BANNER

การกำกับดูแลฟินเทคในสิงคโปร์


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      20 Sep 2017

  



ภาพจาก straits times
บทนำ
ฟินเทคเป็นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีโดยใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ซึ่งทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องง่าย ปัจจุบันฟินเทคเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมไปสู่โลกไร้เงินสด ในแง่ของรัฐจะกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ในการใช้ฟินเทคอย่างไร ผู้เขียนจึงเขียนบทความเรื่องการกำกับดูแลฟินเทคของสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีทางการเงินในอาเซียนเพื่อศึกษาการกำกับดูแลฟินเทคโดยเน้นการให้บริการทางการเงินที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี

ฟินเทคคืออะไร
ฟินเทคย่อมาจากคำว่า Financial Technology หมายถึงการนำนวัตกรรมเข้ามาเสริมในการให้บริการทางการเงิน เช่น prompt pay e-wallet บัตรเดบิต บัตรเครดิต อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง การซื้อสินค้าออนไลน์ ฟินเทคเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเงินและธุรกรรมสำหรับผู้บริโภคทั่วไป หรือการให้บริการทางสถาบันการเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ฟินเทคทำให้ผู้ใช้ทำธุรกรรมทางการเงินง่ายขึ้นผ่านเครือข่ายมือถือ หรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และสำหรับนักลงทุนหรือผู้ประกอบการ ปัจจุบันยังมีฟินเทคอีกมากมาย เช่น การซื้อขายหุ้น การโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมการเงินด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยคนหรือสถาบันการเงินในการทำธุรกรรม และนี่คือจุดประสงค์หลักของฟินเทค

ฟินเทคในประเทศสิงคโปร์
ฟินเทคเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังมาแรงและมีโอกาสสูงที่จะทำให้เจ้าของนวัตกรรมฟินเทคเป็นมหาเศรษฐีได้ในพริบตา ฟินเทคกำลังเปลี่ยนแปลงผู้คนทั่วโลก การเปลี่ยงแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือในประเทศสิงคโปร์ ผู้คนหันมาใช้ฟินเทคในการซื้อสินค้า โอนเงิน หรือซื้อขายหุ้นผ่านแอพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้เงินสดน้อยลง ยกตัวอย่างฟินเทคในประเทศสิงคโปร์ เช่น

- TenX ที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถซื้อของได้ด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกับการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต ในการซื้อกาแฟหรือข้าวของด้วยบิตคอยน์ โดยไม่ต้องใช้เงินสด
- Lazada เป็นร้านขายของออนไลน์ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปซื้อของ เพียงซื้อผ่านมือถือไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็สามารถซื้อของได้
- Paylah เป็นแอปพลิเคชันที่เป็นกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารและสามารถโอนเงินจากบัญชีธนาคารมาไว้ที่กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการจ่ายค่าอาหารในอนาคต หรือดูว่าเพื่อนโอนเงินค่าอาหารกลางวันให้หรือยัง โดยที่ไม่ต้องมีพกเงินสดในกระเป๋าสตางค์เลย

เพราะความง่าย ความสะดวกสบาย ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่ถูกลง ทำให้ฟินเทคได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้ใช้ ผู้ให้บริการ และหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลในสิงคโปร์ โดยเห็นได้จากการที่มีบริษัทฟินเทคเพิ่มจำนวนอย่างมากในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทมากกว่า ๓๐๐ แห่งแล้ว

การกำกับดูแลฟินเทคในสิงคโปร์
ฟินเทคเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจเพราะจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานทางภาครัฐที่เข้ามากำกับดูแลและสร้างระบบนิเวศในการสร้างนวัตกรรม สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดรับฟินเทคอย่างเต็มตัว โดยกำลังสำคัญที่ทำให้ฟินเทคฟูมฟักและเติบโตอย่างรวดเร็วในสิงคโปร์คือรัฐบาลสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงินในโลกแห่งหนึ่งและสิงคโปร์มีความกังวลว่า ในกระแสโลกที่เปลี่ยนไปหากเทคโนโลยีด้านการเงินของประเทศไม่ก้าวข้างหน้า สิงคโปร์อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ในด้านนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงผลักดันการลงทุนของฟินเทคอย่างมากโดยการสร้างระบบนิเวศให้ผู้ประกอบการฟินเทคสามารถเชื่อมต่อกับแหล่งทุนจากภาครัฐและเอกชนได้ แต่แทนที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลเพียงอย่างเดียว รัฐบาลสิงคโปร์เลือกที่จะทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมพร้อมกับเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันกับผู้ประกอบการฟินเทคด้วย

