เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลียผลักดันให้อาเซียนกดดันเกาหลีเหนือมากขึ้นเนื่องมาจากความทะเยอะทะยานของเกาหลีเหนือในเรื่องเกี่ยวกับปรมาณู อีกทั้ง ให้อาเซียนรับรองว่าระเบียบปฏิบัติสำหรับข้อพิพาทในทะเล (Code of Conduct for maritime disputes) มีผลผูกพันทางกฎหมาย
ในคำแถลงภายหลังการประชุมคู่ขนานกับการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) นาย Rex Tillerson นาย Taro Kono และนาง Julie Bishop รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตามลำดับ ได้ใช้ “คำที่รุนแรงที่สุด” ในการประณามโครงการอาวุธปรมาณูของเกาหลีเหนือ รวมไปถึงการที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธนอกเขตแดนของตนเองเมื่อเดือนก่อน โดยรัฐมนตรีทั้ง ๓ ได้เห็นพ้องกับการเคลื่อนไหวของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nation Security Council) เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคมในการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภทจากเกาหลีเหนือ และในคำแถลงยังมีว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้ง ๓ ประเทศยังได้ผลักดันให้ประเทศสมาชิกของอาเซียนกดดันเกาหลีเหนือให้ถึงที่สุดเช่นเดียวกัน”
ในวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ อาเซียนได้แสดง “ความกังวลอย่างมาก” เกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี รวมไปถึงการทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือด้วย อย่างไรก็ตาม คำแถลงของอาเซียนมีนัยว่าเกาหลีเหนือยังควรเป็นส่วนหนึ่งของ ARF ซึ่งเปรียบเสมือนการปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการกีดกันเกาหลีเหนือ
ตามที่ปรากฏในคำแถลงว่า “รัฐมนตรีทั้ง ๓ ได้ผลักดันให้ประเทศสมาชิกของอาเซียนกับจีนได้ข้อสรุปร่วมกันให้มีกฎหมายที่มีผลผูกพันโดยเร็ว และกฎหมายนั้นจะต้องมีผลผูกพัน มีเหตุผล บังคับใช้ได้ และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ” เพื่อเป็นการรับรองว่าผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติในทะเลจีนใต้จะต้องถูกลงโทษ
จีนและประเทศสมาชิกของอาเซียนมีเขตอำนาจอธิปไตยในเขตทะเลจีนใต้ที่ซ้อนทับกันอยู่ โดยในวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ รัฐมนตรีจากจีนและประเทศสมาชิกของอาเซียนทั้ง ๑๐ ได้รับรองร่างกรอบระเบียบปฏิบัติที่มีจุดมุ่งหมายในการป้องกันการข้อพาทในพื้นที่ดังกล่าว โดยนาย Wang Yi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่าอาจเริ่มการเจรจาเรื่องข้อกำหนดของระเบียบได้ในเดือนพฤศจิกายน ตราบใดที่บรรยากาศยังคงที่และไม่มี “การแทรกแซงจากบุคคลภายนอก”
ในคำแถลงยังได้กล่าวอีกว่า “รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศทั้ง ๓ ได้เรียกร้องให้จีนและฟิลิปปินส์ปฏิบัติตามคำพิพากษาอนุญาโตตุลาการปี พ.ศ. ๒๕๕๙ (Arbitral Tribunal's 2016 Award) ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน เนื่องจากคดีถึงที่สุดแล้วและมีผลผูกพันทางกฎหมายต่อทั้ง ๒ ประเทศ”
จีนได้ปฏิเสธที่จะยอมรับผลของคดีที่ชี้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะคดี โดยคำตัดสินปรากฏว่าจีนไม่มีฐานทางกฎหมายในการกล่าวอ้างเขตอำนาจอธิปไตยในทะเลจีนใต้ให้กว้างออกไป ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ของฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ได้เลือกที่จะวางคำตัดสินไว้ก่อนเพื่อที่จะได้เจรจากับจีนซึ่งจะส่งผลให้ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ
การปราศรัยของรัฐมนตรีทั้ง ๓ ในการประชุม ARF ในคืนวันที่ ๗ สิงหาคม น่าจะสะท้อนคำแถลงฉบับนี้ของพวกเขา โดยการประชุมนี้คาดว่าจะมีกลุ่มประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (ASEAN Dialogue Partners) จำนวน ๑๔ ประเทศซึ่งรวมไปถึงจีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือเข้าร่วมด้วย
เรียบเรียงจาก
https://asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/US-Japan-Australia-urge-ASEAN-to-maximize-pressure-on-North-Korea