”[๒] พวกเขาเป็นกลุ่มผู้นับถือศาสนามุสลิม และได้อาศัยอยู่ในเมียนมานับหลายศตวรรษ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในเมียนมานับถือศาสนาพุทธ หลังจากการรัฐประหารในปีพ.ศ. ๒๕๐๕ ความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่มีตัวตนและอาจขอสัญชาติได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการตามกฎหมายเดิม (Union Citizenship Act พ.ศ. ๒๔๙๑) กลับกลายเป็นว่าชาวโรฮิงญาได้รับเพียงบัตรระบุตัวตนของชาวต่างชาติ (foreign identity cards) ซึ่งจำกัดโอกาสด้านอาชีพและการศึกษาที่พวกเขาสามารถทำได้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๓ ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญกับการกวดขันและปฏิบัติการกวาดล้าง (crackdown) จากรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกบังคับให้ต้องหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บังกลาเทศ มาเลเซีย ประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระหว่างการกวาดล้างของรัฐบาลทหารดังกล่าว ชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยหลายคนได้กล่าวว่ากองกำลังทหารของเมียนมาได้กระทำชำเรา ทรมาน วางเพลิงบ้านเรือน และฆาตกรรมชาวโรฮิงญา[๓] และต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๒๕ มีการตรากฎหมายสัญชาติของเมียนมาใหม่ซึ่งเป็นการทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นบุคคลไร้รัฐเนื่องจากภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ชาวโรฮิงญาไม่ได้ถูกยอมรับให้เป็น ๑ ในทั้งหมด ๑๓๕ กลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมาอีกต่อไป กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนด ๓ หลักเกณฑ์ในการได้รับสัญชาติซึ่งหนึ่งในหลักเกณฑ์ดังกล่าวคือการที่จะได้รับสัญชาติพื้นฐานที่สุดจำเป็นต้องมีหลักฐานว่าครอบครัวนั้น ๆ ได้อาศัยอยู่ในเมียนมาก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๑ อีกทั้งต้องสามารถพูดภาษาเมียนมาได้ แต่ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ขาดเอกสารเพื่อยืนยันว่าตนอยู่เมียนมาก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถหาได้หรือไม่ก็ทางการได้ปฏิเสธที่จะมอบให้ ด้วยผลของกฎหมายดังกล่าวชาวโรฮิงญาจึงถูกละเมิดไม่ให้รับสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ ไม่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนพลเมืองเมียนมา ถูกจำกัดความเคลื่อนไหวโดยต้องขออนุญาตและจ่ายเงินแก่รัฐบาลในการออกจากพื้นที่ ถูกกดขี่บังคับใช้แรงงาน ถูกยึดที่ดินทำกิน ถูกจำกัดสิทธิการแต่งงานและการมีบุตรเพราะไม่ต้องการให้พลเมืองโรฮิงญาเพิ่มขึ้น มีการทำลายสุเหร่าและโรงเรียนสอนศาสนา ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่สามารถหางานทำหรือค้าขายได้
 
สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาในเมียนมา
แม้ชาวโรฮิงญาจะมีถิ่นฐานอยู่ที่รัฐอาระกันหรือรัฐยะไข่ (Rakhine State) แต่กลับมีลักษณะทางสังคมที่แตกต่างกับประชาชนเมียนมาทั้งทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และภาษาพูด เมื่อมีกฎหมายสัญชาติเมียนมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่ทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นบุคคลไร้รัฐ ประกอบกับทัศนคติของรัฐบาลทหารเมียนมาที่มองว่าชาวโรฮิงญาเข้ามาอยู่ในเมียนมาได้ไม่นาน ทำให้รัฐบาลทหารไม่ยอมรับความเป็นประชาชนของชาวโรฮิงญา ถึงแม้ว่าในปัจจุบันที่รัฐยะไข่มีประชาชนทั้งหมดกว่า ๓ ล้านคน และประมาณ ๑ ล้านกว่าคนเป็นชาวโรฮิงญาก็ตาม
          เมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ. ๒๕๕๙ รัฐบาลทหารได้โทษกลุ่มกองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army - ARSA) ว่าเป็นผู้ลงมือในเหตุการณ์ฆาตกรรมตำรวจรักษาชายแดนจำนวน ๙ นายบริเวณเขตเมืองหม่องดอว์ (Maungdaw) ในรัฐยะไข่ ส่งผลให้มีการส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ของรัฐยะไข่ การฆาตกรรมดังกล่าวส่งผลให้มีปฏิบัติการกวาดล้างหมู่บ้านหลายแห่งที่เป็นที่พักอาศัยของชาวโรฮิงญา และในช่วงดังกล่าวรัฐบาลทหารได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ ซึ่งรวมไปถึงการวิสามัญฆาตกรรม (extrajudicial killings)[๔] การกระทำชำเรา และการวางเพลิง จากการกระทำดังกล่าวจึงมีเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารกำลังกระทำการ “กวาดล้างชาติพันธุ์ (ethnic cleansing)” ชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ แต่รัฐบาลทหารก็ได้ปฏิเสธเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
          เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในรัฐยะไข่ โดยผลของการตรวจสอบดังกล่าวรัฐบาลเมียนมาอ้างว่าไม่พบหลักฐานว่ามีการล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติโรฮิงญา และไม่พบหลักฐานต่อข้อกล่าวอ้างว่ามีการกระทำชำเราชาวโรฮิงญาด้วย  ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวถึงข้อกล่าวอ้างที่ว่ามีกองกำลังทหารที่ทำการฆาตกรรมชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด[๕]  แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์หลายคนไม่ได้คาดหวังว่ารายงานดังกล่าวจะมีความน่าเชื่อถือมากนัก เนื่องจากผู้นำการตรวจสอบคือ พลเอกมินต์ ส่วย (Myint Swe) ผู้เป็นอดีตนายพลและเป็นรองประธานาธิบดีในปัจจุบันและมีความสนิทชิดเชื้ออย่างมากกับพลเอกอาวุโสตาล ฉ่วย (Than Shwe) ผู้นำเผด็จการของรัฐบาลทหารเมียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๔ รวม ๑๙ ปี
          สำนักข่าวหลายแห่งพยายามเข้าไปแสวงหาข้อเท็จจริงแต่ไม่สามารถเข้าพื้นที่หรือตรวจสอบได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ถูกเมียนมากันไว้ และรัฐบาลเมียนมาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำนี้ต่อสื่อมาโดยตลอด
          นางออง ซาน ซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี พ.ศ. ๒๕๓๔ และได้ถูกยกย่องจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO) ให้เป็น "สัญลักษณ์ประชาธิปไตย (democracy icon)" ในปีพ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งพรรคการเมืองที่นางออง ซาน ซูจี เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้นำพรรคอยู่ในปัจจุบัน (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ National League for Democracy-NLD) ได้ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่จนถึงวันนี้นางออง ซาน ซูจี ยังไม่มีท่าที่ว่าจะออกมาปกป้องชาวโรฮิงญาแต่อย่างใดก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก
          นาย Tun Khin จาก Burmese Rohingya Organisation UK ผู้ซึ่งได้สนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซูจี มาโดยตลอดกล่าวว่า การที่นางออง ซาน ซูจีไม่ออกมาปกป้องชาวโรฮิงญาเป็นการกระทำที่น่าผิดหวังมาก โดยเป็นการช่วยรัฐบาลทหารปกปิดอาชญากรรมที่เกิดขึ้น  ส่วนประเด็นที่ว่า นางออง ซาน ซูจี มีข้อต่อรองเหนือรัฐบาลทหารมากเพียงใดเป็นเรื่องที่แยกต่างหากกับเรื่องการปกป้องชาวโรฮิงญา ทั้งนี้ รัฐบาลทหารในเมียนมายังคงมีอำนาจอย่างมาก และควบคุม ๓ กระทรวงที่สำคัญที่มีอำนาจ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน[๖] อีกทั้งมีที่นั่งในสภาหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด[๗]
 
สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ
          บังกลาเทศเป็นประเทศที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อบุคคลซึ่งหาสถานที่ลี้ภัยจากการทรมานและการขับไล่ เนื่องจากบังกลาเทศเคยเผชิญกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษย์และการเป็นผู้ลี้ภัยในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพของบังกลาเทศเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ นี่จึงเป็นเหตุผลให้บังกลาเทศใช้งบประมาณของรัฐในจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่หนีจากเมียนมาที่เข้ามายังบังกลาเทศ ทั้งที่จากการจัดอันดับของธนาคารโลกบังกลาเทศเพิ่งขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางต่ำ (lower-middle-income status) ได้เพียง ๒ ปี
          การเคลื่อนย้ายในระดับใหญ่ของผู้อพยพชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ของเมียนมาไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งทางบกและทางทะเลเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และประมาณการว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ จนถึงปัจจุบันชาวโรฮิงญาได้อพยพรวมแล้วประมาณ ๑๖๘,๕๐๐ คน โดยUNHCR ประมาณการว่าในช่วงตุลาคมและพฤศจิกายนของปี พ.ศ. ๒๕๕๙ มีชาวโรฮิงญาอพยพไปยังบังกลาเทศเป็นจำนวนมากถึง ๔๓,๐๐๐ คน[๘] บางส่วนเดินทางจากรัฐยะไข่ทางตอนเหนือของเมียนมาไปยังเขตค็อกซ์ บาซาร์ (Cox’s Bazar) ของบังกลาเทศโดยทางเท้าและทางเรือผ่านแม่น้ำนาฟ (Naf River) ในขณะที่บางส่วนพยายามหนีออกไปยังมาเลเซียทั้งทางบกและทางเรือผ่านอ่าวเบงกอล (Bay of Bengal) ทะเลอันดามัน
บังกลาเทศเห็นด้วยกับคำแนะนำในรายงานเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. ๒๕๕๙ อย่างมากของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์โรฮิงญาในเมียนมา[๙] โดยเฉพาะในประเด็นดังต่อไปนี้ (๑) การยกเลิกคำสั่งในระดับท้องถิ่นในรัฐยะไข่ที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา (๒) การยกเลิกเงื่อนไขที่ยุ่งยากและเคร่งครัดในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน และ (๓) การร่างแนวปฏิบัติซึ่งในที่สุดจะกำจัดข้อจำกัดของชาวโรฮิงญาในการเคลื่อนไหวอย่างเสรี[๑๐] องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ (Non-government Organization-NGO)[๑๑] กล่าวว่า ในบังกลาเทศที่มีชาวโรฮิงญาบางรายถูกคุมขังและถูกส่งตัวกลับไปยังเมียนมาโดยไม่อาจทราบชะตากรรมได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเมื่อปีที่แล้ว และบังกลาเทศควรหยุดการกระทำนี้
          ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาเข้ามาลี้ภัยในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ อย่างต่อเนื่อง แต่สถานที่ดังกล่าวไม่ใช่ทางออกที่ถาวร แม้รัฐบาลของบังกลาเทศได้พยายามปฏิบัติอย่างดีที่สุดต่อชาวโรฮิงญา แต่จำนวนชาวโรฮิงญาที่เพิ่มขึ้นทำให้รัฐบาลบังกลาเทศต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ได้แก่ สภาพแวดล้อม การเมือง สิทธิมนุษยชน และการรักษาความปลอดภัย ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ มีจำนวนมากเกินกว่าที่องค์การการปกครองท้องถิ่นจะจัดการได้ มีการปรากฏเครือข่ายอาชญากรในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การลักลอบค้ายาเสพติด และการค้ามนุษย์ ตลอดจนรัฐบาลไม่สามารถจัดหาที่อยู่อาศัยเพิ่มเพื่อรองรับชาวโรฮิงญาที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้[๑๒]
          ปัญหาที่เกิดจากจำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่มากเกินกว่าความสามารถในการรองรับของประเทศ ทำให้กระทรวงการต่างประเทศของบังกลาเทศก็ได้ขอให้เมียนมารับรองบูรณภาพแห่งดินแดนของเมียนมา (ensure the integrity of [Myanmar’s] border) รวมทั้งหยุดการไหลออกของประชาชนจากรัฐยะไข่ที่เข้ามายังบังกลาเทศ[๑๓]