สิงคโปร์ได้เปรียบประเทศอื่นในประการที่มีหน่วยงานที่สามารถทำหน้าที่กำกับดูแลฟินเทคอย่างครบวงจรในหน่วยงานเดียว ได้แก่ ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore - MAS) เนื่องจากหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการประสานงานและดูแลให้กฎระเบียบของหน่วยงานดังกล่าวมีความสอดคล้องกันเพราะฟินเทคมีหลายประเภท ทั้งด้านตลาดทุน การธนาคาร และการจ่ายเงิน ฟินเทคอย่างหนึ่งอาจให้บริการหลายด้าน ซึ่งจุดนี้เป็นปัจจัยที่สิงคโปร์มีแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

 ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้สนองนโยบายชาติอัจฉริยะ (Smart Nation) ของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้กับกิจการของรัฐและกิจวัตรประจำวันของประชาชน เพื่อให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินอัจฉริยะ (Smart Financial Centre) โดยต้องการให้มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินอย่างแพร่หลาย ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมการเงิน ฟินเทคสตาร์ทอัพ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยบทบาทและหน้าที่ของธนาคารกลางในการสนับสนุนฟินเทคมีอยู่ ๒ ประการ ได้แก่

๑.      การกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมความปลอดภัยและความมั่นคงในการใช้นวัตกรรม
๒.      การอำนวยความสะดวกด้วยการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับการสร้างและใช้นวัตกรรม
 
๑.การกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องซึ่งนำเสนอในบทความนี้มีประเด็น ดังต่อไปนี้

๑.๑) การกำกับดูแลธุรกรรมการชำระเงิน  
นวัตกรรมฟินเทคที่เด่นชัดที่สุดในตอนนี้คือนวัตกรรมการชำระเงินซึ่งทำให้การชำระเงินรวดเร็วขึ้น และทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ แต่การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์นี้ถูกกำกับดูแลภายใต้กฎระเบียบ ๒ ฉบับ เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารสิงคโปร์ได้ปรับกฎเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการสามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการการให้บริการการชำระเงินเพียงครั้งเดียวแต่สามารถใช้ได้กับการกิจกรรมการชำระเงินทุกประเภท ทั้งนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ยังคงใช้มาตรฐานเดิมในการปกป้องผู้บริโภคและความปลอดภัยของผู้บริโภคในโลกไซเบอร์[๑]

๑.๒) กฎเกณฑ์ในการส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้ Cloud Computing
Cloud Computing คือการใช้งานเซิร์ฟเวอร์ที่มีอยู่ในระบบอินเตอร์เน็ตในการบริหารและบริการงานด้านไอที เช่น Google Calender, Dropbox, Google Sheets อันเป็นเครื่องมือที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้านไอที

ธนาคารสิงคโปร์อนุญาตให้สถาบันการเงินใช้ Cloud ในการจัดเก็บข้อมูลได้ และได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับแนวทางการจัดการความเสี่ยงของการใช้บริการ Cloud Computing สำหรับสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้สถาบันการเงินต้องตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในการใช้บริการ Cloud เช่น ความสมบูรณ์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลับ การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) ของ Cloud เท่าที่จำเป็น และการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้ Cloud กับสถาบันการเงิน[๒]

