BANNER

ความคาดหวังที่ลดลงสำหรับข้อตกลงเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในอาเซียน


 ข่าวต่างประเทศ      24 Jul 2017

  



การปราบปรามผู้อพยพในมาเลเซียและประเทศไทยอย่างเป็นทางการได้ส่งผลให้เกิดความสงสัยว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะสามารถมีผลสรุปในข้อตกลงอันเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติได้หรือไม่  ทั้งนี้ ได้มีการหารือกันถึงข้อตกลงดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว
 
ในเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คนได้อพยพออกจากประเทศไทยภายหลังจากการที่รัฐบาลประกาศกฎหมายใหม่เพื่อเป็นการลงโทษแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายและนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมายว่าด้วยแรงงานข้ามชาติให้หนักมากขึ้น อีกทั้งตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคมเป็นต้นมา มาเลเซียได้มีการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่ต้องสงสัยว่าผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่งผลกระทบแก่แรงงานประมาณ ๓,๐๐๐ คนและนายจ้างอีกประมาณ ๖๐ คนซึ่งถูกกล่าวหาว่าว่าจ้างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย
 
ถึงแม้การดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ แต่การดำเนินการอันหนักหน่วงนี้เกิดจากการที่รัฐบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคพยายามบังคับใช้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ที่ได้มีการลงนามที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นปีที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ
 
ในช่วงระยะเวลา ๒ ปีหลังจากการมีปฏิญญาดังกล่าว ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เริ่มกำหนดมาตรฐานทางกฎหมายแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การดำเนินการนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า การที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปีนี้จึงมีการผลักดันในเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติอีกครั้ง  ทั้งนี้ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติเป็นประเด็นทางสังคมและการเมืองที่สำคัญประการหนึ่งในฟิลิปปินส์ โดยประชากรประมาณร้อย ๑๐ ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อแสวงหางานทำ
 
อย่างไรก็ตาม ก็เกิดความขัดแย้งในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการที่จะเสนอประมวลปฏิบัติการ (code) ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และหากมีการจัดทำ code ควรจัดทำความตกลงในลักษณะใดที่จะให้เกิดผลสำเร็จ สำหรับประเทศผู้รับแรงงานที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีสำหรับแรงงานข้ามชาติ เช่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทยนั้น ไม่ต้องการให้มี code ของภูมิภาคที่มีผลผูกพันทางกฎหมายซึ่งจะให้สิทธิแก่แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายและครอบครัว แต่ในทางกลับกันประเทศซึ่งเป็นต้นทางของแรงงานข้ามชาติ เช่น กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์นั้น กลับต้องการจะให้มีการปกป้องสิทธิของแรงงานของตนที่เดินทางไปทำงานต่างแดน โดยนางสาว Moe Thuzar ซึ่งเป็นนักวิจัยชั้นนำในด้านกิจกรรมสังคมและวัฒนธรรมแห่งสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ของสิงคโปร์ได้กล่าวไว้ในทำนองเดียวกัน
 
ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง ๑๐ นั้นอยู่ในฐานะทั้งประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาติ จากการประเมินของธนาคารโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เผยว่า จากประชากรทั้งหมดกว่า ๖๒๐ ล้านคน มีประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า ๒๐ ล้านคนที่เป็นผู้อพยพย้ายถิ่น และจากจำนวนแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดกว่า ๑๐.๒ ล้านคน มีเกือบ ๗ ล้านคนที่อพยพย้ายถิ่นภายในภูมิภาค
 
โดยตัวเลขของแรงงานข้ามชาติในประเทศที่อยู่ในฐานะผู้ส่งแรงงาน อาทิเช่น ชาวกัมพูชามีจำนวนเกือบ ๘๐๐,๐๐๐ คน ชาวอินโดนีเซียอีก ๑,๒ ล้านคน ชาวลาว ๙๐๐,๐๐๐ คน ชาวเมียนมาอีก ๒ ล้านคน และชาวฟิลิปปินส์เกือบ ๕๐๐,๐๐๐ คนได้เดินทางเข้าไปทำงานในประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตัวเลขเหล่านี้เป็นการแสดงตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง  ทั้งนี้ เกิดจากการที่การอพยพย้ายถิ่นส่วนหนึ่งเป็นการอพยพอย่างผิดกฎหมาย และนี้คือประเด็นที่จะต้องถูกกำหนดลงในข้อตกลงอาเซียน  อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการปราบปรามในมาเลเซียและประเทศไทยบางส่วนเกิดจากการที่นายจ้าง หรือนายหน้าจัดหางานยึดหนังสือเดินทาง (passport) หรือเอกสารยืนยันตัวประเภทอื่นของแรงงาน
 
สำหรับประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาติอย่างมาเลเซียและประเทศไทยเองก็มีตัวเลขผู้อพยพย้ายถิ่นไปต่างแดนที่สูง โดยมีชาวมาเลเซียกว่า ๑ ล้านคนและชาวไทยประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน ที่อาศัยที่ประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งเท่ากับว่าร้อยละ ๒๐ ของชาวไทยทั้งหมดที่ทำงานที่ต่างแดนเลือกที่จะทำงานในภูมิภาคอาเซียน
 
ความแตกต่างของสภาพเศรษฐกิจ
ตัวเลขของผู้อพยพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สะท้อนถึงความแตกต่างของสภาพเศรษฐกิจอย่างชัดเจน จากตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี (GDP per capita) ของสิงคโปร์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ คือ ๕๒,๙๖๑ เหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงเป็นอันดับเก้าของโลกและถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดในอาเซียน ในขณะที่ GDP ของบรูไนอยู่ในอันดับที่ ๒ ในภูมิภาคด้วยตัวเลข ๒๖,๔๒๔ เหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยมาเลเซียที่มี GPD ที่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐเพียงเล็กน้อย
 
ประเทศที่มีตัวเลข GDP น้อยกว่า อันได้แก่ กัมพูชามี GPD อยู่ที่ ๑,๒๓๐ เหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์ที่ ๒,๙๒๔ เหรียญสหรัฐ และอินโดนีเซียที่ ๓,๖๐๔ เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งโดยมากเป็นประเทศผู้รับมี GDP ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ เหรียญสหรัฐเล็กน้อย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์  แต่ก็ถือเป็นตัวเลขที่เพียงพอและน่าดึงดูดสำหรับแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชาและเมียนมา  นอกจากนี้ ธนาคารโลกเผยว่าเมียนมามีตัวเลข GDP เพียง ๑,๒๗๕ เหรีญสหรัฐเท่านั้น
 
นาย Nilim Baruah ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านแรงงานข้ามชาติแห่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) กล่าวว่า “โดยทั่วไปภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับแรงงานและการจัดหางานนั้น แรงงานข้ามชาติและคนชาติจะได้การรับปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน  อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติมักจะทำงานที่คนชาติไม่ต้องการทำและให้ผลตอบแทนน้อย ตัวอย่างคนงานเหล่านี้คืองานรับใช้ในบ้าน (domestic work) ซึ่งโดยส่วนมากทำโดยเพศหญิง และงานเกษตรกรรมและการประมงที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานเท่าที่ควร งานรับใช้ในบ้านเป็นหนึ่งในตัวอย่างงานที่ให้เงินน้อยเมื่อเทียบกับเวลาการทำงานที่ต้องทำหลายชั่วโมง เนื่องจากงานดังกล่าวไม่ให้รับความคุ้มครองเรื่องกฎเกณฑ์ว่าด้วยแรงงานขั้นต่ำ”
 
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการประมงของประเทศไทยได้มีการเปิดเผยว่ามีการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ โดยหลายรายได้กลายเป็นทาสทางทะเลมาหลายปี ในขณะที่ในสิงคโปร์ ศาลต้องรับมือกับข้อกล่าวอ้างของแรงงานข้ามชาติซึ่งทำงานรับใช้ในบ้านว่าถูกเจ้าบ้านละเมิดสิทธิของตน
 
อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาตินั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้รับ โดยจะเห็นได้จากการปราบปรามในมาเลเซีย ซึ่งบริษัทก่อสร้างหลายแห่งได้บอกแก่ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นว่าขณะนี้ตลาดแรงงานข้ามชาติขาดแคลนเนื่องมาจากการที่แรงงานข้ามชาติเหล่านั้นไม่กล้ามาทำงานเพราะกลัวการถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ จากแรงงานข้ามชาติทั้งหมดประมาณ ๔ ล้านคนในมาเลเซีย มีการคาดการณ์ว่าประมาณครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยส่วนมากเป็นชาวเมียนมาและชาวอินโดนีเซีย
 
