BANNER

ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte กับการดึงประเทศตุรกีเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      03 Jul 2017

  



บทนำ
ในการแถลงข่าวเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา นาย Rodrigo  Duterte แถลงว่าตุรกีและมองโกเลียอยากจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน และในฐานะที่ฟิลิปปินส์เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ Duterte จึงประสงค์จะให้ ๒ ประเทศดังกล่าวเข้าเป็นสมาชิก การที่ Duterte ประกาศเช่นนี้จึงเกิดคำถามขึ้นว่าตุรกีและมองโกเลียสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียนได้หรือไม่ และ Duterte ในฐานะเป็นประธานอาเซียนมีอำนาจในการอนุญาตแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่
 
กลไกการเข้าเป็นสมาชิก
กฎบัตรอาเซียนเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียนที่จะทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล เป็นการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรให้กับอาเซียน โดยนอกจากประมวลสิ่งที่ถือเป็นค่านิยม หลักการ และแนวปฏิบัติในอดีตของอาเซียนมาประกอบกันเป็นข้อปฏิบัติอย่างเป็นทางการของประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีการปรับปรุงแก้ไขและสร้างกลไกใหม่ขึ้น พร้อมกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรที่สำคัญในอาเซียนตลอดจนความสัมพันธ์ในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน โดยประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียนครบทั้ง ๑๐ ประเทศแล้วเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ กฎบัตรอาเซียนจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นไป
 
หมวดที่ ๓ ของกฎบัตรอาเซียนเป็นเรื่องที่ว่าด้วยสมาชิกภาพ รัฐสมาชิก สิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิก และการรับสมาชิกใหม่ โดยข้อ ๖ กล่าวถึงเรื่องการรับสมาชิกใหม่ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
             (๑)   กระบวนการในการสมัครและการรับสมาชิกของอาเซียนให้กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
             (๒)   การรับสมาชิกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
                         (ก)    ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
                         (ข)    การยอมรับโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
                         (ค)    การตกลงที่จะผูกพันและเคารพกฎบัตรนี้ และ
                         (ง)     ความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีของสมาชิกภาพ
             (๓)   การรับสมาชิกให้ตัดสินโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ตามข้อเสนอแนะของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
             (๔)   รัฐผู้สมัครจะได้รับเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อได้ลงนามภาคยานุวัติสารกฎบัตรนี้

 
ตุรกีและมองโกเลียเข้าหลักเกณฑ์ครบถ้วนหรือไม่
กฎเกณฑ์ในการรับเป็นสมาชิกอาเซียนมีทั้งสิ้น ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งประเด็นที่น่าวินิจฉัยคือ ตุรกีและมองโกเลียมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่

                                                                           
 
จากภาพ มองโกเลียอยู่ในพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียแต่ไม่ใช่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในส่วนของตุรกีอาจมีประเด็นว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียหรือยุโรป แต่ที่แน่ชัดคือ ตุรกีไม่มีมีเขตพื้นที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของทั้ง ๒ ประเทศจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การเป็นสมาชิกตามข้อ ๒ (ก) ซึ่งเมื่อที่ตั้งไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ก็คงเป็นการยากที่ประเทศสมาชิกอีก ๙ ประเทศจะยินยอมให้ ๒ ประเทศนี้เข้าสู่การเป็นสมาชิกอาเซียนตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๒ (ข) ซี่งจะต้องให้รัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวงยอมรับด้วย
 
กรณีศึกษา: ประเทศติมอร์-เลสเตกับอาเซียน
ผู้นำของติมอร์-เลสเตมีแผนจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในอนาคตตั้งแต่ติมอร์-เลสเตหรือติมอร์ตะวันออกเดิมได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยสมาชิกอาเซียนได้ให้ติมอร์-เลสเตอยู่ในฐานะเป็นผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่นั้นมา และได้เข้าร่วมการประชุมครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๘
 
