BANNER

การประชุมสุดยอมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 30 และประเด็นทะเลจีนใต้


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      27 May 2017

  


บทนำ  
การประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 30 จะจัดขึ้นภายในปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็น
วาระเดียวกันกับการครอบรอบ 50 ปีอาเซียน และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาเซียนต้องเผชิญหน้ากับปัญหา
ที่น่ากังวลใจอย่างประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นการแสดงสัญญาณด้านลบทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์
และทางทะเล  อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี และความลำบากใจ
ในการเลือกข้าง ส่งผลให้ประเด็นนี้ซาลงไปบ้างในระยะที่ผ่านมา
ความตึงเครียดระหว่างจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน
ภายใต้การก่อตัวเป็นพันธมิตรกับจีน ฟิลิปปินส์รับหน้าที่ดูแลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ เกาะ Boracay ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ที่มีชื่อเสียงของฟิลิปปินส์ ตั้งอยู่ใจกลางจังหวัด Aklan ซึ่งห่างจากมะนิลา 300 กิโลเมตร โดยในการประชุมดังกล่าวมุ่งเน้นประเด็นที่นอกเหนือจากประเด็นทะเลจีนใต้ โดยเน้นการหารือใน 6 ประเด็นหลัก คือ
1. การมุ่งที่ความสำเร็จที่ประชาชนอาเซียนและการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
2. สันติภาพและความมั่นคง
3. ความปลอดภัยและความร่วมมือทางทะเล
4. การพัฒนาอย่างเท่าเทียมและมีนวัตกรรม
5. อาเซียนที่มีความยืดหยุ่น
6. อาเซียนในฐานะต้นแบบของภูมิภาคนิยม
วัตถุประสงค์ของการประชุมใน 6 ประเด็นนี้ คือ เป็นการมุ่งเน้นความสำคัญของการครบรอบ 50 ปีอาเซียน  อย่างไรก็ตาม อาเซียนนั้นไม่อาจหลบหลีกประเด็นทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงในขณะนี้ไปได้ สังเกตได้จากถ้อยแถลงการณ์ของรัฐมนตรีรกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ค่อนข้างกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณทะเลจีนใต้ ที่อาจก่อให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาคได้ จึงมีความจำเป็นต้องถ่วงดุลเพื่อลดแรงตึงเครียดนี้"
แม้เห็นได้ชัดเจนว่าการเจรจาจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ได้ดีที่สุด แต่ก็ยังมีประเด็นว่าตัวแปรอะไรที่จะเข้ามามีบทบาทกับการเจรจาดังกล่าว และจีนจะยอมรับตัวแปรที่ตนไม่ได้เป็นคนกำหนดหรือไม่ อีกทั้งจีนยังประกาศกร้าวว่าผลประโยชน์จากสิ่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลจีนใต้ทั้งหมดนั้นเป็นของจีนแต่เพียงผู้เดียว อาจจะส่งผลให้การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จได้
แถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรล่าสุดจากจีนได้แสดงให้เห็นถึงท่าทีที่แข็งกร้าวในประเด็นทะเลจีนใต้
โดยจีนได้อ้างถึงอธิปไตยและสิทธิทางทะเลเหนือพื้นที่พิพาท โดยประกาศให้ทุกฝ่ายละเลิกความพยายาม
ที่จะทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศเสีย โดยในแถลงการณ์ไม่ได้กล่าวถึง
ประเด็นแผนที่จุดประเก้าเส้นแต่อย่างใด มีเพียงแต่เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะ Nansha
และน่านน้ำประชิดติดกันเท่านั้น อีกทั้งจีนยังสร้างเกาะเทียม ตั้งกองกำลังทหาร เพื่อเป็นการแผ่ขยายอำนาจในพื้นที่ ทำให้ “คำกล่าวอ้าง” กลายเป็น “ข้อเท็จจริง” ขึ้นมา  นอกจากนี้ จีนยังกลับคำโดยปฏิเสธฟิลิปปินส์
อย่างไม่ใยดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี Duterte กล่าวเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถึงความมุ่งหมาย
ที่จะชักธงฟิลิปปินส์ขึ้นเหนือเกาะ Thitu ในหมู่เกาะ Spratly รวมถึงการตั้งฐานที่มั่นทางทหารอีกด้วย
แต่ฟิลิปปินส์ก็ต้องกลืนน้ำลายตัวเองเมื่อเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากจีน และล้มเลิกแผนการดังกล่าวเสีย