          ความพยายามของรัฐบาลบังกลาเทศในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญาอีกทางหนึ่งคือการ เสนอแผนเพื่อเป็นทางเลือกในการจัดการสถานการณ์ของชาวโรฮิงญา โดยจะย้ายชาวโรฮิงญาไปยังเกาะ Thengar Char ซึ่งเป็นเกาะทางตอนเหนือของอ่าวเบงกอล (Bay of Bengal) บริเวณปากแม่น้ำเมกห์นา (Meghna) เหนือค็อกซ์ บาซาร์ และอยู่ทางใต้ของเมืองหลวงธากา (Dhaka) โดยรัฐบาลบังกลาเทศจะสร้างที่พักอาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล สถานพยาบาล มัสยิด และถนนหนทางให้ในพื้นที่เกาะที่ไม่ถูกกระทบจากผลของน้ำขึ้นน้ำลงที่เกิดขึ้นทุกวัน โดยบังกลาเทศหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประเทศอื่น ๆ ในการเคลื่อนย้าย และพัฒนาเกาะดังกล่าวให้เป็นที่พักอาศัยของชาวโรฮิงญา
          แผนการที่จะย้ายชาวโรฮิงญาไปยังเกาะดังกล่าวไม่ใช่แผนการที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่แต่มีขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ในขณะนั้นแผนการนี้ถูกยกเลิกไปเนื่องจากมีการคัดค้านจากหลายองค์การ รัฐบาลบังกลาเทศได้นำแผนการนี้มาเสนอใหม่อีกครั้งเมื่อต้นปีนี้  แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แผนการในการย้ายชาวโรฮิงญาไปยังเกาะ Thengar Char อยู่มากแต่รัฐบาลบังกลาเทศได้กล่าวว่าพวกเขาวางแผนที่จะดำเนินการต่อไป แต่ตอนนี้ยังไม่มีกรอบเวลาหรือรายละเอียดที่แน่นอนในการดำเนินการ[๑๔]
         
ความพร้อมของเกาะ Thengar Char ในการใช้เป็นที่อยู่อาศัย
          เกาะ Thengar Char เป็นเกาะที่เพิ่งโผล่ขึ้นมาจากทะเลเมื่อประมาณ ๑๑ ปีก่อน โดยพื้นที่บางส่วนจะถูกน้ำท่วมช่วงทะเลขึ้น และจะหายไปอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลา ๓ เดือนช่วงฤดูมรสุมประจำปี[๑๕] (เดือนมิถุนายน - เดือนกันยายน) เจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่นกล่าวว่าจะต้องมีการดำเนินการหลายปี โดยมีค่าใช้จ่ายที่สูงในการที่จะทำให้ Thengar Char เป็นสถานที่ที่สามารถใช้อยู่อาศัยได้ ปัจจุบันบนเกาะมีเพียงควายจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ และมีการรายงานมาเป็นระยะว่ามีกลุ่มโจรสลัดและอาชญากรใช้พื้นที่บนเกาะอีกด้วย[๑๖]
          อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว the diplomat ได้รายงานว่า ข้อกล่าวอ้างที่ว่าเกาะ Thengar Char จะจมอยู่ใต้ทะเลในช่วงมรสุมนั้นเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีมูลและทำให้รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างไม่มีเหตุผล โดยสำนักข่าวดังกล่าวได้รายงานว่านาง ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศได้ส่งกลุ่มนักวิจัยเพื่อไปสำรวจสภาพของเกาะอย่างใกล้ชิด และความจริงปรากฏว่ามีน้ำขึ้นและน้ำลงเป็นประจำทุกวันเหมือนที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เดียวกัน ซึ่งเป็นผลให้พื้นที่เกาะจำนวนหนึ่ง (บริเวณเส้นฝั่งทะเล) จมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาครึ่งวันช่วงน้ำขึ้น และจะโผล่มาอีกครั้งในช่วงน้ำลง และพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะไม่เคยจมอยู่ใต้น้ำทะเลเลย[๑๗]
          ด้านชาวโรฮิงญาที่ทราบเรื่องแผนการย้ายกลุ่มของบังกลาเทศก็ได้แสดงถึงความวิตกกังวล โดยนางสาว Vivian Tan ตัวแทนจาก UNHCR ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของชาวโรฮิงญา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว voa ว่า “ผู้ลี้ภัยได้แสดงถึงความกังวลอย่างมากเมื่อได้ยินข่าวนี้ เพราะพวกเขาได้ยินมาว่า ไม่มีใครอาศัยอยู่บนเกาะนั้น พวกเขากังวลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และสถานที่ที่จะอยู่อาศัย เกาะดังกล่าวมีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมสูง และฟังดูไม่น่าจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้” อีกทั้งยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “UNHCR ได้บอกอย่างชัดแจ้งว่า จะต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ มีการปรึกษา และการย้ายจะต้องเป็นความสมัครใจของชาวโรฮิงญา โดยจะต้องมีภาพรวมที่ชัดเจนในประเด็นที่ต้องดำเนินการเพื่อจะได้วางแผนได้ดีขึ้น”[๑๘]