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ติมอร์-เลสเตประกาศว่าอยากเป็นสมาชิกอาเซียนให้ได้ภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และได้ยื่นเจตจำนงเพื่อเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ แต่สิงคโปร์และลาวได้คัดค้านว่าติมอร์-เลสเตยังไม่พัฒนาพอที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน ถึงกระนั้นในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นาย Le Luong Minh เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวว่า ประเทศสมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศยินดีให้ติมอร์-เลสเตเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว แต่เลขาธิการฯ ได้เสริมว่าติมอร์-เลสเตยังไม่พร้อมจะเข้าร่วม สมาชิกอาเซียนจึงผลักดันให้ติมอร์-เลสเตพัฒนาให้ถึงเกณฑ์ให้เป็นที่น่าพึงพอใจแก่รัฐสมาชิก
 
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะมนตรีประสานงานอาเซียนยังคงประเมินการเข้าร่วมของติมอร์-เลสเต และนาย Minh ได้กล่าวว่า ยังไม่มีกำหนดว่าการประเมินจะเสร็จสิ้นเมื่อใด และจนถึงปัจจุบันสถานะของติมอร์-เลสเตยังคงเป็นผู้สังเกตการณ์เหมือนเดิม ซึ่งจะต้องรอดูผลในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปีนี้ที่ฟิลิปปินส์ว่าติมอร์-เลสเตจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการหรือไม่
 
จากกรณีศึกษาของติมอร์-เลสเตนั้น แม้จะมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวงได้ยอมรับติมอร์-เลสเตแล้ว แต่ติมอร์-เลสเตก็ได้รอมาแล้วกว่า ๑๒ ปีแล้วยังคงต้องรอผลอีกต่อไปว่าจะสามารถเป็นสมาชิกของอาเซียนประเทศที่ ๑๑ ได้หรือไม่ จึงเห็นได้ว่าการที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด อีกทั้งมองโกเลียและตุรกีไม่ได้มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นการยากที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียนได้
 
การเมืองภายในตุรกีกับการทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ
ตุรกีมีฐานะเป็นสมาชิกขององค์การนาโต้ (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) ซึ่งนาโต้มีวัตถุประสงค์ถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกนาโต้ในกรณีที่ประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงในทางเศรษฐกิจด้วย โดยตุรกีสามารถรับสนองตอบต่อนโยบายความมั่นคงต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับขบวนการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสได้ด้วย

แต่ทั้งนี้การเมืองของตุรกีมีการพลิกผันมากในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้กลุ่มการเมืองและภาคประชาสังคมในตุรกีมีสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล แต่เนื่องจากกลุ่มกูแลนเกิดความขัดแย้งกับประธานาธิบดีตุรกี (Recep Tayyip Erdoğan) จึงต้องหนีออกจากสำนักงานในตุรกีมาจนกระทั่งปัจจุบัน ภาคประชาสังคมโดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกกว่ากลุ่มเคลื่อนไหวกูแลนที่มีเครือข่ายในประเทศอิสลามทั่วโลกในด้านต่าง ๆ โดยกลุ่มกูแลนมีตัวแทนในประเทศสมาชิกอาเซียนโดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ไทยและมาเลเซีย โดยในช่วงที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลตุรกีนั้น กลุ่มกูแลนถือได้ว่าเป็นภาคประชาสังคมของรัฐบาลตุรกี

นอกเหนือจากการเสริมกำลังทางด้านความมั่นคงแล้ว ยังเปิดโอกาสด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ Recep Tayyip Erdoğan ประธานาธิบดีของตุรกีได้เคยเยือนอินโดนีเซียโดยแถลงข่าวว่ามีความประสงค์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียน  โดยกล่าวว่าการที่ตุรกีเข้าเป็นสมาชิกจะทำให้เกิดผลดีแก่ทั้งสองฝ่าย เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก และพวกเราอยากร่วมมือเสริมสร้างเศรษฐกิจด้วย”

ตอนนี้สมาชิกอาเซียนบางประเทศ เช่น มาเลเซียได้ทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) กับตุรกีแล้ว โดยเป็นการลดกำแพงทางการค้าของประเทศลงซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่มาเลเซีย

ในขณะที่บางประเทศในอาเซียนก็กำลังพยายามทำความตกลงการค้าเสรีกับตุรกีเพื่อหวังผลประโยชน์ในแง่เดียวกัน ซึ่งสิงคโปร์ได้ลงนามใน FTA กับตุรกีไว้แล้วแต่ยังไม่ได้มีผลใช้บังคับ[๑] ในขณะที่ตุรกีมีแผนที่จะทำ FTA กับไทย อินโดนีเซียและเวียดนามเช่นกัน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา[๒]