สำหรับท่าทีของฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของ Duterte นั้น ได้เปลี่ยนแปลงท่าทีที่เคยมีกับจีน
โดยสิ้นเชิง และหันไปโทษอเมริกาว่าเป็นต้นเหตุของความตึงเครียดทางทะเลในบริเวณพิพาท เนื่องจากไม่พยายามหยุดยั้งจีน เมื่อตอนที่จีนเริ่มสร้างเกาะเทียมและขนกำลังทหารเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์
จีนเองพยายามที่จะเป็นแกนนำในการเจรจาใด ๆ ที่อาจสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามในประเด็นทะเลจีนใต้ โดยพยายามใช้การทูตเชิงรุกเพื่อผลักดันความร่วมมือชายฝั่งทะเลรูปแบบใหม่ขึ้น ซึ่งจะมีฐานที่ตั้ง
ณ Boao บนเกาะ Hinan เพื่อหารือประเด็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้ ในการนี้เอง Daljit Singh ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์ได้ให้ความเห็นว่า "ระบบนี้จะอยู่นอกเหนือจากแผนการ
ด้านความมั่นคงของอาเซียน และจะอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนโดยสมบูรณ์" เป็นที่ทราบกันดีว่าความตกลงใด ๆ ที่จีนเป็นคนริเริ่มนั้น จะขาดความเป็นกลาง หรือความยุติธรรม โดยเฉพาะในประเด็นทะเลจีนใต้ ดังที่เห็นก่อนหน้านี้ ที่จีนได้ปฏิเสธคำพิพากษาของศาลโลก และละเมิดธรรมเนียมปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศไปทั้งสิ้น
สำหรับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่อาจต่อกรกับจีนในประเด็นทะเลจีนใต้ได้ ก็ทำเพียงแต่ยืนยันสิทธิในการเดินเรือผ่านน่านน้ำของตนเท่านั้น และท้าทายจีนเป็นครั้งคราวโดยการส่งกองกำลังทหาร
ไปใกล้กับเกาะเทียมของจีน การนี้เอง นาย Rex Tillerson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ
ได้กล่าวเตือนประเทศจีนระหว่างการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งว่าอย่าสะสมกำลังทางทหารในเขตทะเลจีนใต้ และจะปิดกั้นไม่ให้จึงเข้าถึงพื้นที่พิพาทอีกด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปท่าทีของสหรัฐฯ ก็อ่อนลงเนื่องจากถูกกดดันจากการทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และต้องการให้จีนช่วยกดดันเกาหลีเหนือทางหนึ่ง
เพื่อให้ล้มเลิกโครงการทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดเสีย ประเด็นนี้จึงลดความตึงเครียดและได้รับ
ความสนใจน้อยลงเนื่องจากเหตุการณ์ทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าว ข้อเรียกร้องจึงเหลือเพียงสิทธิเดินเรือผ่านเท่านั้น
ระหว่างการแสดงแสนยานุภาพของจีน และความคาดเดาไม่ได้ว่าสหรัฐจะโต้กลับอย่างไร สังเกต
ได้จากแถลงการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของประธานาธิบดี Trump ความร่วมมือ
ทางยุทธศาสตร์ระหว่างภูมิภาคดูจะเป็นการพูดให้พ้นตัวไปอย่างนั้นเอง ซึ่งความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศ
ที่มีอำนาจกลาง ไม่ว่าจะในรูปแบบทวิภาคีหรือพหุภาคีก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมต่อเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยในภูมิภาค ซึ่งเป็นสิ่งที่อดีตประธานาธิบดี Obama เคยริเริ่มไว้ การที่ญี่ปุ่นผนึกกำลังกับเวียดนามและประเทศอื่นในภูมิภาคที่มีความเห็นตรงกัน เช่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินเดีย
อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายดังที่ว่ามา  นอกจากนั้น อินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซียต่างพัฒนาเครือข่ายความปลอดภัยระหว่างกัน ความร่วมมือระหว่างอินเดียกับเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย แสดงให้เห็นถึงกระแสใหม่ของการรวมพลัง
เข้าเป็นหนึ่ง การเข้าร่วมเป็นเครือข่ายของประเทศที่มีความคิดเห็นตรงกันในประเด็นความร่วมมือ
ทางยุทธศาสตร์โดยไม่แยแสจีนหรือสหรัฐฯนี้ ส่งผลให้อินโดนีเซียและมาเลเซียยอมรับอินเดียเข้ามาเป็นมิตร
ในการลาดตระเวนหมู่เกาะมาเก๊า และบริเวณปากอ่าวทะเลจีนใต้อีกด้วย