          ประเด็นหลักประการหนึ่งในการตัดสินใจที่จะย้ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ คือการที่ปัจจุบันที่พักพิงชั่วคราวของชาวโรฮิงญาอยู่บริเวณค็อกซ์ บาซาร์ ซึ่งบริเวณนั้นมีชายหาดยาวที่บังกลาเทศอยากจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ติดปัญหาเรื่องของชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
 
สถานการณ์ของชาวโรฮิงญาในประเทศไทย
          ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งได้เดินทางออกจากเมียนมาโดยทางเรือ และใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังมาเลเซีย เฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ มีชาวโรฮิงญาประมาณ ๖๒,๐๐๐ คนได้อพยพจากบังกลาเทศและเมียนมามายังไทยและมาเลเซีย[๑๙]
การขาดเอกสารแสดงตัวและการเดินทางที่ยากลำบากทั้งภายในเมียนมาและในต่างประเทศ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ต้องหนีการประหัตประหาร[๒๐] ด้วยการพึ่งพาผู้ลักลอบขนคนออกนอกประเทศและเดินทางโดยเรือที่เต็มไปด้วยความอันตราย[๒๑] จากรายงานของ UNHCR เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ชาวโรฮิงญาได้มาเทียบเรือที่อ่าวไทย สร้างที่พักง่าย ๆ โดยใช้ไม้ปักเป็นเสาแต่ละด้าน มุงหลังคาด้วยแผ่นพลาสติกอยู่ตามบริเวณหุบเขา ในป่าหรือในพื้นที่ห่างไกลเพื่อรอเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย แต่พวกเขาจะสามารถเดินทางต่อไปได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถจ่ายเงินตามที่ผู้ลักลอบขนคนเรียกได้หรือไม่ มีรายงานว่า มีคนจำนวนหลายร้อยคนที่เสียชีวิตจากการเจ็บป่วย การขาดอาหารและน้ำ หรือถูกฆ่าตายโดยผู้ลักลอบขนคน เพราะพยายามหลบหนีหรือไม่สามารถจ่ายเงินตามจำนวนที่เรียกร้องได้[๒๒] อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงในรัฐยะไข่ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันซึ่งอาจจะส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหาทางหลบหนีออกจากเมียนมามายังประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายระลอก
การปฏิบัติการของประเทศไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการผลักดันเรือของชาวโรฮิงญาออกนอกเขตน่านน้ำของไทยและมาเลเซียได้รับการนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง[๒๓] ดังนั้นเพื่อเป็นการลดแรงกดดันจากนานาชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียจึงได้จัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วนเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘[๒๔] และต่อมาได้มีการจัดประชุมขึ้นอีก ๒ ครั้งในเดือนกรกฎาคมและธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘[๒๕]
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของประเทศไทยได้เสนอ “ยุทธศาสตร์การจัดการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย”[๒๖]  โดยพิจารณาความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล[๒๗] เพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย[๒๘]
ใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งกลุ่มของผู้อพยพที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายไว้เป็น ๔ จำพวกหลัก โดยชาวโรฮิงญาจัดอยู่ในประเภทชนกลุ่มพิเศษที่ต้องมีนโยบายเฉพาะเนื่องจากเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ[๒๙] รายงานการศึกษาบางฉบับระบุว่าเหตุผลที่รัฐบาลไทยกำหนดให้ชาวโรฮิงญาจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติเพราะชาวโรฮิงญาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเมียนมาได้[๓๐]
 
