BANNER

การเปลี่ยนผ่านผู้นำในอาเซียนและผลกระทบต่อประเทศไทย


 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน      08 Feb 2017

  


การเปลี่ยนผ่านผู้นำในอาเซียนและผลกระทบต่อประเทศไทย
          ด้วยความที่ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศต่างดูเหมือนจะประสบภาวะเศรษฐกิจติดหล่มและยังหาทางออกไม่ได้ อีกทั้งปัญหาที่สมาชิกกำลังประสบอยู่ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชั่น ความรุนแรง และข้อพิพาททางทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับประเทศจีน จึงอาจพูดได้ว่าสถานการณ์ของอาเซียนในอดีตนั้นเคยสดใสกว่านี้มาก
          แต่เรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดก็ได้เกิดขึ้นทางตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อประเทศที่เคยถูกปกครองโดยทหารมานานนับสิบปีอย่างเมียนมาได้มีการเลือกตั้งครั้งแรก และก็ไม่ผิดไปจากที่คาด เมื่อมีการประกาศผลออกมาว่านางอองซาน ซู จี ได้รับผลคะแนนนำอย่างเห็นได้ชัด นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีกับการเปลี่ยนผ่านผู้นำของเมียนมาในครั้งนี้  โดยเฉพาะเมื่อในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น สปป.ลาว ได้มีการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ คือนายบุนยัง วอละจิด และในขณะเดียวกัน ประเทศเวียดนามก็มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ นายเหงียน ซวน ฟุก เหตุการณ์เหล่านี้จึงอาจเป็นการพลิกโฉมหน้าผู้นำครั้งใหญ่ของอาเซียนก็เป็นได้
ความสำคัญของการรวมกลุ่มประเทศ CLMV
          การรวมตัวกันของ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ในฐานะ CLMV ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่องและยังมีแร่ธาตุทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross domestic product - GDP) รวมกันแล้วอยู่ที่ ๒๒๔ ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังมีค่าจ้างแรงงานไม่สูงนัก กลุ่มประเทศ CLMV จึงเป็นประเทศที่มีคนสนใจเข้าไปลงทุนการผลิตและการตลาด แม้ว่าบางครั้งอาจถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ไม่ดีนักกับอาเซียนก็ตาม
          ทั้งสี่ประเทศล้วนเข้าเป็นสมาชิก ASEAN ในลำดับท้าย ระหว่างปี ๑๙๙๐ ซึ่งในขณะนั้นสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา กำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เนื่องจากการปกครองในระบอบเผด็จการทหารของเมียนมาก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ประเทศตะวันตกซึ่งให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนไม่ค่อยเห็นด้วยที่อาเซียนรับเมียนมาเป็นสมาชิก โดยเฉพาะสหภาพพยุโรปที่ต่อต้านการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของเมียนมา มีผลทำให้ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและยุโรปต้องหยุดชะงักไปพอสมควร นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ และการนับถือศาสนา เนื่องจากประเทศในอาเซียนจะมีทั้งประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลามปะปนกันไป
เมื่อแรกเริ่มที่ CLMV ได้เข้ามาเป็นสมาชิก ในช่วงต้น ๑๙๙๐ เป็นช่วงเวลาพอดีกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของอาเซียนกำลังเฟื่องฟู แต่ก็ยังพบว่าการพัฒนายังไม่เท่าเทียมกันอยู่บ้าง เมื่อ CLMV ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาค่อนข้างล่าช้าได้เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน ก็จะยิ่งตอกย้ำความแตกต่าง จึงเป็นการยากที่จะหลอมรวมเศรษฐกิจภายในอาเซียนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอันเป็นเป้าหมายในอนาคตของอาเซียน มีหลายฝ่ายวิตกกังวลว่าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมากนี้จะทำให้การหลอมรวมเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนไม่ประสบความสำเร็จ
ความต้องการเหล่านี้ผลักดันให้กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และ สปป.ลาว ต้องหันไปพึ่งพาประเทศจีนซึ่งกำลังต้องการขยายเขตอำนาจของตน โดยจีนพร้อมสนับสนุนเงินทุนโดยไม่เรียกร้องข้อตอบแทนใด ๆ ซึ่งต่างจากสหภาพยุโรป เนื่องจากข้อเสนอการช่วยเหลือด้านการเงินของยุโรปนั้นมักจะรวมไปถึงข้อผูกมัดที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเสมอ
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อแต่ประเทศได้ผู้นำคนใหม่ได้เข้ามารับตำแหน่ง ความสัมพันธ์ระหว่าง CLMV และจีนได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี สังเกตได้จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ผ่านมา ณ กรุงเวียงจันทน์
สถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทย
ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการยึดอำนาจการปกครองโดยการรัฐประหาร มีการออกประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. (National Council for Peace and Order (NCPO)) ซึ่งเป้าหมายของ คสช. นั้นคือการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่สะสมมายาวนาน จึงจำเป็นต้องแบ่งการปฎิรูปออกเป็นสามระยะ คือ
ระยะที่๑ มีวัตถุประสงค์เพื่อสลายการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน มุ่งเน้นการสมานฉันท์ โดยการจัดตั้งศูนย์การปรองดองสมานฉันท์ขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาในช่วงดังกล่าวประมาณ ๓ เดือน เพื่อเป็นการปูกำหนดแนวทางไปสู่การปฏิรูประยะที่ ๒ ต่อไป
ระยะที่ ๒ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เนื่องจากจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้นจึงดำเนินกระบวนการทางนิติบัญญัติต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การจัดตั้งสภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป คาดการณ์ว่าจะใช้ระยะเวลาโดยประมาณ ๑ ปี          
ระยะที่ ๓ เมื่อการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้นสำเร็จลง จึงจะมุ่งเน้นการปลูกฝังจากรากฐานของสังคม เช่นสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ประชาชนทุกคน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างยั่งยืน
สรุป
สถานการณ์ในปัจจุบันของอาเซียนนั้นอาจกล่าวในว่า มีการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจเป็นที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น โดยเป็นรองแต่เพียงจีนและอินเดียเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาด้านสังคมและวัฒนธรรมแล้ว หลายประเทศสมาชิกอาเซียนยังประสบปัญหาเกี่ยวกับประเด็นการจัดการด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นประเทศฟิลิปปินส์ที่เป็นเป้าโจมตีด้านการทลายกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ประเทศไทยในแง่การกีดกันการแสดงออกทางการเมือง ประเทศเมียนมาในประเด็นผู้อพยพชาวโรฮินจา ฯลฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว การพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องประกอบด้วยการพัฒนาที่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม  ดังนั้น หากประเทศสมาชิกอาเซียนยังไม่สามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนได้ ก็อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากประชาคมโลกได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทั้งสองสาขาเป็นอย่างมาก

© 2017 Office of the Council of State.