ปัจจัยทั้งด้านตัวเลขดังกล่าวข้างต้นประกอบกับจำนวนครั้งที่แรงงานข้ามชาติถูกละเมิด การขาดการควบคุมเครือข่ายการจัดหางานที่เอาเปรียบและได้กำไรจากการอพยพคนเข้าเมืองในภูมิภาคของทั้งตัวแทน ผู้จัดหางานและผู้ค้ามนุษย์ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าอาเซียนต้องจัดการกฎหมายในเรื่องประเด็นปัญหานี้อย่างเป็นองค์รวมมากกว่าการจัดทำข้อตกลงแบบทวิภาคีระหว่างประเทศอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน
 
ในขณะที่ประเทศผู้รับได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับการที่มีค่าจ้างแรงงานข้ามชาติถูก ทางประเทศผู้ส่งก็ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน เห็นได้จากในระหว่างช่วงการปกครองโดยรัฐบาลทหารของเมียนมากว่า ๕ ทศวรรษ การอพยพออกไปยังมาเลเซียและประเทศไทยของคนนับล้านส่งผลให้บุคคลเหล่าได้รับโอกาสด้านการงานมากกว่าบุคคลที่ยังอาศัยอยู่ในเมียนมา
 
การสร้างงาน
สำหรับประเทศหลักที่ส่งแรงงานข้ามชาติหลักอย่าง เมียนมา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียนั้น ก็ได้รับประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจจากการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานในประเทศเป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นมา เมียนมาได้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นจากการที่แรงงานในประเทศอพยพย้ายถิ่นไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านจึงทำให้เมียนมาให้การสามารถสนับสนุนการสร้างงานด้วยการอพยพในบริเวณรอบนอกประเทศได้ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์กลับเปลี่ยนไปเนื่องจากการปราบปรามในแต่ละประเทศที่มากขึ้น นาย Sean Turnell ผู้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์ให้รัฐบาลเมียนมากล่าวว่า “ปัจจัยที่ดึงให้คนเมียนมาออกนอกเขตแดนเมียนมาได้หายไปแล้ว ตอนนี้ประเทศไทยเป็นที่ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และการปิดพรมแดนก็ดูเหมือนไม่น่าจะส่งผลดี”
 
ส่วนฟิลิปปินส์เองก็ถือเป็นประเทศที่ได้สนับสนุนการอพยพย้ายถิ่นฐานของแรงงานให้ไปเป็นแรงงานในต่างแดน โดยนโยบายดังกล่าวถือเป็นหนทางในการเพิ่มการจ้างงานแก่แรงงานที่ล้นในประเทศและเป็นการเกื้อหนุนเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย จากสถิติของธนาคารโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เผยว่าร้อยละ ๑๐.๒ ของ GDP ฟิลิปปินส์มาจากแรงงานฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานต่างประเทศซึ่งได้ส่งเงินกลับเข้ามาในประเทศ  นอกจากนี้ ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ได้แสดงข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ตัวเลขของการส่งเงินกลับคืนสู่ประเทศนั้นมีมูลค่าเกือบ ๒๗ พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำนวนเงินส่วนใหญ่มาจากชาวฟิลิปปินส์ที่ทำงานนอกพื้นที่ภูมิภาคอาเซียน โดยมีสิงคโปร์เพียงประเทศเดียวที่ติด ๑ ใน ๑๐ ของต้นทางการส่งเงินคืนกลับประเทศ  ดังนั้น ฟิลิปปินส์จึงน่าจะมีความกระตือรือร้นที่จะสรุปข้อตกลงให้ได้ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งจะเป็นจุดสิ้นสุดหน้าที่ในการเป็นประธานการประชุมในกลางเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากความล้มเหลวในการเจรจาข้อตกลงใน code ที่การประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น ฟิลิปปินส์ได้เริ่มคิดถึงการมี code ที่ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายโดยหวังว่าจะทำให้สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะถึงนี้
         
สำหรับอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศและมีเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังต้องการข้อตกลงที่หนักแน่นมากกว่านี้ โดยอยากให้ข้อตกลงนั้นช่วยเหลือชาวอินโดนีเซียกว่า ๑.๒ ล้านคนที่ส่วนมากทำงานอยู่ในมาเลเซียและสิงคโปร์
 
นาง Eva Kusuma Sundari สมาชิกรัฐสภาของอินโดนีเซียได้แถลงในรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า “การที่ขาดการดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนในการปกป้องสิทธิมนุษยชนในบริบทของการอพยพย้ายถิ่นนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา และเป็นการให้อำนาจอิสระแก่นายจ้าง นายหน้าจัดหางานและเจ้าหน้าที่ในการละเมิดแรงงานข้ามชาติ”
 
เรียบเรียงจาก ​http://asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/Prospects-fade-for-ASEAN-migrant-worker-deal

© 2017 Office of the Council of State.