BANNER

เสรีภาพทางสื่อของอาเซียนถูกจัดให้อยู่ในอันดับใด


 ข่าวต่างประเทศ      28 Apr 2017

  



 
ดัชนีชี้วัดเสรีภาพสื่อโลกโดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ย่ำแย่อีกครั้งจากทั้งหมด ๑๘๐ อันดับ และในบรรดาประเทศทั้งหมดที่ได้ทำการสำรวจนั้นประเทศนอร์เวย์ได้ถูกจัดเป็นอันดับที่ ๑ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางสื่อที่ดีที่สุด และประเทศเกาหลีเหนือได้ถูกจัดเป็นอันดับสุดท้ายเนื่องจากมีการจำกัดเสรีภาพทางสื่อที่มากที่สุด

 ประเทศไทยตกลงมา ๖ อันดับเป็นอันดับที่ ๑๔๒ จากที่ไทยเคยอยู่ในลำดับที่ ๑๓๖ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๙ สืบเนื่องจากอุสาหกรรมสื่ออยู่ภายใต้การครอบงำของของรัฐบาลทหาร เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชาซึ่งเสรีภาพของสื่อได้ลดลงจากปีที่ผ่านมา ๔ อันดับจากอันดับ ๑๒๘ มาอยู่ที่อันดับ ๑๓๒ โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้อ้างถึงการที่นักวิจารณ์ทางการเมือง นาย Kem Lay ถูกยิงเสียชีวิตในเวลากลางวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ผ่านมาว่า เป็นการพยายามที่จะปิดปากสื่อและการวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากนี้ยังได้นำกฎหมายอาญาเรื่องการหมิ่นประมาทมาใช้ปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

“ข่าวร้ายคือเสรีภาพทางสื่ออยู่ในสถานะที่แย่ที่สุดเท่าที่เราเคยพบมา” องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าวในรายงานประจำปี “เมื่อผู้นำเผด็จการที่เข้มแข็งได้ชัยชนะ เสรีภาพทางสื่อก็ได้เสื่อมถอยลง”

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดัชนีความเป็นประชาธิปไตยได้เสื่อมถอยลงเป็นลำดับมากกว่าทุกครั้ง และดูเหมือนว่าไม่มีการตรวจสอบถึงการเสื่อมถอยนั้น” องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนกล่าว “ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เราเข้าสู่ยุคของความจริงมาทีหลัง (Post-truth) การโฆษณาชวนเชื่อ และการกดขี่ทางอิสรภาพ ดัชนีชี้วัดเสรีภาพสื่อโลกเน้นให้เห็นถึงจุดสำคัญที่เป็นอันตรายของสถานะของเสรีภาพทางสื่อ"

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีการจำกัดเสรีภาพของสื่อเป็นอย่างมาก ประเทศอินโดนีเซียได้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ ๑๒๔ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยประเทศฟิลิปปินส์ในอันดับที่ ๑๒๗ ทั้งสองประเทศมีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาที่เคยปกครองโดยทหารแต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนการปกครองโดยการนำของพรรคฝ่ายค้านในอดีตอยู่ในอันดับที่ ๑๓๑ หนึ่งอันดับก่อนประเทศกัมพูชา ประเทศไทยได้ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ ๑๔๒ ตามมาด้วยประเทศมาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ ๑๔๔ ประเทศสิงคโปร์ในอันดับที่ ๑๕๑ ประเทศบรูไนในอันดับที่ ๑๕๖ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอันดับที่ ๑๗๐ และประเทศเวียดนามในอันดับที่ ๑๗๕ ทั้งนี้  สื่อได้จัดประเทศดังกล่าวอยู่ในกลุ่มประเทศสีแดงซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่สื่อตกอยู่ใน "สถานะที่ยากลำบาก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและประเทศกัมพูชา

หัวหน้าองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในเอเชีย-แปซิฟิก นาย Benjamin Ismaïl ได้กล่าวว่า การโจมตีสื่อที่เพิ่มมากขึ้นนั้นได้ทำให้เกิดสภาพการข่มขู่และความรุนแรงที่นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อได้ เขาได้กล่าวอีกว่า “รัฐบาลอาเซียนมีความสับสนระหว่างการปกครองโดยหลักนิติธรรมกับการปกครอง รัฐบาลที่มีแนวโน้มเผด็จการหวังว่าจะทำให้ความพยายามของตนที่จะปิดปากสื่อและการวิจารณ์รัฐบาลนั้นชอบธรรมได้ โดยเพิ่มการใช้กฎหมายที่รุนแรงเกินเหตุ (Draconian Laws)”

ข่าวจาก: The Diplomat http://thediplomat.com/2017/04/where-is-asean-on-press-freedom/

 

© 2017 Office of the Council of State.