BANNER

วิเคราะห์พันธกรณีของประเทศสมาชิกอาเซียนว่าด้วยกฎหมายแรงงานต่างด้าว


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรรมอาเซียน      02 Aug 2017

  


บทนำ
เมื่อวันที่ ๖-๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เจ้าหน้าที่แรงงาน พนักงานตรวจแรงงาน อัยการ และพนักงานสอบสวน จากประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้าร่วม “การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนที่มีประสิทธิภาพและการฟ้องคดีค้ามนุษย์ที่แสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน (Regional Workshop on Effective Investigation and Prosecution of Trafficking in Persons – TIPs)” ณ เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นกิจกรรมของคณะกรรมการอาเซียนเพื่อให้มีการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ASEAN Committee to Implement the ASEAN Declaration on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers – ACMW) ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓ โดยกิจกรรมนี้มีลักษณะเป็นการเสริมสร้างและสนับสนุนการปฏิบัติตามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons Especially Women and Children) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะวิเคราะห์พันธกรณีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายในการประชุมดังกล่าวเพื่อให้ทราบแนวทางดำเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียนในปัจจุบันในการต่อต้านการค้าแรงงาน
 
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ
ปฏิญญาฉบับนี้มีหลักปฏิบัติอยู่ ๒๒ ข้อและมีใจความสำคัญโดยสรุปว่า ประเทศสมาชิกของอาเซียนจะต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติในกลุ่มประเทศมาชิกอาเซียน ส่งเสริมสวัสดิการ และศักดิ์ศรีของแรงงานข้ามชาติ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับการลักลอบขนย้ายและการค้ามนุษย์ นำบทลงโทษขั้นรุนแรงมาใช้กับผู้ที่กระทำความผิด รวมทั้งประเทศที่ว่าจ้างแรงงานจะต้องให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ถูกแสวงประโยชน์ ละเมิดสิทธิหรือถูกทำร้าย ในกรณีที่แรงงานดังกล่าวถูกจับกุมประเทศที่ว่าจ้าง จะต้องอำนวยความสะดวกในการให้เจ้าหน้าที่กงสุลหรือเจ้าหน้าที่การทูตของประเทศลูกจ้างเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือร่วมด้วย
การที่ประเทศสมาชิกรับปฏิญญาอาเซียนดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะหมดไปหรือไม่เกิดขึ้นอีก  ทั้งนี้ เนื่องมาจากการที่ปฏิญญามิได้มีฐานะเป็นกฎหมายที่มีผลผูกพันต่อประเทศที่ได้ลงนาม และไม่มีพันธะผูกพันในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีฐานะเป็นเพียงการให้คำมั่นสัญญาหรือแสดงการยืนยันร่วมกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกเพื่อที่จะกำหนดมาตรฐานในการอยู่ร่วมกันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ปฏิญญาอาเซียนจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย เนื่องจากปฏิญญาดังกล่าวจะชี้ให้เห็นถึงหลักการที่ประเทศสมาชิกได้ประกาศร่วมกัน และเอื้อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ สามารถใช้อ้างอิงในการทำงานหรือกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานข้ามชาติต่อไป
 
แผนปฏิบัติการของ ACMW สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓[๑]
รัฐมนตรีและคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศได้รับรองแผนปฏิบัติการของคณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงานสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงาน (ASEAN Labor Ministers Meeting: ALMM) ครั้งที่ ๒๔ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ เมืองเวียงจันทร์ สปป. ลาว โดยแผนปฏิบัติการฯ มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนในอาเซียนได้รับคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดีขึ้น โดยการยกระดับอัตราการแข่งขัน และเป็นการทำงานที่ปลอดภัยและเหมาะสม โดยจะเป็นผลมาจากการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิผล ทำงานในสถานที่ทำงานที่มีความก้าวหน้าและมีความปรองดอง และมีการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ[๒] ภายใต้แผนปฏิบัติการของ ACMW
นอกจากนี้ แผนปฏิบัติดังกล่าวยังกำหนดให้มีการแก้ไขทั้งตัวบทกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ[๓] อีกทั้งต้องร่วมมือกับที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (ASEAN Senior Officials Meeting on Transnational Crime – SOMTC) ภายใต้กรอบปฏิบัติการของอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็กเพื่อปฏิบัติการยับยั้งการค้ามนุษย์ ป้องกันเหยื่อจากการค้ามนุษย์ การประสานงานและร่วมมือกันระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ รวมไปถึงการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดค้ามนุษย์อีกด้วย[๔]
กระบวนการติดตามและการประมวลผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัตินี้จะต้องรายงานผลของการดำเนินงานต่อที่ประชุมประจำปีของที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงานอาเซียน (Senior Labor Officials Meeting – SLOM)[๕] เป็นประจำทุกปี
 
อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก
อนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการ (๑) ป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (๒) คุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยให้ความเคารพสูงสุดแก่สิทธิมนุษยชนของผู้เสียหาย (๓) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบรรดาภาคีให้บรรลุวัตถุประสงค์[๖] ประเทศสมาชิกมีหน้าที่ในการที่จะแก้ไขหรือบัญญัติกฎหมายหรือมาตรการอื่นใดเท่าที่จำเป็นในการทำให้การค้ามนุษย์ตามความหมายของอนุสัญญานี้เป็นความผิดทางอาญาเมื่อเป็นการกระทำโดยจงใจ[๗] และให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด[๘] หรือผู้สั่งและบังคับให้ผู้อื่นกระทำความผิดนั้นได้รับโทษทางอาญาเช่นเดียวกัน[๙]
นอกจากหน้าที่ที่ประเทศสมาชิกจะต้องกำหนดให้การค้ามนุษย์เป็นความผิดแล้ว ยังได้มีการกำหนดกรณีที่ทำให้ผู้กระทำความผิดค้ามนุษย์ต้องได้รับโทษเพิ่มขึ้นอีกด้วย[๑๐] กล่าวคือ (๑) หากการกระทำผิดนั้นเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือเป็นเหตุให้เสียชีวิต (รวมถึงการเสียชีวิตโดยการฆ่าตัวตาย) (๒) การกระทำผิดนั้นเกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งอ่อนแอ เช่น เด็กหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถดูแลปกป้องตนเองได้อย่างเต็มความสามารถเนื่องด้วยเหตุทางร่างกายหรือจิตใจ (๓) หากการกระทำผิดนั้นเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับโรคซึ่งร้ายแรงถึงชีวิต ซึ่งรวมไปถึงโรค HIV/AIDS (๔) หากผลของการกระทำผิดนั้นทำให้มีผู้เสียหายมากกว่า ๑ คน (๕) หากการกระทำผิดนั้นมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการของกลุ่มอาชญากรรมที่ตั้งขึ้นเพื่อการกระทำผิดนี้โดยเฉพาะ (๖) หากผู้กระทำผิดเคยได้รับโทษสำหรับความผิดนี้หรือความผิดซึ่งคล้ายคลึงกับความผิดมานี้มาก่อน (๗) หากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งใช้อำนาจในทางมิชอบ
อนุสัญญาฉบับนี้ได้กำหนดหน้าที่ต่าง ๆ ให้ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองแรงงานต่างชาติในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ เพื่อมิให้มีการค้ามนุษย์หรือลดอัตราการค้ามนุษย์ในอนาคต
 
การดำเนินการของประเทศไทยเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ
เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ประเทศไทยได้มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยได้รวมกฎหมาย ๒ ฉบับคือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑ และ พระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ ให้สามารถแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว และเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานที่ถูกต่างชาติมองว่าไทยยังหละหลวม
โดยสาระสำคัญของ พราชกำหนดฉบับนี้ คือ การกำหนดอัตราโทษสำหรับนายจ้างที่สูงขึ้นในกรณีที่จ้างคนต่างด้าวให้ทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน[๑๑] หรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน[๑๒] โดยได้กำหนดโทษปรับตั้งแต่ ๔๐๐,๐๐๐ - ๘๐๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง ๑ คน หรือในกรณีที่นายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ต่อต่างด้าว ๑ คน[๑๓] เป็นต้น
ส่วนโทษต่อตัวแรงงานต่างด้าวเองก็ได้มีการกำหนดอัตราโทษที่สูงขึ้นเช่นกัน เช่น คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับตั้งแต่ ๒,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[๑๔] คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วนแต่ไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ บาท[๑๕] และคนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท[๑๖] เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าวก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก โดยมีประเด็นที่น่าวิเคราะห์ดังต่อไปนี้
          (๑) การออกบทกฎหมายเป็นพระราชกำหนดนั้น มีความเหมาะสมหรือไม่
              การออกกฎหมายในลักษณะของพระราชกำหนดจะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน แต่เรื่องของการบริหารจัดการคนต่างด้าวไม่น่าถึงขั้นต้องออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งเมื่อออกมาในรูปแบบนี้ก็จะแตกต่างกับการออกเป็นพระราชบัญญัติที่ต้องมีการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสีย  นอกจากนี้ การออกพระราชกำหนดฉบับนี้น่าจะไม่สอดคล้องกับ มาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี ๖๐[๑๗] ที่กำหนดให้การตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญมีหมวดการปฏิรูปประเทศในมาตรา ๒๕๘ ด้านกฎหมายซึ่งกำหนดให้รัฐต้องมีกลไกปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักมาตรา ๗๗ และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสากล
              ปัญหาจึงมีอยู่ว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ นอกจากจะไม่สอดคล้องกับมาตรา ๗๗ แห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ในอดีตยังไม่เคยมีการออกพระราชกำหนดเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก พร้อมแก้ไขพระราชกำหนดที่เพิ่งออกมาไม่ถึงปี เนื่องจากพระราชกำหนดควรออกในช่วงมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง
          (๒) การกำหนดอัตราโทษที่สูงขึ้นจะแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ หรือการลักลอบใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายได้หรือไม่
              ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้น เดิมกำหนดโทษของการที่นายจ้างได้จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานในลักษณะงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ คือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท[๑๘] หรือหากรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง ๑ คน[๑๙] หรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท[๒๐] แต่ตามพระราชกำหนดฉบับปัจจุบันได้เพิ่มโทษเป็นปรับตั้งแต่ ๔๐๐,๐๐๐ - ๘๐๐,๐๐๐ บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้าง ๑ คน การเปลี่ยนแปลงโทษของการกระทำความผิดนั้นเพิ่มจากเดิมถึง ๔๐ เท่า
              อาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาเรื่องราวและความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับแรงงานข้ามชาติผ่านระบบเอกสารมาอย่างต่อเนื่อง ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Way เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายครั้งใหญ่นี้ โดยอาจารย์มีความเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้น่าจะประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวในตอนนี้เนื่องจาก ๒ ปัจจัยหลัก คือ (๑) การพยายามให้ประเทศไทยถูกเอาชื่ออกจาก Watch List ระดับ Tier ๒ ของ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างสหรัฐอเมริกา (Trafficking in Persons Report – TIP) เนื่องจากการที่ไทยโดนขึ้นบัญชีดำเรื่องการค้ามนุษย์ การกดขี่และการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติอยู่ในปัจจุบัน (๒) เป็นการกระทำเพื่อกันไม่ให้แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาถึงเขตพื้นที่ชั้นใน โดยพยายามสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับธุรกิจชายแดนและจำกัดไม่ให้แรงงานเหล่านั้นสามารถเดินทางนอกพื้นที่ที่กำหนดได้ เปรียบเสมือนคุกที่มีไว้ขังแรงงานเอาไว้  อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติเจ้าของโรงงาน เจ้าของธุรกิจ ต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่แทบทุกประเภท ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ยิ่งเป็นคนงานยิ่งต้องจ่ายส่วยเยอะสุด เพราะมีการขูดรีดกันมาหลายระดับ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่แรงงานต่างด้าวจะไม่พยายามหลบหนีออกจากวงจรแบบนั้น กลายเป็นปัญหางูกินหางที่แก้ไม่จบ ปัญหาที่เกิดจึงไม่ได้เกิดจากการที่แรงงานไม่มีบัตร หรือไม่มีเอกสาร หากแต่เกิดจากระบบบริหารแรงงานข้ามชาติที่ล้มเหลว[๒๑]
              เมื่อปัญหาไม่ได้เกิดจากการที่นายจ้าง หรือแรงงานต่างด้าวมีเจตนาจะลบเลี่ยงการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย การที่เพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้นจึงไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด นอกจากนั้นเป็นการทำให้แรงงานในประเทศไทยมีความขาดแคลนมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย
              การออกพระราชกำหนดซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวโดยรัฐบาลปัจจุบันนั้น เป็นการกระทำที่ได้ปฏิบัติโดยคำนึงถึงแผนปฏิบัติการของ ACMW สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๓ อีกทั้งเป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสตรี เด็ก หรือบุคคลทั่วไปตามพันธกรณีตามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก แม้การปฏิบัติของประเทศไทยจะกระทำบนพื้นฐานของพันธกรณีที่มีต่อประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก  แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ได้มีการคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันมากเพียงพอ เนื่องจากแรงงานบางสาขาอาชีพในประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นควรมีมาตรการเพิ่มเติมในการที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ได้ทั้งทางด้านการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์รวมถึงการให้สภาพเศรษฐกิจภายในประเทศดำเนินการต่อไปโดยไม่ขัดข้องอีกด้วย
 