๑.๓) การให้คำปรึกษาด้านการเงินดิจิทัลและประกันภัย (Digital financial advice and insurance)
ธนาคารกลางของสิงคโปร์ได้เล็งเห็นความสำคัญของการให้คำปรึกษาด้านการเงินดิจิทัล หรือ Robo-Advisor (Robot Financial or Investment Advisor) ซึ่งเป็นบริการทางการเงินซึ่งใช้แพลตฟอร์มในการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) แบบอัตโนมัติ เพื่อแนะนำให้นักลงทุนแต่ละคนสามารถจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และได้เสนอแก้ไขกฎระเบียบในรายงานที่ปรึกษา (Consultation Paper) ฉบับวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อส่งเสริมการใช้งานของ Robo-advisor ในสิงคโปร์อันเป็นการสนับสนุนนวัตกรรมในการบริการทางการเงิน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการให้คำปรึกษาด้านการเงินดิจิทัลในประเทศ ธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุว่าบริษัทที่ปรึกษาแบบดิจิทัลขอใบอนุญาตประเภท Capital Market Service (CMS) และได้รับการยกเว้นหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปรึกษาด้านดิจิทัลที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนภายใต้รัฐบัญญัติหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Securities and Futures Act - SFA) จะได้รับอนุญาตให้เสนอบริการแก่นักลงทุนรายย่อย[๓]

นอกจากนี้  ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้อนุญาตให้บริษัทผู้รับประกันภัยขายประกันภัยออนไลน์ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการแนะนำของตัวแทนประกันภัย และธนาคารกลางสิงคโปร์จะออกแนวทางในเรื่องความปลอดภัยสำหรับการจำหน่ายประกันชีวิตออนไลน์ (online distribution of life insurance products)[๔]

๑.๔) สนามทดสอบนวัตกรรมฟินเทค (Regulatory Sandbox)
ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้จัดทำ Regulatory Sandbox ขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถทดลองนำเสนอบริการทางการเงินให้แก่ผู้บริโภค ในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจและการให้บริการที่จำกัด ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นโดยมีเงื่อนไขว่านวัตกรรมที่เข้ามาต้องสามารถดูแลคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ การเปิดสนามทดสอบนวัตกรรมฟินเทคเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ๆ มีการพัฒนานวัตกรรมโดยนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการให้บริการทางการเงินอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้บริการที่ต่ำ

๑.๕) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security)
ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ของสิงคโปร์ในการตั้งศูนย์บริการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลขึ้นโดยมีแบบอย่างจากศูนย์บริการการเงิน – การแบ่งปันและวิเคราะห์ข้อมูล (Financial Services – Information Sharing and Analysis Centre (FS-ISAC)) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อทำให้มั่นใจว่าระบบความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ใช้มีความเชื่อมั่นในบริการที่เกิดจากนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์บริการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยจะช่วยให้สามารถตรวจสอบภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ในอุตสาหกรรมการเงินและจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ได้[๕]

 
๒. การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม
กุญแจสำคัญประการที่สองของธนาคารกลางในการสนับสนุนฟินเทคคือ การอำนวยความสะดวกด้านระบบนิเวศนวัตกรรมและการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ระบบนิเวศน์ดังกล่าวคือสถานที่ที่ผู้คนสามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้ เพื่อไหลเวียนและเพิ่มพูนความคิดด้วยกันอันเปรียบเสมือนสวนสำหรับการออกผลผลิตของนวัตกรรม ระบบนิเวศนวัตกรรม เช่น

๒.๑) Lattice 80 : ชุมชนฟินเทคแห่งแรกในสิงคโปร์
Lattice 80 ตั้งอยู่ในย่านใจกลางด้านการเงินของสิงคโปร์และเป็นพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการฟินเทคสตาร์ทอัพเพื่อทำงานเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมการเงินและนักลงทุน นอกจากนี้ สถาบันการเงินทั่วโลกกว่า ๒๐ แห่งได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมขึ้นที่นี่ และมีห้องปฏิบัติการสำหรับการวบรวมข้อมูลด้านฟินเทค

๒.๒) Looking Glass: สำนักงานปฏิบัติการฟินเทค
Looking glass คือสำนักงานของกลุ่มงานฟินเทคและนวัตกรรมของธนาคารกลางสิงคโปร์ ซึ่งมีการตกแต่งสำนักงานอย่างทันสมัย บรรยากาศเหมือนพื้นที่การทำงานร่วมกัน (co-working space) ของบริษัทเอกชน เป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสิงคโปร์กับผู้ประกอบการฟินเทคสามารถพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีเจ้าหน้าที่จากธนาคารสิงคโปร์คอยให้คำปรึกษาหรือตอบข้อสงสัยด้านกฎหมาย สำนักงานแห่งนี้เกิดจากความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อสตาร์ทอัพของฟินเทคที่เป็นรูปธรรม โดยบรรยากาศการทำงานที่สนุกสนาน มีความยืดหยุ่น มีพลวัต รวมทั้งการเปิดกว้างทางความคิด