ท่าทีของอาเซียนในฐานะองค์การระหว่างประเทศ
ในปี 1992 หนึ่งปีภายหลังอาเซียนได้รับจีนเข้าเป็นประเทศคู่เจรจา ประเทศอื่นที่มิใช่สมาชิก
ต่างยืนยันว่าประเด็นทะเลจีนใต้นั้นเป็นประเด็นที่น่ากังวลสำหรับทุกฝ่าย อาเซียนจึงได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับจุดยืนของตนต่อประเด็นทะเลจีนใต้ เพื่อควบคุมและสร้างบรรยากาศที่ดี หลังจากนั้น 10 ปี
ในปี ค.ศ. 2002 จีนได้ลงนามในร่างปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (2002 declaration on the conduct of parties in the south china sea) ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ซึ่งปฏิญญานี้ครอบคลุมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศที่มีปัญหาพิพาทกันอยู่เท่านั้น
หลังจากนั้นอาเซียนและจีนต่างร่วมมือกันร่างปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้
ให้แล้วเสร็จ แม้ว่าท้ายที่สุดปฏิญญาดังกล่าวกลับเหมือนเป็นเพียงภาพลวงตา เนื่องจากถึงแม้ว่าจีน
จะดูสนับสนุนปฏิญญาดังกล่าว และอาเซียนก็พยายามจะทำให้ปฏิญญานี้มีน้ำหนักทั้งทางการเมือง
และทางกฎหมายเพื่อทำให้เป็นกลไกทางกฎหมายที่ชัดเจน แต่กลับไม่มีผลงานจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน
แม้ว่าจะผ่านมากกว่า 15 ปีแล้วก็ตาม ในประเด็นนี้จีนเห็นว่าปัญหาทะเลจีนใต้นั้นเป็นปัญหาระหว่าง
สองประเทศ และไม่ต้องการให้อาเซียนในฐานะองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาวุ่นวาย แต่เมื่อปฏิญญา
นั้นมีรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามอยู่ครบทุกประเทศแล้ว จึงเป็นไปได้ยาก
ที่จะไม่เกี่ยวข้องกัน และแม้แต่ในปัจจุบันหลังจาก 24 ปีผ่านไป อาเซียนก็ยังคงนิ่งเฉยกับประเด็นดังกล่าว
จีนเองก็ทราบดีว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องได้รับการตกลงเป็นเอกฉันท์ก่อนที่จะยุ่งเกี่ยว
กับกรณีพิพาท และจีนเองก็มีประเทศสมาชิกบางประเทศอยู่ในกำมือซึ่งพร้อมหนุนหลังตนและแบ่งอาเซียนออกเป็นสองฝ่ายเสมอ แม้ว่าในปีนี้ฟิลิปปินส์ประกาศว่าจะพยายามทำแผนการทำงานให้แล้วเสร็จ
ภายในเดือนกันยายน แต่คงเป็นไปได้ยากหากพิจารณาท่าทีของจีนในขณะนี้ประกอบกัน
ข้อพิพาทเหนือพื้นที่เกาะ Spratly และ Paracel นั้น มีประเทศสมาชิกหลายประเทศเป็นคู่กรณี
คือ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ในส่วนอินโดนีเซียและสิงคโปร์ซึ่งก่อนหน้านี้อย่างเป็นกลาง
กับกรณีพิพาทได้เปลี่ยนแปลงท่าทีเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และต้องการให้อาเซียนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
เนื่องจากรู้ดีว่าหากต่อกรกับจีนโดยลำพังคงไม่มีวันสำเร็จ
จีนยังคงยืนยันว่าจะหารือในรูปแบบทวิภาคีกับคู่กรณีเป็นรายไปโดยมีข้อแม้ว่า จะรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของอาเซียนเท่านั้น ซึ่งการสร้างทางออกอย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน และสงบสุขในภูมิภาคจำเป็นต้องได้รับ
ความร่วมมือจากทุกประเทศ ที่จะยึดโยงจุดยืนของตนต่อการกดดันอย่างไม่เหมาะสมของจีน
นี่อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้งอาเซียนมา ซึ่งอนาคตของอาเซียนนั้นจะเป็นประชาคม
ที่มีความเป็นหนึ่งเดียว มีพลวัต และประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทิศทางของประเทศสมาชิกทั้งหมดนั่นเอง
ผลกระทบต่อประเทศไทย
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งในกรณีทะเลจีนใต้ แต่ประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน  ดังนั้น การกระทบกระทั่งกันระหว่างสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นต่อประเทศคู่เจรจา จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย เนื่องจากประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนมาเป็นเวลายาวนาน ผ่านการเยือนของผู้นำและการให้การสนับสนุนในโครงการต่าง ๆ ทั้งกรอบทวิภาคี พหุภาคี และเวทีภูมิภาค เช่น ASEAN-China Annual Consultation, ASEAN+3, ARF, ASEM เป็นต้น  ดังนั้น หากจีนตัดสินใจละทิ้งการหาทางออกร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนไปเสีย ไทยย่อมเสียผลประโยชน์อย่างแน่นอน
ไทยเองในฐานะหนึ่งในสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องพิจารณาสถานการณ์ให้รอบคอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และผลักดันให้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้มีผลใช้จริง ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใหญ่อย่างจีนไว้ด้วย

© 2017 Office of the Council of State.