ในขณะที่อาเซียนพยายามหาวิธีการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศในโลกกำลังตั้งคำถามว่าการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเป็นหนทางก้าวหน้าที่ดีที่สุดหรือไม่ ปรากฏการณ์ Brexit และ Donald Trump แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของคนจำนวนมากว่าการจ้างแรงงานและการนำเข้าสินค้าในราคาต่ำจากต่างประเทศกำลัง “ทำลาย” หลายอาชีพ โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม (traditional sector)
ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นโดยมากสามารถย้อนไปถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเกิดโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ปัญหายิ่งหนักขึ้น ส่วนใหญ่แล้วอาเซียนจะได้รับความคุ้มครองจากความไม่พึงพอใจเหล่านี้ซึ่งจะแตกต่างกับภูมิภาคยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา อาเซียนควรตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในขณะที่กำลังพยายามเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single market) ก่อนที่จะกลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อไป
ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณาคือ เหตุใดอาเซียนถึงไม่ได้ประสบกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ (anti-globalization movement) เหมือนกับที่อื่น ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่าอาเซียนเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเป็นเหตุผลที่ชัดเจนที่สุด กลยุทธ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการเติบโตที่มุ่งเน้นการส่งออกและเปิดกว้างทางการค้าส่งผลให้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งทำให้คนหลายล้านคนมีกำลังทรัพย์มากขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้มีผู้ชื่นชอบกลยุทธ์นี้มากขึ้น
แม้จะมีการวาดภาพเศรษฐกิจของอาเซียนไว้อย่างสวยงาม แต่แน่นอนว่าเศรษฐกิจของอาเซียนยังไม่สมบูรณ์แบบเนื่องจากเมื่อมองอย่างลึกซึ้งจะพบข้อบกพร่องด้านการพัฒนาอยู่หลายประการ ปัญหาความไม่เท่าเทียมถือเป็นประเด็นสำคัญทั้งในภูมิภาคและที่อื่น ๆ และเป็นสิ่งที่สามารถใช้เพื่อวัดเศรษฐกิจโดยรวมหรือเศรษฐกิจภายในของแต่ละประเทศได้ ช่องว่างของเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่รวยที่สุดและประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนา (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม - CLMV) เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด แต่ช่องว่างนี้กำลังแคบลงอย่างรวดเร็วเมื่อประเทศกลุ่มหลังกำลังเติบโตในอัตราที่สูง
สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าช่องว่างทางเศรษฐกิจ คือ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นภายในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นมาตรฐานของการพัฒนาในภูมิภาคมาโดยตลอดมีค่าสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ (GINI Coefficients)
[๑] ที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วโดยประเทศไทยและมาเลเซียมีอันดับที่ต่ำกว่า และไม่มีประเทศสมาชิกอาเซียนใดที่สามารถถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่มีความเท่าเทียมในระดับโลก
จุดกำเนิดของความไม่เท่าเทียมในภูมิภาคสามารถเชื่อมกับตัวแปรหลายตัวที่ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศนั้น ๆ เช่น อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด ๔ คนรวมกันมีกำลังทรัพย์มากกว่ากลุ่มคนจนที่สุดจำนวน ๑๐๐ ล้านคน โดยเฉพาะการเข้าถึงการศึกษาและบริการสุขภาพที่มีความแตกต่างกันมากในหมู่เกาะของอินโดนีเซียเนื่องจากขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอทำให้การให้บริการอย่างเท่าเทียมนั้นเป็นไปได้ยาก และมีความท้าทายมากยิ่งขึ้นจากภูมิศาสตร์ทางกายภาพของประเทศ ส่วนในเมียนมามีกลุ่มชาติพันธุ์ ๘ กลุ่มที่แตกต่างกันทำให้มีภูมิทัศน์ทางการเมืองและสังคมที่ซับซ้อนและทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในวงกว้างเป็นไปได้ยากขึ้นตั้งแต่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นถึงแบบแผนของความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากเงื่อนไขอันซับซ้อนที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละประเทศ ทำให้ยากที่จะหาตัวแปรที่เป็นรากแห่งปัญหานี้ แต่สิ่งที่ภูมิภาคอาเซียนอาจมีเหมือนกันคือ การขาดความพยายามร่วมกันและเจตจำนงทางการเมืองในการที่จะพัฒนาปัญหาความไม่เท่าเทียมในประเทศ เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วจึงเกิดคำถามว่า ความไม่เท่าเทียมในประเทศจะส่งผลต่อการบูรณาการเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดจากความพยายามของอาเซียนที่จะสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวเพื่อเพิ่มอัตราการแข่งขันในฐานะภูมิภาคที่จะทำให้เติบโตเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเป็นการเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ควรต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความไม่เท่าเทียมด้วย ในทางทฤษฎีบางคนอาจจะมีจุดยืนว่าการโลกาภิวัตน์และการบูรณาการทางเศรษฐกิจจะส่งผลดีแก่แรงงานฝีมือระดับล่างในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป หลายคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมระดับล่างไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถคว้าโอกาสที่เกิดจากการบูรณาการระดับภูมิภาคได้ เนื่องจากขาดทักษะที่เป็นที่ต้องการหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และรวมไปถึงอุปสรรคอื่น ๆ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ หรือสถาบัน
ความจริงแล้วประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เน้นย้ำถึงความต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม (inclusive growth) ซึ่งมีเป้าหมายในการทำให้ระยะห่างของการพัฒนาที่มีอยู่ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในภูมิภาคลดน้อยลง สถาบันที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมในอาเซียนคือแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration (IAI) Work Plan) ที่เน้นไปที่การช่วยเหลือชาติ CLMV ให้สามารถพัฒนาได้ทันและทำให้อาเซียนเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันสูงขึ้น แผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียนฉบับแรกมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และปัจจุบันอาเซียนกำลังปรับใช้แผนงานฉบับที่ ๓ ของโครงการดังกล่าวที่มุ่งเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการช่วยเหลือวิสาหกิจรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
แม้ว่าจะมีโครงการ IAI แล้ว ยังเกิดคำถามว่าอาเซียนจะมีอิทธิพลต่อการบรรเทาปัญหาความไม่เท่าเทียมในประเทศได้อย่างไร เมื่อพิจารณาถึงหลักการสำคัญของอาเซียนว่าด้วยการไม่แทรกแซงประเทศอื่นทำให้สามารถสรุปได้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงทรัพยากรที่มีจำกัด ถึงกระนั้น การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมอาจต้องเริ่มตั้งแต่ระดับท้องถิ่นเนื่องจากเป็นระดับภายในประเทศที่สามารถทำความเข้าใจได้ดีที่สุด ดังนั้น ปัญหาความไม่เท่าเทียมภายในประเทศขึ้นอยู่กับหน่วยงานในประเทศที่มีอำนาจและเจตจำนงของรัฐที่จะให้โอกาสที่เท่าเทียม
การที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการบูรณาการทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง จึงจำเป็นต้องมีการหารือเป็นการเร่งด่วนโดยสุจริตเกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในภูมิภาค การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้มีอำนาจตระหนักได้ว่าจะต้องยับยั้งความไม่เท่าเทียมที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ หากพวกเขาเห็นคุณค่าในระยะยาวของความมั่นคงทางภูมิภาคและทางการเมือง จะต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสให้แก่ทุกคน การลดช่องว่างจะกระทำได้ง่ายขึ้นเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนเติบโตขึ้น การยอมรับว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมตะวันตก น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้แก่ผู้นำอาเซียนเชื่อได้ว่าความไม่เท่าเทียมเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง
ที่มา:
http://thediplomat.com/2017/09/what-is-the-future-of-integration-and-inequality-in-asean/
[๑] ค่าสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ยิ่งสูง ยิ่งแสดงถึงการกระจายรายได้ที่น้อย