นาย Le Luong Minh เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวกับ Nikkei Asian Review เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ ว่าในการเจรจาตกลงกับปักกิ่ง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กำหนดเป้าหมายที่จะกำหนดระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct – COC) ที่มีผลผูกพันตามกฎหมายในกรณีพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้
ทูตอาวุโสของฝ่ายอาเซียนและฝ่ายจีนได้ตกลงร่างกรอบการใช้ระเบียบปฏิบัติดังกล่าวในการประชุมที่เมืองกุ้ยหยางเมื่อเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นาย Le Luong Minh ได้กล่าวว่า กรอบของระเบียบปฏิบัติที่กำหนดแนวทางพื้นฐานในการกำหนดกฎต่าง ๆ นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีและผู้นำของภาคีก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยต่อไป โดยการประชุมสุดยอดอาเซียนนั้นมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
นาย Le Luong Minh ได้กล่าวภายหลังจากการอภิปรายในวันแรกของการประชุม International Conference on the Future of Asia ครั้งที่ ๒๓ ว่า “การที่ระเบียบปฏิบัติจะมีศักยภาพเพียงพอทั้งในการป้องกันและการจัดการเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่การริเริ่มปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea – DOC) นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเห็นว่าระเบียบปฏิบัติดังกล่าวจะต้องเป็นเครื่องมือที่ผลผูกพันตามกฎหมาย”
ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ หรือ DOC เป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนได้ลงนามร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕
ปักกิ่งได้อ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดซึ่งรวมถึงพื้นที่ของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้อ้างเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน
ภายใต้ปฏิญญา DOC ประเทศภาคีของ DOC ได้ตกลงงดเว้นการกระทำที่อาจทำให้เหตุการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวซับซ้อนขึ้น จัดการระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธี รวมทั้งจัดทำระเบียบปฏิบัติ และมาตรการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ประเทศภาคีบางฝ่ายยังคงมีการดำเนินการในการเอาพื้นที่คืน ซึ่งได้แก่ การเคลื่อนไหวของจีนในการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะใต้น้ำ 7 แห่งเพื่อเป็นเกาะเทียมซึ่งมีอุปกรณ์ทางทหาร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีรายงานเรื่องการปะทะกำลังของจีนและเวียดนามบริเวณหมู่เกาะ Paracel และการเผชิญหน้าระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ใกล้หมู่เกาะปะการัง Scarborough
นาย Le Luong Minh กล่าวว่า อาเซียนต้องการได้ผลสรุปโดยเร็วสำหรับระเบียบปฏิบัตินี้ อย่างไรก็ตาม จีนยังไม่มีท่าทีอย่างเปิดเผยในการสนับสนุนความคิดให้ระเบียบมีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การมีระเบียบ COC นั้นอาจมีความล่าช้าออกไป
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ยกย่องให้ร่างกรอบระเบียบปฏิบัตินี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยนาย Enrique Manalo รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ได้กล่าวในงานอภิปรายเดียวกับนาย Le Luong Minh ว่า “โอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะมีระเบียบปฏิบัติดังกล่าว”
นาย Rodrigo Duterte ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์และเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ได้ชะลอเรื่องข้อพิพาทในเขตแดนกับจีนไว้ก่อนเพื่อบรรลุข้อตกลงด้านเศรษฐกิจที่มีมูลค่านับพันล้าน โดย Manalo กล่าวว่า “ความไว้เนื้อเชื่อใจได้จะช่วยเรื่องการเจรจากรอบการใช้กฎหมายของระเบียบดังกล่าว”