หากตุรกีสามารถทำ FTA กับอาเซียนหรือสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกของอาเซียนได้ จะเป็นประโยชน์ทางการค้าอย่างมากเนื่องจากตุรกีถือเป็นหน้าด่านระหว่าง EU และเอเชีย
 
FTA ไทย-ตุรกี
ปัจจุบันไทยและตุรกียังไม่มี FTA ต่อกัน โดยอยู่ในขั้นตอนเตรียมเปิดการเจรจา ทั้งนี้ไทยและตุรกีได้จัดตั้ง Joint Trade Commission (JTC) ภายใต้ความตกลงทางการค้าไทย-ตุรกี ที่ลงนามตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นเวทีในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนไทย-ตุรกี

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับหากทำ FTA กับไทยคือ ตุรกีมีจุดเด่นที่มีทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่ดี โดยตั้งอยู่ระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และอดีตสหภาพโซเวียต สามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียและยุโรป เป็นประเทศมุสลิมแบบเปิดจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นประเทศมุสลิมด้วยกัน มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่แบบยุโรป ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้ทำให้ไทยสามารถใช้ตุรกีเป็นประตูการค้าเพื่อกระจายสินค้าไปยังทวีปต่าง ๆ นอกจากนี้ ปัจจุบันตุรกีเป็นสหภาพศุลกากรเดียวกับสหภาพยุโรป (EU-Turkey Custom Union) ซึ่งหากไทยจัดทำ FTA กับตุรกี จะทำให้ไทยสามารถนำเข้าสินค้าไปยังตุรกีโดยไม่ต้องเสียภาษี และจะสามารถส่งผ่านสินค้าเข้าไปยังสหภาพยุโรปได้ เพราะปัจจุบันตุรกีก็มีมาตรการทางภาษีที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรมีอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ ๔๑.๗ และยังมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้าไทยหลายรายการด้วย

แม้ขณะนี้ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับตุรกีจะยังไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเตรียมตัวให้พร้อม เพราะถึงแม้ความตกลงทางการค้าจะยังไม่เกิดขึ้น เราก็ยังต้องค้าขายกันอยู่ดี อุปสรรคทางการค้าแม้จะลด แต่หลายกรณีก็พบว่ายังส่งออกไปไม่ได้ เนื่องจากมาตรฐานไม่ผ่านเกณฑ์ และยิ่งตุรกีอิงเกณฑ์สหภาพยุโรป ยิ่งทำให้การส่งสินค้าไปขายเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้นการกลับมามองสินค้าของตัวเอง พัฒนาฝีมือแรงงาน ปรับปรุงคุณภาพสินค้า จึงเป็นงานหลักที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันเพื่อทำให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุด
 
สรุป
ตามที่นาย Rodrigo  Duterte ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ได้แถลงข่าวว่าประสงค์จะดึงตุรกีและมองโกเลียเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกในอาเซียนดูเป็นการยาก เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของ ๒ ประเทศดังกล่าวเนื่องจากตุรกีถือเป็นประเทศที่อยู่กึ่งกลางระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย และมองโกเลียเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างจีนกับรัสเซีย ซึ่งทั้ง ๒ ประเทศมิได้อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้แม้ว่านาย Rodrigo  Duterte ในฐานะประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์จะเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนในปีนี้ก็ตาม มิได้หมายความว่าจะมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินแต่อย่างใด โดยจะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงกฎบัตรอาเซียนข้อ ๖ ด้วย ที่จะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเป็นเอกฉันท์จากรัฐสมาชิกอีก ๙ ประเทศที่เหลือ จึงเป็นการยากที่จะสามารถดึง ๒ ประเทศนี้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในอาเซียนได้
 

[๑] สืบค้นข้อมูลจาก https://www.iesingapore.gov.sg/Trade-From-Singapore/International-Agreements/free-trade-agreements/Singapore-FTA
[๒] สืบค้นข้อมูลจาก https://www.export.gov/article?id=Turkey-Trade-Agreements

© 2016 Office of the Council of State.