BANNER

จีนมีอิทธิพลเหนืออาเซียนเมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัว


 ข่าวต่างประเทศ      07 Aug 2017

  



 
อาเซียนมีอายุครบ ๕๐ ปีในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๐ โดยที่ผ่านมาอาเซียนได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical change) มาพอสมควร  แต่ในปัจจุบัน ความไม่แน่นอนของนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี Donald  Trump ทำให้อิทธิพลของจีนเหนือภูมิภาคอาเซียนกระจายตัวมากขึ้น
 
การทำสงครามเย็นของประเทศเล็ก ๆ ได้ให้กำเนิดประชาคมทางเศรษฐกิจที่กว้างใหญ่โดยมีประชากรรวมกันกว่า ๖๐๐ ล้านคน ที่กำลังถูกดึงดูดไปหาเพื่อนบ้านที่มีอำนาจอย่างมากดั่งแม่เหล็กทางตอนเหนือ
 
อำนาจที่กำลังแผ่กระจาย
 
อิทธิพลของจีนสามารถเห็นได้ในบริเวณรอบนอกของหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองหลวงเดิมของลาว เมืองดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการของจีนที่จะสร้างรางรถไฟความเร็วสูงซึ่งจะเชื่อมระหว่างเมืองคุนหมิงทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนไปยังสิงคโปร์ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (one belt, one road) โดยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง (President Xi Jinping) โดยติดป้ายชื่อโครงการเป็นตัวอักษรจีนอยู่ ณ สถานก่อสร้าง
 
ในจังหวัด Binh Thuan ทางตอนใต้ของเวียดนามเองบริษัทจากจีนก็กำลังควบคุมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินภายใต้ชื่อ Vinh Tan 1 โดย ๑ ใน ๓ ของไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนเป็นพลังงานจากถ่านหิน โดยองค์กรจากจีนได้รับคำสั่งซื้อร้อยละ ๙๐ ของคำสั่งซื้อทั้งหมดในโครงการสร้างโรงงานพลังงานถ่านหินในภูมิภาคอาเซียน
 
เมื่อจีนแสดงความยึดมั่นในนโยบายพลังงานของตนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เวียดนามไม่อยากจะกระทำการใดที่จะกระทบกระทั่งกับจีน สำนักข่าว BBC รายงานว่า แม้เวียดนามได้อนุมัติให้สเปนสำรวจก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทะเลจีนใต้ แต่เมื่อเดือนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของเวียดนามได้สั่งให้สเปนหยุดการขุดก๊าซธรรมชาติทันทีโดยอ้างว่าจีนได้ขู่ว่าจะโจมตีกองกำลังเวียดนามในบริเวณหมู่เกาะ Spratly Islands
 
อาเซียนคือผลลัพธ์ของสงครามเย็นตามที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อสหรัฐอเมริกาแพ้ในสงครามของเวียดนามการขยายตัวของกลุ่มเผด็จการจึงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างเห็นได้ชัด นาง Retno Marsudi รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวว่า ภูมิภาคดังกล่าวต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่อาจจะส่งผลให้กลายเป็นคาบสมุทรบอลข่านใหม่  อีกทั้ง นาย Lee Kuan Yew ผู้ซึ่งถือว่าเป็นบิดาของสิงคโปร์ที่ได้ล่วงลับไปแล้วเคยกล่าวว่า ๕ ชาติที่ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) นั้นได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการที่จะสร้างความเข้มแข็งร่วมกันในภูมิภาคในกรณีการเกิดสุญญากาศทางอำนาจที่จะเกิดขึ้นเมื่อสหรัฐอเมริกาถอนอำนาจ
 
ความเป็นจริงใหม่ที่ต้องเผชิญ
 
ปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ การบริหารของ Trump เอนเอียงไปทางการทำธุรกรรมมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์กับจีน  อีกทั้ง ตำแหน่งทูตของสหรัฐฯ ในอาเซียนที่มีที่ตั้งอยู่ในอินโดนีเซียนั้นว่างมาตั้งแต่เดือนมกราคม เมื่อขาดแนวต้านจากสหรัฐฯ ที่จะมายับยั้งการขยายตัวของจีน ทำให้ทะเลจีนใต้มีโอกาสที่จะตกเป็นของจีนมากยิ่งขึ้นซึ่งจะมีการวางกำลังทางทหารเต็มพื้นที่
 
จากมุมมองของอาเซียน จีนก็มีอำนาจมากกว่าในเชิงการค้า โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เผยว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศปลายทางการส่งออกสินค้าจากอาเซียนเป็นตัวเลขร้อยละ ๑๙ ของมูลค่าการส่งออกจากอาเซียนทั้งหมด ซึ่งจีนมีเพียงร้อยละ ๔ แต่ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกตัวเลขการส่งออกจากอาเซียนมายังจีนได้เพิ่มมากกว่าสหรัฐฯ
 
การที่สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลน้อยลงในอาเซียนเป็นการปลดปล่อยประเทศซึ่งรู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องรักษาภาพลักษณ์ด้านประชาธิปไตยต่อสหรัฐฯ แต่เดิม โดยนางอองซาน ซูจี ผู้นำซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยและได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของเมียนมาให้เป็นระบอบการปกครองโดยพลเรือนด้วยความสนับสนุนจากสหรัฐฯ ก็ไม่ค่อยออกมาพูดเรื่องข้อกล่าวหาว่าทหารในเมียนมาได้สังหารกลุ่มชนชาวโรฮิงญาที่เป็นชนกลุ่มน้อย  อีกทั้ง นาย Rodrigo  Duterte ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งได้เดินหน้าสังหารผู้ค้ายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง ได้กล่าวอย่างเปิดเผยว่าข้อกล่าวหาว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นการที่ต่างประเทศเข้ามายุ่งกับกิจการภายในของประเทศ
 
ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของอาเซียนที่เกิดจากการรวมตัวของชาติที่มีความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ศาสนา และระบอบการปกครอง เมื่อขาดตัวเชื่อมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงเสี่ยงต่อการถูกชาติมหาอำนาจทำให้อ่อนแอลงได้ ผู้นำในอดีตได้ตระหนักถึงภัยดังกล่าวจึงได้กำหนดจุดยืนของประเทศสมาชิกทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์และทางการเมืองผ่านการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์ซึ่งเกิดจากการเจรจาอย่างอดทน
 
วิสัยทัศน์ในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่คาดหวังมาอย่างยาวนานนั้นสำเร็จเป็นผลเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่การเคลื่อนย้ายสินค้า การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ตลอดจนการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้นจะบรรลุตามเป้าหมาย การที่ประชาคมเศรษฐกิจจะบรรลุศักยภาพยังจำเป็นต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากกว่านี้

เรียบเรียงจาก https://asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/China-looms-ever-larger-over-ASEAN-as-US-steps-back

© 2017 Office of the Council of State.