BANNER

การจ่ายเงินผ่านมือถือกำลังได้รับความนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 ข่าวต่างประเทศ      01 Jun 2017

  




 
แม้ว่าการใช้จ่ายเงินสดจะเป็นวิธีการหลักในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากภูมิภาคนี้เริ่มจะให้ความสำคัญกับ “สังคมไร้เงินสด” หรือ “cashless society” มากยิ่งขึ้นโดยใช้วิธีการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟน

หนึ่งในบริษัทผู้นำที่เข้าสู่ตลาดไร้เงินสด ได้แก่ บัตรโดยสารแรบบิทของประเทศไทย ที่มีผู้ใช้บริการภายในประเทศกว่า ๗ ล้านคน โดยระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือบีทีเอส (BTS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบรางของกรุงเทพฯ จะเริ่มใช้บัตรแรบบิทในรูปแบบของสมาร์ทโฟนเพื่อเป็นบัตรโดยสารอย่างเร็วภายในปีนี้

บีทีเอสร่วมมือกับหน่วยงาน Line ประจำประเทศไทยซึ่งเป็นระบบการส่งข้อความของญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันในนาม Rabbit Line Pay โดยขณะนี้ร้านค้าบางแห่งมีความพร้อมในการใช้ระบบ Rabbit Line Pay แทนการใช้จ่ายด้วยเงินสดแล้ว ทั้งสองบริษัทฯ คาดหวังที่จะขยายเครือข่ายออกไปถึงร้านค้าปลีกอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายที่จะให้เป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับประเทศไทย

ระบบการชำระเงินผ่านมือถืออื่น ๆ ก็ได้รับการพัฒนาด้วยเช่นกัน เช่น ธนาคารกสิกรไทยซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศไทยได้มีการพัฒนาระบบการใช้งานที่ชื่อว่า K-Pay ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบระบบเชื่อมกับร้านค้าและร้านอาหารหลายแห่ง

ในประเทศสิงคโปร์ บริษัท Oversea-Chinese Banking (OCBC) ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันชำระเงินผ่านมือถือซึ่งสามารถใช้ได้มากกว่า ๑,๐๐๐ ร้านค้า ซึ่งรวมไปถึงห้างสรรพสินค้าในเครือโรบินสันและร้านค้าแฟชั่นซาร่าอีกด้วย โดยลูกค้าสามารถชำระราคาสินค้าได้โดยตรงจากบัญชี OCBC ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อสแกนรหัส QR code ที่จุดชำระเงิน

ในขณะที่การใช้จ่ายเงินที่เรียกว่า Liquid Pay ในสิงคโปร์เติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถใช้งานได้แล้วในร้านค้ากว่า ๑๐๐ แห่ง โดยมีแผนที่จะเพิ่มตัวเลขให้ได้ถึง ๒๕,๐๐๐ ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้

การชำระเงินผ่านมือถือในประเทศอินโดนีเซียกำลังเพิ่มอัตราสูงขึ้นอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาบริษัท Go-Jek ได้เปิดตัวบริการ Go-Pay ซึ่งมีลักษณะเป็นกระเป๋าเงินเสมือนจริงที่ได้กำจัดการชำระเงินด้วยเงินสดถึงร้อยละ ๕๐ แล้วนับตั้งแต่เปิดตัว บริษัทฯ ทยอยเปิดตัวบริการต่าง ๆ ที่สามารถใช้ Go-Pay ได้อีกด้วย เช่น บริการส่งอาหารหรือบริการซื้อสินค้า

บริษัท Grab ซึ่งมีฐานอยู่สิงคโปร์กำลังเข้าสู่ตลาดการชำระเงินผ่านมือถือในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ประกาศแผนการจะซื้อบริษัทสตาร์ทอัพของประเทศอินโดนีเซียอย่าง Kudo ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการชำระเงินจากออนไลน์สู่ออฟไลน์ผ่านเครือข่ายตัวแทนกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คน ในเขตเมือง ๕๐๐ แห่ง ซึ่งรวมไปถึงเขตชนบทด้วย ผู้ใช้บริการจะติดต่อตัวแทนเพื่อชำระเงินด้วยเงินสดสำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ การประกันภัยหรือบริการด้านอื่น ๆ