[๑] สำนักข่าว BBC, Bangladesh accused of ‘crackdown’ on Rohingya refugees, Mark Dummett, ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://news.bbc.co.uk/2/hi/8521280.stm
[๒] สำนักข่าว Agence France-Presse, Myanmar, Bangladesh leaders ‘to discuss Rohingya’, ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.unhcr.org/cgi-bin/texis/vtx/refdaily?pass=52fc6fbd5&id=4fe952205
[๓] สำนักข่าวอัลจาซีรา (Aljazeera), Myanmar: Who are the Rohingya Muslims?, ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.aljazeera.com/indepth/features/2017/08/rohingya-muslims-170831065142812.html
[๔] การสังหารบุคคลโดยรัฐบาลซึ่งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้ที่รับการรองรับจากกระบวนการทางกฎหมาย ข้อมูลจาก https://dict.drkrok.com/homocide/
[๕] Human Rights Watch, Burma: Army Investigation Denies Atrocities, ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.hrw.org/news/2017/05/24/burma-army-investigation-denies-atrocities
[๖] สำนักข่าว bbc, วิกฤตโรฮิงญา: อองซาน ซู จี มีอำนาจจริงมากแค่ไหน?, ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.bbc.com/thai/international-41253457
[๗] สำนักข่าว Dawn, Former loyalists lose faith in Myanmar’s democracy icon, ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.dawn.com/news/1354701
[๘] สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), Mixed Movements in South-East Asia 2016, ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://reporting.unhcr.org/sites/default/files/UNHCR%20-%20Mixed%20Movements%20in%20South-East%20Asia%20-%202016%20--%20April%202017_0.pdf
[๙] สำนักข่าว the diplomat, Bangladesh Extending Aid, Upgraded Facilities to Displaced Rohingya, ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://thediplomat.com/2017/04/bangladesh-extending-aid-upgraded-facilities-to-displaced-rohingya/
[๑๐] หน้า ๑๖-๑๗, ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly), Situation of human rights of Rohingya Muslims and other minorities in Myanmar, ๒๕๕๙, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://documents-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/GEN/G16/135/41/PDF/G1613541.pdf?OpenElement
[๑๑] ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amnesty.or.th/
[๑๒] ดูอ้างอิงที่ ๙
[๑๓] สำนักข่าว BBC, Bangladesh presses Myanmar as Rohingya flee across border, ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.bbc.com/news/world-asia-38083901
[๑๔] ดูอ้างอิงที่ ๙
[๑๕] Human Rights Watch, Bangladesh: Reject Rohingya Refugee Relocation Plan, ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.hrw.org/news/2017/02/08/bangladesh-reject-rohingya-refugee-relocation-plan
[๑๖] สำนักข่าว reuters, Pirates, cyclones and mud: Bangladesh's island solution to Rohingya crisis, Antoni Slodkowski, ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.reuters.com/article/us-myanmar-rohingya-bangladesh-idUSKBN15I0QG
[๑๗] ดูอ้างอิงที่ ๙
[๑๘] สำนักข่าว voa, Rohingya Refugees Worried About Bangladesh's Relocation Plan, Paul Alexander, ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก https://www.voanews.com/a/rohingya-worried-about-bangladesh-plan-to-move-them-to-isolated-island/3775502.html
