BANNER

อูเบอร์บุกตลาดอาเซียน


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน      15 Mar 2017

  


หลังจากความพยายามที่ล้มเหลวในการเจาะตลาดประเทศจีน อูเบอร์จึงหันมามองเป้าหมายใหม่อย่างอาเซียน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน อีกทั้งเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงเติบโต รวมถึงการขยายตัวของผู้ใช้สมาร์ทโฟนอีกด้วย จึงเกิดคำถามว่า อูเบอร์จะสามารถแย่งชิงความเป็นผู้นำในตลาดที่มีการแข่งขันสูงนี้ได้หรือไม่?
การให้บริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเลี่ยงไม่ได้ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างมาก  ในบทความนี้จึงจะพูดถึงเทคโนโลยีด้านการคมนาคมซึ่งกำลังเป็นที่จับตามอง นั่นคือการเรียกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นนั่นเอง
การเรียกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น (Application) นั้นจำเป็นจะต้องใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพื่อดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น จากนั้นจึงทำการลงทะเบียน ยืนยันตัวตน และกรอกข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าบริการ การได้รับเงินคืน เป็นต้น เมื่อผู้ใช้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นและทำการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะสามารถเรียกรถยนต์ที่ให้บริการอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อโดยสารไปยังจุดหมายปลายทางได้ ซึ่งมีความสะดวกสบาย แน่นอน และปลอดภัย
ผู้ให้บริการต่างๆในอาเซียน
ประเทศสมาชิกอาเซียนมีผู้ให้บริการรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นลักษณะนี้อยู่หลายราย นอกเหนือจากอูเบอร์และแกร้บ เช่น Go-Jek และ Blue Bird ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีรถยนต์กว่า 23,000 คัน โดย Go-Jek ได้ระดมทุนกว่า 550 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Go-Pay เพื่อต่อกรกับอูเบอร์และแกร้บ ซึ่งในขณะเดียวกัน แกร้บได้ระดมทุนพัฒนาแอพพลิเคชั่นของตน รวมถึงฝ่ายวิจัยและพัฒนาของตน กว่า 700 ล้าน เหรียญสหรัฐเช่นกัน หรือ Hailo ในประเทศสิงคโปร์ ส่วนกัมพูชานั้นมีคู่แข่งหนาแน่น เนื่องจากมีผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นอยู่หลายราย เช่น Exit Taxi Cambodia, Choice Taxi, iTsumo และ PassApp ซึ่งได้เปิดตัวในตลาดในประเทศกัมพูชาอยู่ก่อนแล้ว แม้แต่ประเทศไทยเอง ก็ได้เปิดตัว AllThaiTaxi ไปในปีที่ผ่านมาเช่นกัน
ในปัจจุบัน แกร้บเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดใน 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้อูเบอร์ได้เผยว่า บริษัททำกำไรจากประเทศสิงคโปร์และฟิลิปปินส์  ในขณะที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งอูเบอร์เปิดตลาดไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 กลับไม่ได้รับผลตอบรับเท่าที่ควร เนื่องจากบรรดารถรับจ้างท้องถิ่นไม่ต้องการที่จะร่วมงานและสละส่วนแบ่ง 15% ให้กับอูเบอร์         
 