บริษัท Grab มีความต้องการที่จะรวมบริการของ Kudo เข้ากับ GrabPay ซึ่งเป็นการให้บริการผ่านมือถือของบริษัทฯ เอง การนำเสนอของ Kudo ในเขตชนบทของประเทศอินโดนีเซียนั้นจะทำให้ GrabPay สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ประชากรที่มีรายได้น้อย และชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ นาย Jason Thompson หัวหน้าของ GrabPay ได้ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asian Review ไว้ว่า “พวกเรากำลังเจาะจงเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจของประชากรชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต”

ความต้องการที่ยังเอื้อมไม่ถึง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับว่าเป็นภูมิภาคที่มีความเป็นเลิศทางด้านระบบการชำระเงินผ่านมือถือ Euromonitor บริษัทวิจัยของสหราชอารณาจักรได้เปิดเผยว่า โดยเฉลี่ยประชากรร้อยละ ๕๐ ใน ๖ ประเทศหลัก ๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งตัวเลขนั้นคาดว่าจะสูงถึงร้อยละ ๗๐ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่ร้อยละ ๘๐

ระบบการชำระเงินผ่านมือถือสามารถเก็บสะสมเครดิตได้อีกด้วย หมายความว่า ผู้ใช้บริการสามารถใช้กระเป๋าเงินดิจิตอลได้แม้ว่าจะอยู่ในเขตชนบทที่ไม่มีธนาคาร แต่ถ้ามีร้านค้าที่มีเครือข่ายการชำระเงินด้วยมือถือก็สามารถซื้อสินค้าได้

การชำระเงินในรูปแบบนี้เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชากรที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคาร จากสถิติของธนาคารโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ประชากรอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เพียงร้อยละ ๓๐ เท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร ในขณะที่มีประชากรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นอกเขตประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีบัตรเครดิต การที่ประชากรส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในปัจจุบันได้ ทำให้การชำระเงินผ่านมือถือมีแนวโน้มที่ดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Accenture บริษัทวิจัยด้านการตลาดเปิดเผยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรประมาณ ๖๐๐ ล้านคน ซึ่งคาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะเพิ่มเป็นทวีคูณถึง ๒.๓ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และ บริษัท Euromonitor ซึ่งเป็นบริษัทระหว่างประเทศสำหรับศึกษาวิจัยด้านตลาดผู้บริโภค ได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ จะมีการชำระเงินผ่านมือถือมูลค่าสูงถึง ๓๒ พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตรา ๑๐ เท่าของตัวเลขในปี พ.ศ. ๒๕๕๖

นักลงทุนต่างชาติกำลังจับตามองการพัฒนาในด้านนี้ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Soft Space บริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (Fintech) สัญชาติมาเลเซีย ได้รับเงินบริจาค ๕ ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากบริษัทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อว่า Transcosmos โดยระบบ Mobile-Point-of-Sale ของ Soft Space ได้ถูกใช้ในการซื้อสินค้าปลอดภาษีในเที่ยวบินของ AirAsia และทาง บริษัทฯ กำลังเปิดตัวระบบที่คล้ายกันสำหรับบริษัท Yamato Holdings ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งโลจิสติกสัญชาติญี่ปุ่นในประเทศมาเลเซีย

พนักงานขับรถของ Yamato ในมาเลเซียมีเครื่องอ่านบัตรที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เมื่อให้บริการลูกค้าที่ชำระเงินปลายทาง พนักงานจะกรอกจำนวนเงินที่ต้องชำระลงในสมาร์ทโฟน แล้วใช้เครื่องอ่านบัตรในการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต

แม้แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาอื่น ๆ ก็เข้าสู่ตลาดที่มีการชำระเงินผ่านมือถือแล้ว เช่น Momo ของเวียดนามและ OK Dollar ของเมียนมา แต่เดิมได้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือประชากรในการโอนเงินไปยังเขตชนบทแต่ในปัจจุบันสามารถใช้ได้ในร้านค้าปลีก ร้านอาหาร สถานที่จำหน่ายตั๋วเครื่องบิน และสถานที่อื่น ๆ ด้วย

การแก้ปัญหาด้วยการชำระเงินผ่านมือถือนี้กำลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ bottom-up ในแถบเอเชีย ซึ่งหมายถึง ประชาชนเป็นผู้ร่วมกำหนดทิศทางของนโยบายและกระบวนการในการพัฒนาโดยตรง ทั้งนี้ ในที่สุดการชำระเงินผ่านมือถืออาจทำให้การชำระเงินด้วยเงินสดกลายเป็นอดีตไป

© 2017 Office of the Council of State.