[๑๙] สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), Irregular Maritime Movements in South-East Asia, ๒๕๕๗, เข้าถึงได้จาก https://storybuilder.jumpstart.ge/en/unhcr-imm
[๒๐] นายภควัต เหมรัชตานันต์, นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าวว่า คำว่า “ประหัตประหาร” มิได้มีนิยามชัดเจน แต่อาจตีความประกอบกับมาตรา ๓๓ ของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ว่าหมายถึง “อันตรายต่อชีวิตและเสรีภาพ (threat to life or freedom) และยังหมายรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้”, เข้าถึงได้จาก http://lawdrafter.blogspot.com/2016/07/blog-post_14.html, ประกอบอ้างอิงที่ ๑๗
[๒๑] องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International), Deadly Journeys: The Refugee and Trafficking Crisis in Southeast Asia, ๒๕๕๘, หน้า ๙ เข้าถึงได้จาก http://reliefweb.int/sites/reliefweb.int/files/resources/ASA2125742015ENGLISH.PDF
[๒๒] สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR), More people risk lives across Indian Ocean despite abuse, deterrence, ๒๕๕๗, เข้าถึงได้จาก http://www.unhcr.org/uk/news/briefing/2014/12/5481b0666/people-risk-lives-across-indian-ocean-despite-abuse-deterrence.html
[๒๓] ดู See, ตัวอย่างเช่น, Channel 4, “Pushed back out to sea: clock ticking for Rohingya migrants”, Channel4 News เข้าถึงได้จาก https://www.channel4.com/news/migrants-boats-sea-strandedindonesia-thailand-malaysia
[๒๔] องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และ Migration Policy Institute (MPI), Irregular Maritime Migration in the Bay of Bengal: The Challenges of Protection, Management and Cooperation, ฉบับที่ ๑๓, Kathleen Newland, ๒๕๕๘, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://publications.iom.int/system/files/pdf/mpi-iom_brief_no_13.pdf
[๒๕] การประชุมฉุกเฉินรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นที่กรุง กัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ และการประชุมโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
[๒๖] สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์, สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, ปัญหาโรฮิงญาและแนวทางการแก้ไข, พันเอกหญิงเจษฎา มีบุญลือ และร้อยโทหญิง ดร. ปิยะนุช ปี่ปัว, ๒๕๕๑. สืบค้นข้อมูลวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖, เข้าถึงได้จาก http://www.sscthailand.org/uploads_ssc/rhohingya.pdf
[๒๗] สภาความมั่นคงแห่งชาติ, ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๕๕
[๒๘] มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘, เข้าถึงได้จาก https://www.opdc.go.th/content.php?menu_id=3&content_id=103
[๒๙] สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), Current Migration Challenges in Thailand, ๒๕๕๕, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.eeas.europa.eu/archives/delegations/thailand/documents/thailande_eu_coop/migration_management/3_4current_migration_challenges_in_thailand_en.pdf
[๓๐] หลุมลึกทางกฎหมายและความหวังของโรฮิงญาในประเทศไทย, นุสรา มีเสน และปบงกช นภาอัมพร, สืบค้นข้อมูลวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐, เข้าถึงได้จาก http://www.equalrightstrust.org/ertdocumentbank/Thailand%27s%20legal%20study.pdf
 

© 2017 Office of the Council of State.