BANNER

ในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ ผู้สูงอายุร้อยละ ๖๐ ของโลกจะอาศัยในภูมิภาคเอเชีย


 ข่าวต่างประเทศ      21 Sep 2017

  




รายงานล่าสุดจากบริษัท Deloitte เผยว่าภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ จะมีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๖๕ ปีขึ้นไปประมาณร้อยละ ๖๐ ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคต้องเผชิญกับความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ (demographic challenges) ก่อนที่จะมีฐานะร่ำรวยขึ้น

รายงานดังกล่าวเผยว่า ในอีก ๒๕ ปีต่อจากนี้ จำนวนของประชากรที่มีอายุมากกว่า ๖๕ ปีในภูมิภาคเอเชียจะสูงกว่าประชากรรวมทั้งหมดของเขต eurozone และอเมริกาใต้ โดยเฉพาะจีนผู้ซึ่งจะต้องแบกรับภาระมากที่สุด โดยรายงานประมาณการว่าในปัจจุบันจีนได้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้ที่มีอายุมากกว่า ๖๕ ปี จำนวนกว่า ๑๕๐ ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าร้อยละ ๔๐ ของประชากรศาสตร์ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย

ในขณะที่จำนวนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมซึ่งรวมไปถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งหมายถึงความท้าทายในหลายด้านต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียด้วย รายงานฉบับดังกล่าวได้เรียกการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรศาสตร์ (Demographic Change) ว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยให้แก่เศรษฐกิจของเอเชีย โดยอัตราของอายุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดการยับยั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ถ้าหากการพัฒนาในบางเรื่องยังไม่ได้รับการคำนึงถึง เช่น การมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี และการมีผลผลิตด้านแรงงานที่สูงขึ้น เป็นต้น

ยกตัวอย่างจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ เช่น จำนวนของกำลังแรงงานในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีอายุระหว่าง ๑๕ ถึง ๖๔ ปี จะลดลงอย่างหนักในทศวรรษที่จะถึงนี้โดยจะลดจากจำนวนร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งหมดเป็นร้อยละ ๖๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๙๓ โดยจากรายงาน อัตราการเพิ่มอายุขึ้นอย่างรวดเร็วประกอบกับความท้ายทายอื่น ๆ ด้านแรงงานน่าจะส่งผลให้จีน “แก่ตัวลงก่อนที่จะรวยได้โดยสมบูรณ์” ซึ่ง Deloitte คาดการณ์ว่า ความท้าทายด้านประชากรศาสตร์จะทำให้ขนาดเศรษฐกิจของจีนลดลงร้อยละ ๔.๒ ภายในทศวรรษหน้า

อีกทั้งจากรายงานยังได้เผยว่า ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่จะเป็นเสมือนกระจกของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ของจีน โดยเฉพาะประเทศไทย ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ที่ซึ่งมีอายุขัยที่ยาวนานและอัตราการเกิดต่ำ ดังนั้นจึงจะเผชิญกับความท้าทายที่มีประชากรศาสตร์เป็นตัวขับเคลื่อนที่คล้ายกับจีน ปัจจัยของประชากรศาสตร์น่าจะกดดันให้ขนาดเศรษฐกิจของสิงคโปร์ลดลงร้อยละ ๘.๔ และของประเทศไทยให้ลดลงร้อยละ ๔.๔ ในอีกทศวรรษ ความท้าทายด้านผลผลิตในแรงงาน พร้อมทั้งงบประมาณที่ต้องใช้ในการสนับสนุนประชากรผู้สูงอายุน่าจะส่งผลทางลบในทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้

ขณะเดียวกัน จากรายงานฉบับดังกล่าว อินเดียมีศักยภาพที่จะมีแรงงานที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียได้ โดยมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานในเอเชียที่กำลังเติบโตในทศวรรษข้างหน้านี้ โดยเพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวน ๘๘๕ ล้านคนเป็น ๑.๑๒ พันล้านคนในปี พ.ศ. ๒๕๙๓ นาย Anis Chakravarty นักเศรษฐศาสตร์ Deloitte ชาวอินเดียกล่าวว่า “แรงงานเหล่านี้จะมีทักษะที่ดีกว่าและมีการศึกษาที่สูงกว่าแรงงานอินเดียในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น”

รายงานฉบับนี้เสนอว่าเศษฐกิจที่กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านแรงงานควรรับคนเข้าเมืองเพิ่ม โดยการรับผู้ย้ายถิ่นที่มีอายุยังน้อยอยู่ และมีทักษะสูงที่สามารถช่วยลดผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุได้ ทั้งนี้ ควรกำหนดนโยบายและราคาทรัพย์สินที่เหมาะสมเพื่อให้การรับคนเข้าเมืองเกิดขึ้นในระดับที่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม รายงานยังชี้ให้เห็นว่าประชากรผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียกำลังเติบโตทำให้มีธุรกิจในลักษณะ “เกาะกลุ่ม” จำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านการดูแลสุขภาพและที่พักเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ ความพยายามในการพัฒนาผลผลิตด้านแรงงานและการอุดช่องว่างของแรงงานจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ภาคธุรกิจอีกด้วย

บริษัทบางแห่งได้เริ่มที่จะคว้าโอกาสเหล่านี้ไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น Raffles Medical Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทของโรงพยาบาลในสิงคโปร์พร้อมที่จะสร้างโรงพยาบาล ๒ แห่งในจีนในอีกไม่กี่ปีนี้ และในปัจจุบันเปิดคลินิกที่ญี่ปุ่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) เป็นสิ่งที่เป็นที่นิยมในภูมิภาคเอเชีย

ที่มา: https://asia.nikkei.com/Politics-Economy/Economy/Asia-will-be-home-to-60-of-world-s-elderly-by-2030s-Deloitte

© 2017 Office of the Council of State.