๒.๓) Bash (Building Amazing Start-ups Here)
Bash ก่อตั้งโดย SGInnovate ซึ่งเป็นหน่วยงานในการส่งเสริมนวัตกรรมของรัฐบาลสิงคโปร์ Bashก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก พัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้คำปรึกษา ตลอดจนหาแหล่งเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพซึ่งรวมทั้งฟินเทค ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการเติบโตขยายสู่ระดับภูมิภาค และมีห้องปฏิบัติการฟินเทคที่เป็นแหล่งฟูมฟักของผู้ประกอบการฟินเทคโดยเฉพาะ โดยคัดเลือกฟินเทคสตาร์ทอัพจากผู้ประกอบการทั้งในและนอกประเทศที่มีศักยภาพสูงสุดมาบ่มเพาะให้เติบโตโดยให้ทั้งเงินทุนและการศึกษา ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ ๘ รายผ่านการคัดเลือกจาก ๕๐๐ ราย ๔๔ ประเทศ

บทสรุป
สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงินแห่งหนึ่งในโลก และมีความกังวลว่าการเงินในโลกกระแสที่เปลี่ยนไปเพราะนวัตกรรมฟินเทค ถ้าไม่ก้าวข้างหน้าเทคโนโลยีอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นสิงคโปร์จึงผลักดันในการลงทุน รวมทั้งได้มีธนาคารกลางสิงคโปร์ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลในรูปแบบที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจฟินเทค ๒ ประการ ได้แก่ กำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม และอำนวยความสะดวกด้วยการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างแพร่หลายจนประเทศสิงคโปร์ได้ถูกขนานนามว่าเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีด้านการเงินในอาเซียน ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าเราควรศึกษาวิธีการกำกับดูแลจากประเทศสิงคโปร์ เพื่อสร้างความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีทางการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสังคมที่ก้าวเข้าสู่ยุคไร้เงินสดที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้

ดาวน์โหลดไฟล์การกำกับดูแล FinTech ในสิงคโปร์.pdf

นางสาวจันทพร ศรีโพน
นักวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

[๑] Monetary Authority of Singapore. “PROPOSED ACTIVITY-BASED PAYMENTS FRAMEWORK AND ESTABLISHMENT OF A NATIONAL PAYMENTS COUNCIL.” สิงหาคม ๒๕๕๙.https://www.rajahtannasia.com/media/pdf/16_MAS_CPProposedActivityBasedPaymentsFramework_Establishment_NationalPaymentsCouncil_Aug2016.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)
[๒] Monetary Authority of Singapore. “GUIDELINES ON OUTSOURCING .” ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙.  http://www.mas.gov.sg/~/media/MAS/Regulations%20and%20Financial%20Stability/Regulatory%20and%20Supervisory%20Framework/Risk%20Management/Outsourcing%20Guidelines_Jul%202016.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)
[๓] Monetary Authority of Singapore. “Consultation Paper on Provision of Digital Advisory Services.”
๗ มิถุนายน ๒๕๖๐. http://www.mas.gov.sg/~/media/MAS/News%20andConsultation%20Papers/Consultation %20Paper%20on%20Provision%20of%20Digital%20Advisory%20Services.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)

[๔] Monetary Authority of Singapore. “Guidelines on the Online Distribution of Life Policies with no Advice.” ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐. http://www.mas.gov.sg/~/media/resource/legislation_guidelines/insurance /guidelines/Guidelines%20on%20the%20Online%20Distribution%20of%20Life%20Policies%20With%20No%20Advice%2031%20Mar%202017.pdf. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)
[๕] Monetary Authority of Singapore. “FS-ISAC and MAS Establish Asia Pacific (APAC) Intelligence Centre for sharing and analyzing cyber threat information.” ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙.  http://www.mas.gov.sg/News-and-Publications/Media-Releases/2016/FS-ISAC-and-MAS-Establish-APAC-Intelligence-Centre.aspx. (สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)

© 2017 Office of the Council of State.