BANNER

ใกล้ความจริงไปอีกก้าว : เวียดนามและเมียนมาให้สัตยาบันอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์


 ข่าวต่างประเทศ      20 Jan 2017

  


จาการ์ตา 20 มกราคม 60 – ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีที่ดีของอาเซียนสำหรับความมุ่งมั่นในการต่อต้านการค้ามนุษย์ เมื่อมีประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์เพิ่มอีกสองประเทศ
เวียดนามและเมียนมาได้มอบสัตยาบันสารอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children หรือ ACTIP) ให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียนในวันที่ 5 และ 16 มกราคม 2560 ตามลำดับ นับว่าเป็นประเทศลำดับที่สี่และห้าในของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว
ทั้งนี้  อนุสัญญาฯนี้จะมีผลบังคับใช้ใน 30 วันหลังจากประเทศลำดับที่หกในประเทศสมาชิกอาเซียนส่งมอบสัตยาบันสารแล้วเสร็จ
นอกจากนี้  เมื่ออนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ฯ มีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีการนำไปปฏิบัติร่วมกับแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Plan of Action Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children หรือ APA) เนื่องจากการค้ามนุษย์จำต้องมีการบูรณาการในหลายสาขา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละสาขาจึงกำลังหารือกันถึงมาตราที่จะใช้ในการประสานงานกันระหว่างสาขาในการที่จะปฏิบัติตาม ACTIP และ APA ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค
ข้อมูลเพิ่มเติม
1.      อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children หรือ ACTIP) ได้รับการลงนามโดยประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 โดยในขณะนี้ยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากข้อบทของ ACTIP ข้อ 29 กำหนดให้ ACTIP จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 นับจากวันที่เลขาธิการอาเซียนได้รับมอบสัตยาบันสารหรือความเห็นชอบลำดับที่ 6 จากบรรดาภาคีที่ได้มอบสัตยาบันสารหรือความเห็นชอบแล้ว ซึ่งในขณะนี้มีประเทศภาคีที่ได้ดำเนินการมอบสัตยาบันสารหรือความเห็นชอบแล้วจำนวน 5 ประเทศ โดยประเทศไทยได้มอบสัตยาบันสารเป็นลำดับที่ 3 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2559
ACTIP มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
(1)    เพื่อป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก และให้มีการลงงโทษผู้ค้าอย่างยุติธรรมและเหมาะสม
(2)    เพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้วยการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหาย
(3)    เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบรรดาภาคีให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว
โดย ACTIP กำหนดให้ประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินมาตรการทางกฎหมายและมาตรการอื่นตามที่จำเป็น เพื่อกำหนดให้การกระทำอันเกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ การเข้ามีส่วนร่วมในกลุ่มอาชญากรที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร การฟอกทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำอาชญากรรม การฉ้อราษฎร์บังหลวง และการขัดขวางความยุติธรรมเป็นความผิดอาญา เมื่อกระทำโดยเจตนา
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดเกี่ยวกับการป้องกันและต่อต้านการค้ามนุษย์ การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิเช่น ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องอาญา และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น
กฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง
§  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
§  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2558
§  ประมวลกฎหมายอาญา
§  มาตรการทางบริหาร ได้แก่ “แนวทางการปฏิบัติในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ กรณีเป็นการกระทำความผิดต่อบุคคลที่ไม่มีความสามารถในการดูแล และป้องกันตัวเองเนื่องจากความทุพพลภาพทางร่างกาย หรือสภาพจิตใจ หรือทำให้ผู้เสียหายต้องติดโรคร้ายแรง เช่น HIV/AIDS” ของสำนักงานอัยการสูงสุด
2.  แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ASEAN Plan of Action Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children หรือ APA) มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการเป็นการเฉพาะตามบริบทของกฎหมายภายในและนโยบาย รวมทั้งพันะกรณีระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดกรกับความท้าทายในเรื่อง (1) การป้องกันการค้ามนุษย์ (2) การคุ้มครองผู้เสียหาย (3) การบังคับใช้กฎหมายและการฟ้องร้องดำเนินคดีค้ามนุษย์ และ (4) ความร่วมมือและการประสานงานในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
 
“เรียบเรียงจากบทความ A Step Closer for Entry into Force of the ASEAN Convention Against Trafficking in Persons โดย ASEAN.org”
และ ASEAN Convention Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children และ ASEAN Plan of Action Against Trafficking in Persons, Especially Women and Children

© 2017 Office of the Council of State.