อูเบอร์และแกร๊บ
แม้ว่าอูเบอร์จะเป็นผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้มากที่สุดใน 108 ประเทศจาก 171 ประเทศทั่วโลกก็ตาม แต่คู่แข่งรายสำคัญที่สุดของอูเบอร์คือแกร้บ ซึ่งมีศูนย์หลักอยู่ที่สิงคโปร์ แกร้บมีข้อได้เปรียบอยู่บ้างในการจำกัดวงให้บริการ และมีระบบธุรกรรมทางการเงินสำหรับจัดการค่าโดยสารเป็นของตัวเอง
ความแตกต่าง
Uber เป็นบริษัทอเมริกันที่ให้บริการจองรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งเปิดตัวในปี พ.ศ. 2552 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2557 การให้บริการของอูเบอร์นั้นจะให้บริการโดยรถยนต์ส่วนบุคคล โดยมีเจ้าของรถเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว (Partner) แม้ว่าศาลแรงงานของประเทศอังกฤษจะเคยตัดสินไว้ว่าผู้ขับรถยนต์ภายใต้แอพพลิเคชั่นอูเบอร์จะเป็นลูกจ้างของบริษัทก็ตาม[1]
ส่วน Grab เริ่มต้นขึ้นในประเทศมาเลเซียด้วยชื่อ MyTeksi และให้บริการโดยรถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะ (Taxi) ผู้ใช้สามารถเลือกใช้บริการ GrabTaxi หรือ GrabCar ได้ตามสะดวก ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมแตกต่างกันออกไป
สถานการณ์อูเบอร์และแกร๊บในประเทศไทย
เพื่อเพิ่มรายได้และการระดมทุนมาพัฒนาเทคโนโลยี อูเบอร์ในประเทศไทยได้เปิดตัว UberEats บริการส่งอาหารซึ่งร่วมมือกับร้านอาหารกว่า 100 แห่ง อีกทั้งยังร่วมลงทุนในบริการอื่นๆเช่น UberPool ซึ่งเป็นบริการแชร์รถโดยสารในเส้นทางเดียวกัน และยังมี UberMoto ซึ่งเป็นบริการรับส่งผู้โดยสารโดยใช้รถจักรยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งความหลากหลายนี้เองทำให้อูเบอร์สามารถต่อกรกับคู่แข่งรายอื่น และขยายขอบเขตการให้บริการของตนได้ การขยายตัวของอูเบอร์ในอาเซียนนั้นหมายถึงการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และย้ายไปยังเมืองหลวงหลักๆของอาเซียน เนื่องจากมีอัตราผู้ใช้งานโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสูง และมีความพร้อมทางด้านการจ่ายเงิน การทำธุรกรรมออนไลน์ อีกทั้งยังมีประชากรหนาแน่นอีกด้วย
นักวิเคราะห์ได้แสดงความเห็นว่า ในตลาดที่มีอัตราแข่งขันสูงอย่างอาเซียน อูเบอร์อาจเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ รวมทั้งภาระทางภาษี ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดระหว่างผู้ให้บริการรถโดยสารรายอื่นเป็นไปอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยแล้ว GrabTaxi และ AllThaiTaxi เท่านั้นที่เป็นบริการเรียกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วน GrabCar และ Uber นั้นผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ใน 3 ประเด็นได้แก่ 1.ใช้รถยนต์ผิดประเภท (ทั้งป้ายเขียวและป้ายดำ) 2. ค่าโดยสารไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และ 3. ผู้ขับไม่มีใบขับขี่สาธารณะ[2]
ทางออกที่เหมาะสม
แม้ว่าการให้บริการลักษณะดังกล่าวจะทำให้การเดินทางสะดวกสบายเพียงใด แต่เมื่อเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้วนั้น จึงไม่ควรสนับสนุน แต่หากจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนแล้ว เห็นว่าประเด็นที่ควรปรับปรุงมีดังนี้ คือ 1.มาตรฐานผู้ขับ 2.มาตรฐานรถยนต์ 3.การมีประกันคุ้มครองผู้โดยสาร 4.การเสียภาษีที่ถูกต้องโดยผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการให้บริการรถโดยสารสาธารณะรายอื่น ๆ ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ก่อให้เกิดผลดีต่อผู้รับบริการเองในระยะยาว
 
[1] https://www.judiciary.gov.uk/wp-content/uploads/2016/10/aslam-and-farrar-v-uber-reasons-20161028.pdf
[2] ข่าวกรมการขนส่งทางบก ข่าวที่ 35/28 พฤศจิกายน พ.ศ.2557

© 2017 Office of the Council of State.