บทสรุป
อาเซียนได้มีการจัดทำอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เพื่อคุ้มครองปัญหาด้านการค้ามนุษย์และการลักลอบแรงงานโดยผิดกฎหมายในประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การดำเนินการของอาเซียนมีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการต่อต้านการค้ามนุษย์  อย่างไรก็ตาม ในการที่ประเทศสมาชิกจะปฏิบัติตามโดยการแก้ไขกฎหมายภายในของประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ  ทั้งนี้ จากการศึกษาในกรณีของประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ว่า รัฐมีเจตนาในการแก้ไขกฎหมายเพื่อตอบสนองปัญหาการค้ามนุษย์และการลักลอบแรงงานต่างด้าว เพียงแต่อาจไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบเพียงพอเนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงประเด็น
ดังนั้น ในการที่ประเทศสมาชิกจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายหรือกระทำการใดเพื่อเป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าว แต่ละประเทศจะต้องคำนึงถึงปัญหาที่มีอย่างรอบคอบทั้งภายในประเทศและในทางระหว่างประเทศ และจะต้องคำนึงถึงสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมของแต่ละประเทศด้วย
 
[๑] รายงานสรุปการประชุม ALMM ครั้งที่ ๒๔ สืบค้นข้อมูลจาก http://asean.org/storage/2017/03/LN-05-JC-of-ALMM-24.pdf
[๒] เพิ่งอ้าง ข้อ ๑๕
[๓] เพิ่งอ้าง ข้อ ๑๒
[๔] เพิ่งอ้าง
[๕] เพิ่งอ้าง หัวข้อ Monitoring and Evaluation Mechanism, หน้า ๗
[๖] มาตรา ๑ แห่งอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก สืบค้นข้อมูลจาก https://www.interpol.int/Media/Files/INTERPOL-Expertise/EU-ASEAN-Programme/ASEAN-Convention-Against-Trafficking-in-Persons-2015
[๗] เพิ่งอ้าง มาตรา ๕(๑)
[๘] เพิ่งอ้าง มาตรา ๕(๒)(b)
[๙] เพิ่งอ้าง มาตรา ๕(๒)(c)
[๑๐] เพิ่งอ้าง มาตรา ๖
[๑๑] มาตรา ๑๐๒ ประกอบ มาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ สืบค้นข้อมูลจาก https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/bkk_th/ae7b531a4c8eddaa2096ccabc2970828.pdf
[๑๒] ​เพิ่งอ้าง มาตรา ๑๒๒ ประกอบมาตรา ๗๒
[๑๓] เพิ่งอ้าง มาตรา ๑๒๓ ประกอบมาตรา ๗๓
[๑๔] เพิ่งอ้าง มาตรา ๑๐๑ ประกอบมาตรา ๘
[๑๕] ​เพิ่งอ้าง มาตรา ๑๑๙ ประกอบมาตรา ๕๙ วรรคหนึ่ง
[๑๖] เพิ่งอ้าง มาตรา ๑๒๐ ประกอบมาตรา ๗๐
[๑๗] มาตรา ๗๗ รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง
[๑๘] มาตรา ๕๔ ประกอบมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑
[๑๙] เพิ่งอ้าง
[๒๐] เพิ่งอ้าง
[๒๑] อ่านบทสัมภาษณ์ต่อได้ที่ https://waymagazine.org/pinkaew_laungaramsri/0

© 2016 Office of the Council of State.